 |
10.1.1 สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงมีแผนการในการรวบรวมชุมนุมต่างๆ อย่างไร ?
ในชั้นต้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงดำริ จะใช้วิธียกกำลังเข้าโจมตีกลุ่มที่มีความเข้มแข็งเสียก่อน โดยทรงหวังว่า ถ้าทรงสามารถเอาชนะกลุ่มที่มีความเข้มแข็งได้ กลุ่มอื่นๆ ซึ่งอ่อนแอกว่าคงจะยำเกรงและยอมรับอำนาจของพระองค์โดยไม่ต้องใช้กำลัง แต่การณ์ไม่เป็นไปดังที่คาดหวังไว้ ดังนั้นต่อมาพระองค์จึงทรงเปลี่ยนพระบรมราโชบาย กลับไปรวบรวมกลุ่มที่มีกำลังอ่อนแอก่อน เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้กับกำลังของพระองค์ แล้วจึงหวนกลับไปปราบกลุ่มที่เข้มแข็ง
ขั้นตอนในการรวบรวม
ขั้นที่ 1 ยกกำลังไปปราบ กลุ่มเจ้าพระยาพิษณุโลก (เรือง) ในปี พ.ศ. 2311 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงยกกองทัพไปหมายจะปราบกลุ่มเจ้าพระยาพิษณุโลก แต่เมื่อทรงยกไปถึงตำบลเกยไชย (แขวงนครสวรรค์) กำลังของพระองค์ก็ได้ปะทะกับกำลังของกลุ่มเจ้าพระยาพิษณุโลก สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ถูกปืนที่พระชงฆ์เบื้องซ้าย จึงโปรดฯให้ถอยทัพกลับ เจ้าพระยาพิษณุโลกจึงตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดิน แต่อยู่ได้ประมาณ 7 วัน เกิดเป็นฝีขึ้นในลำคอ (ประเสริฐ ณ นคร, 2534 : 22 ) ก็ถึงพิราลัย พระอินทอากรผู้น้องได้ครองเมืองต่อมา แต่ไม่นานเจ้าพระฝางได้ยกกองทัพลงมาตี และพระอินทอากรถูกประหารชีวิตที่เมืองพิษณุโลก (สาระน่ารู้กรุงธนบุรี , 2543 : 141)
ขั้นที่ 2 ยกไปปราบ ชุมนุมเจ้าพิมาย ในปี พ.ศ. 2311 เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงตั้งราชธานีมั่นคงแล้ว มีพระราชประสงค์จะปราบปรามก๊กเจ้าพิมาย จึงทรงนำทัพเข้าตีเมืองนครราชสีมาก่อนและทรงได้ชัยชนะ เจ้าพิมายเมื่อทราบข่าวก็ไม่คิดสู้รบ พาครอบครัวและพรรค
พวกหนีจากเมืองพิมายจะขึ้นไปในแดนกรุงศรีสัตนาคนหุต แต่ขุนชนะกรมการเมืองนครราชสีมาจับพระองค์ได้ นำมาถวายสมเด็จพระเจ้าตากสิน เจ้าพิมาย หรือกรมหมื่นเทพพิพิธจึงถูกประหารชีวิต ส่วนขุนชนะได้รับความชอบเป็นพระยากำแหงสงครามครองเมืองนครราชสีมาต่อไป (สาระน่ารู้กรุงธนบุรี , 2543 : 132-133) |
|
|