 |
ในคราวสงครามเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2310 กองทัพใหญ่ของไทยก็ยกลงมาสกัดทัพมังมหานรธา ที่ตีตะลุยเข้ามาทางใต้ที่เมืองราชบุรี เมื่อพม่าตีราชบุรีได้ ก็ใช้เมืองนี้เป็นฐานทัพชุมนุมพลเพื่อแบ่งกำลังเข้าตีกรุงศรีอยุธยาเป็น 2 ทาง
กำลังส่วนหนึ่งตีปิดสกัดหัวเมืองทางด้านตะวันตก มีเมืองกาญจนบุรี และสุพรรณบุรีเป็นเป้าหมาย
กำลังอีกส่วนหนึ่งเข้าปิดสกัดหัวเมืองตอนใต้กรุงศรีอยุธยา โดยมีเมืองธนบุรีและนนทบุรีเป็นเป้ายึดครอง
ความสำคัญของเมืองราชบุรีในฐานะเมืองยุทธศาสตร์ทางทหาร ทวีสูงขึ้นในยุคธนบุรี ถึงแม้ยุคสมัยธนบุรีนี้พม่าจะเปลี่ยนมาใช้เส้นด่านพระเจดีย์สามองค์เป็นเส้นทางเดินทัพก็ตาม ความสำคัญที่ทวีสูงขึ้นเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงภายในทางฝ่ายไทย รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในสมัยกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองหลวงของราชอาณาจักรย้ายมาอยู่ที่กรุงธนบุรีและกรุงเทพพระมหานครที่อยู่ใต้กรุงศรีอยุธยาลงมา ทำให้เส้นทางเดินทัพมีอันที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไป นั่นก็คือในการเข้าตีกรุงเทพพระมหานคร ( หรือกรุงธนบุรี ) นั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องเดินทัพผ่านเมืองกาญจนบุรีไปพนมทวน สุพรรณบุรี และอ่างทอง หากผ่านกาญจนบุรีลงมาราชบุรี และนครปฐม ธนบุรีเลย ในการนี้การเดินทัพจึงมาได้ทั้งทางน้ำและทางบก โดยเฉพาะทางน้ำนั้นเดินทางตามลำน้ำแควน้อยได้โดยตลอด จนถึงปากแพรกแล้วล่องมายังราชบุรีตามลำน้ำแม่กลองได้
จะเห็นได้ว่า ยุทธศาสตร์การรับศึกพม่าในสมัยธนบุรีนั้นแปรเปลี่ยนไปจากสมัยอยุธยาตอนปลาย ด้วยสงครามจะ แพ้ - ชนะ นั้น ไม่ได้ตัดสินกันที่ยุทธภูมิที่มีพระนครหลวงเป็นฐานประจัญบาน แต่อยู่ที่ชัยชนะอันได้แก่กันในพื้นที่หรือจุดยุทธศาสตร์ตามหัวเมืองสำคัญ
ในกรณีศึกบางแก้วปัจจัยสำคัญที่จะตัดสินผล แพ้ - ชนะ อยู่ที่การเข้ายึดครองและรักษาเมืองราชบุรีของแม่ทัพทั้งสองฝ่าย จึงไม่เป็นเรื่องแปลกอะไรที่พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงจัดปฏิบัติการทางทหารอย่างรวดเร็วและเฉียบขาด เพื่อจะยึดเอาเมืองราชบุรีเป็นฐานปฏิบัติการรบ
หลักฐานในพงศาวดารระบุว่า ทันทีที่ทรงทราบว่ามีทัพพม่ายกมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ก็ทรงโปรดให้ พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าจุ้ย กับพระยาธิเบศร์บดีเป็นแม่ทัพ ถือพล 3,000 แยกไปตั้งค่ายรับ ณ เมืองราชบุรี และโปรดให้เจ้ารามลักษณ์หลานเธอถือพล 1,000 ยกหนุนออกไปอีก |
|
|