การที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงมอบหมายงานดังกล่าวให้ข้าราชบริพารที่อายุน้อยเช่นนั้น น่าจะเป็นด้วยทรงตระหนักว่านายสินได้สนใจศึกษาและ มีความรู้เป็นอันดีในด้านกฎหมายและระเบียบราชการ ทั้งนี้นายสินระหว่างที่อยู่ในบรรพชิต 3 ปีนั้นคงมิได้ศึกษาแต่ทางธรรม แต่คงได้ศึกษาหาความรู้ ( อาจจะทั้งการอ่าน การเขียนและทั้งศึกษาจากภิกษุอาวุโสที่เคยรับราชการมาก่อน)

ผลงานด้านกฎหมายของท่านเริ่มเป็นที่ประจักษ์ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ เมื่อโปรดฯ ให้นายสินขึ้นไปชำระความที่หัวเมืองฝ่ายเหนือเมื่อกลับมากราบบังคมทูลรายงานก็เป็นที่พอพระราชหฤทัย ทรงตั้งเป็นหลวงยกกระบัตร ที่เมืองตาก ช่วยราชการพระยาตาก


แผนที่แสดงที่ตั้งจังหวัดตาก
(ภาพจากหนังสือแผนที่ประเทศไทย)

สมภพ จันทรประภา กล่าวไว้ในเรื่อง “ หลวงยุกกระบัตรราชบุรี ” มีเรื่องเกี่ยวมาถึงหน้าที่ราชการของพระองค์ (ในที่นี้หมายถึงรัชกาลที่ 1 ซึ่งเคยเป็นหลวงยกกระบัตรราชบุรี) ว่า เมื่อทรงเป็นมหาดเล็ก ทำความดีความชอบจนได้เลื่อนขั้นเป็นนายเวรขวาที่นายฤทธิภักดี แล้วจึงได้เลื่อนบรรดาศักดิ์สูงขึ้นเป็นหลวงมีราชทินนามว่า หลวงยุกกระบัตร พร้อมกันนี้ได้นำคำอธิบายเกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ของยุกกระบัตรที่ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนไว้ในเรื่อง “ ฉากญี่ปุ่น ” มาประกอบว่า

“ เปิดปทานุกรมดูก็พบว่า ยกกระบัตรหรือยุกกระบัตรคือ ตำแหน่งข้าราชการครั้งโบราณสังกัดกระทรวงวัง มีหน้าที่ออกไปประจำอยู่ตามหัวเมืองเพื่อสอดส่องอรรถคดี, ตำแหน่งเจ้าพนักงานเกี่ยวกับอรรถคดี ตรงกับตำแหน่งอัยการบัดนี้ ตรงกับหัวหน้าฝ่ายธุรการของศาล ตรงกับจ่าศาลในบัดนี้, เจ้าหน้าที่ในการจัดหาเครื่องใช้ของทหาร ซึ่งดูเล็กน้อยเต็มที ” จากหนึ่งฉากญี่ปุ่นของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ค่อยได้ความเป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้นเพราะท่านว่า “ ตำแหน่งยกกระบัตรของไทยมีหน้าที่สอดส่องดูแลความประพฤติ ของขุนนางตามหัวเมืองต่างๆ ว่าปฏิบัติราชการดีอยู่และยังมีความซื่อสัตย์จงรักภักดีอยู่หรือไม่เพียงใด ”