วีณา โรจนราธา (2540 : 86) ได้แสดงข้อคิดเห็นดังนี้
กรณีวันพระราชสมภพ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เสนอไว้ในหนังสือการเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี โดยใช้การคำนวณย้อนหลังจากวันเสด็จสวรรคตตามที่บันทึกไว้ในจดหมายเหตุโหรว่า เสด็จสวรรคตเมื่อพระชนมพรรษาได้ 48 ปี 15 วัน และตามหลักฐานของชาวฝรั่งเศสบันทึกว่า ทรงถูกประหารชีวิตในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2325 วันพระราชสมภพคือวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2277 แต่หากถือตามหลักฐานฝ่ายไทยซึ่งบันทึกว่าเสด็จสวรรคตในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2356 วันพระราชสมภพก็คือ วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2277 ประเด็นนี้สอดคล้องกับที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานข้อมูลแก่หมอสมิธ เพื่อเขียนประวัติศาสตร์ไทยว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ พระราชสมภพในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2277
สุจิตต์ วงษ์เทศ (2528 : 64 คัดลอกมาจากบทนิพนธ์บางเรื่องของหลวงพิสูจน์พาณิชยลักษณ์ (หม่อมหลวงเพิ่มยศ อิศรเสนา ) ว่า หนังสือเรื่องสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชของประยูร พิศนาคะ ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสิน สมภพเมื่อ เวลา ห้าโมงเช้า วันอังคาร เดือนเจ็ด ปีขาล จุลศักราช 1096 (พุทธศักราช 2277) แต่ไม่บอกว่า เป็นวันขึ้นกี่ค่ำหรือแรมกี่ค่ำ ก็เดือนเจ็ดปีนั้น มีวันอังคารอยู่สี่วันคือ วันขึ้น 7 ค่ำ ขึ้น 14 ค่ำ วันแรม 6 ค่ำ แรม 13 ค่ำ ซึ่งตรงกับ วันอังคารที่ 8 ที่ 15 ที่ 22 ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2277 (ค.ศ.1734) ถ้าหนังสือเล่มนี้ถูกต้องวันพระราชสมภพ ก็ต้องเป็นวันใดวันหนึ่งใน 4 วันนี้ แต่ก็จะเอาเป็นที่ยุติไม่เ ขอให้ดูจดหมายเหตุโหรประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 8
ในปูมจดหมายนั้นว่า ปีขาล จุลศักราช 1144 ณ วันพุธ แรม 13 ค่ำ เดือนห้า เจ้าตากดับขันธ์ ชนมายุ 48 ปี กับ 15 วัน เมื่อทดย้อนหลังจากวันพุธ แรม 13 ค่ำ เดือนห้าย้อนไป 15 วัน เป็นวันขึ้น 13 ค่ำ เดือนห้า และย้อนหลังไปอีก48 ปี ตกเป็นวันราชสมภพ วันศุกร์ ขึ้น 13 ค่ำ เดือนห้า ปีขาล จุลศักราช 1096 ซึ่งตรงกับวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2277 ในปูมโหรนี้ว่า ณ วันศุกร์ แรม 8 ค่ำ เดือนห้า (5 เมษายน 2325) พระพุทธยอดฟ้าได้ราชสมบัติปราดาภิเษก ณ วันพุธ แรม 13 ค่ำ เดือนห้า (10 เมษายน 2325) เจ้าตากดับขันธ์
ในพระราชพงศาวดารว่า สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกลับถึงกรุงธนบุรีในวันเสาร์ แรม 9 ค่ำ เดือนห้า (6 เมษายน) และพระเจ้าตากสินต้องโทษประหารในวันเดียวกันนั้นเอง
|