1.5 พระนามของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่เรียกขานกันมีอะไรบ้าง
พระนามที่เรียกขานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีอยู่มากมายแต่ละคำล้วนแสดงความสัมพันธ์และสะท้อนถึงความรู้สึกของผู้เรียกขานที่มีต่อพระองค์ท่าน ( สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ของมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม , 2543 : 18-22) ที่สำคัญเช่น

1. กันเอินซื่อ ปรากฏในจดหมายเหตุราชวงศ์ชิง จนถึงเดือน 8 ของปีที่ 37 แห่งรัชกาลเฉียนหลง (พ.ศ. 2315) คำนี้คงจะหมายถึงพระยากำแพงเพชร
2. ขุนหลวงตาก คำเรียกขานของคนในสมัยรัตนโกสินทร์
3. จีนแจ้ง ปรากฏในหลักฐานไทย ซึ่งเขียนขึ้นโดยคนที่มีชีวิตอยู่ในสมัยกรุงธนบุรี
4. เจิ้งกั่วเอิง ปรากฏในจดหมายเหตุดานัง ( เอกสารเวียดนาม ) อ่านออกเสียงเป็นภาษาจีนกลาง แต่สุรีย์ ภูมิภมร (2539 : 78 ) กล่าวว่า คนญวนจะเรียกท่านว่า จิ้นก๊กฮวย ส่วนคนกวางตุ้งเรียกท่านว่า เจิ้งกว่ออิง
5.
เจิ้งกว๋ออิง ปรากฏในหลักฐานจีนสำเนียงจีนกลาง แปลว่า เจิ้งวีรบุรุษของประเทศเป็นคำเรียก ในหนังสือของพระยาราชาเศรษฐี ( ชาวจีนที่ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองพุธไธมาศ ที่มีไปถึงผู้ว่าราชการมณฑลกวางตุ้ง เพื่อแจ้งข่าวเกี่ยวกับเมืองไทยหลังกรุงแตก )
6. เจิ้งเจา หรือ เจิ้นเจา ปรากฏในเอกสารราชการของราชสำนักชิง เจิ้งเจา แปลว่า กษัตริย์เจิ้ง คนจีนในประเทศไทยเรียกขานพระนามนี้มาช้านานแล้ว
7. เจ้ากรุงธน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชกาลที่ 5) ทรงใช้
8. เจ้าตากสิน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชกาลที่ 4) ทรงใช้
9. เจ้าเมืองตาก คำเรียกเมื่อทรงดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองตาก
10. เจ้าเมืองระแหง ตากและระแหงเป็นเมืองคู่แฝด
11. ตากสิน ปรากฏในคำให้การชาวกรุงเก่า บ้างกล่าวว่าทรงเป็นเจ้าเมืองตาก บ้างกล่าวว่าเป็นเจ้าเมืองระแหง
12. แต้เจียว ปรากฏในพระราชสาส์นถวายพระเจ้ากรุงจีน
13. แต้สิน ปรากฏในเอกสารของต้วนลี่เซิง นักวิชาการชาวจีนเมื่อกล่าวถึงประวัติพระบิดา
14. แต้สินตาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชกาลที่ 4) ทรงออกพระนามที่เรียกขานกัน ในหมู่ชาวจีนเป็นสำนวนไทย
15. เตียซินตัด หรือ เตียซินตวด ปรากฏในข้อมูลที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทาน หมอสมิธ เกี่ยวกับการเรียกขานพระนามในหมู่ชาวจีน เตีย คือ แซ่แต้ ซิน คือ สิน ตัด หรือ ตวด คือ เมืองตาก