เมื่อทรงสั่งสมกำลังที่เมืองจันทบุรีพร้อมแล้ว ทรงยาตราทัพไทยจีนเข้าตีพม่าที่อยู่ตามจุดต่างๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะค่ายใหญ่ที่โพธิ์สามต้น ทหารจีนถูกส่งไปเป็นกองหน้า รบกันแต่เช้าจนเที่ยง จึงตีค่ายพม่าได้ หลังจากนั้นเสด็จนำทัพไทยจีนไปปราบพวกที่ตั้งตัวเป็นใหญ่ตามหัวเมืองต่างๆ จนราบคาบ (สังข์ พัธโนทัย, ม.ป.ป. : 143)

1.4 พระมารดาชื่ออะไร ?
พระมารดา เป็นคนไทย ชื่อนางนกเอี้ยง ซึ่งมีผู้สันนิษฐานว่าอาจเป็นธิดาขุนนางครั้งแผ่นดิน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หรือเป็นธิดาของเจ้าเมืองเพชรบุรี ( สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ของมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม , 2543 : 13)
ดร.สุรีย์ ภูมิภมร (2539 : 76) กล่าวว่า มารดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นผู้ดีอยู่บ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

ทวน บุณยนิยม (2513 : 4) เล่าว่า “ ส่วนแม่นางนกเอี้ยงนั้นเป็นธิดาของขุนนางผู้สูงศักดิ์ท่านหนึ่ง รับราชการอยู่ในพระราชสำนักสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ท่านบิดาได้นำธิดาของท่านไปถวายตัวเป็นข้าหลวงรับใช้ใกล้ชิดสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แม่นางนกเอี้ยงเป็นกุลสตรีที่มีรูปงามตามแบบชาววัง ”

ชูสิริ จารมรมาน (2527 : 65) กล่าวถึงพระมารดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ว่า “… มักจะกล่าวว่าเป็นกุลสตรีไทย ชาวกรุงศรีอยุธยา ( ซึ่งเคยมีนักประพันธ์ยุคปัจจุบันนำไปกล่าวถึงว่ามีอายุรุ่นสาวขึ้น ในสมัยที่เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ยังทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่ และนางเคยอยู่ในวังของเจ้านายพระองค์นั้น )”

วรมัย กบิลสิงห์ (2540 : 7) เขียนไว้ว่า นางนกเอี้ยง เป็นบุตรท่านผลึก และท่านทองจีบ แต่ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ฉบับตุรแปง ซึ่งพิมพ์ที่ปารีส เมื่อ พ.ศ. 2314 ต้นสมัยกรุงธนบุรี มีกล่าวถึง พระมารดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ว่า “ ประชาชนมุ่งมั่นไปที่พระยาตาก ขุนนางสยามซึ่งมารดาเป็นชาวจีน ท่านเป็นทั้งนักการเมือง และนักรบ ท่านปูทางที่จะไปสู่ความยิ่งใหญ่ของท่าน... ” (เสทื้อน ศุภโสภณ, 2527 : 34) แต่วีณา โรจนราธา (2540 : 86) ได้เขียนไว้ว่า พระบิดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ได้สมรสกับหญิงไทยชื่อ ลั่วยั้ง หรือนางนกยาง ซึ่งนิธิ เอียวศรีวงศ์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า คงเลือนมาจากชื่อไทยว่า นางนกเอี้ยง

เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสวยราชย์แล้ว ได้สถาปนาพระมารดาเป็นกรมพระเทพามาตย์ ทรงพระประชวรด้วยยอดอัคเนสัน เสด็จทิวงคตเมื่อ พ.ศ. 2317 ( สังข์ พัธโนทัย, ม.ป.ป. : 315)