พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวออกพระนามสมเด็จพระเจ้าตากสิน ซึ่งเป็นที่เรียกขานกันในหมู่ชาวจีนตรงกับเสียงภาษาไทยว่า “ แต้สินตาก ” จึงสรุปได้ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงใช้แซ่นี้ และพระนามเดิมนั้นหลักฐานส่วนใหญ่ก็ออกพระนามตรงกันว่าสิน

3. ส่วนเรื่องเชื้อสายจีนของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ นั้น หลักฐานส่วนใหญ่ว่าทรงเป็นแต้จิ๋ว อย่างไรก็ตามพงศาวดารชิงให้ข้อมูลต่างออกไปว่า ทรงมีเชื้อสายจีนกวางตุ้ง แต่พระราชพงศาวดารเหนือเลขที่ ๑ / ไฆ ให้ข้อมูลว่า ทรงมีเชื้อสายพระเจ้ามักกะโทกษัตริย์มอญ ( วีณา โรจน ราธา , 2540 : 86)

หลักฐานที่ว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีเชื้อจีนมีดังนี้ จากในพระราชพงศาวดารของไทยคือในยามวิบัติของกรุงศรีอยุธยานั้น มีคนจีนจำนวนนับพันได้เข้าเป็นทหารในบังคับบัญชาของพระยากำแพงเพชร (คือพระเจ้าตากสิน) ต่อสู้กับพม่าอย่างทรหด เมื่อสู้ไม่ไหวพระยากำแพง เพชร ก็นำทหารไทยจีนแหวกวงล้อมของข้าศึกออกไปตั้งตัวเพื่อกู้ชาติพอไปถึงเมืองระยอง บรรดาไทยจีนซึ่งคุมกำลังกันอยู่ตามบ้านตามป่ารู้ข่าวก็พากันเข้ามาสวามิภักดิ์ ขอร่วมกำลังในการกู้ชาติด้วย นี่ย่อมเป็นประจักษ์พยานว่าถ้าหากไม่ใช่พระยากำแพงเพชร หรือพระเจ้าตากสินแล้ว คงจะไม่สามารถรวมกำลังไทยจีนได้อย่างนี้แน่นอน

พระเจ้าตากสินทรงดำเนินนโยบายอย่างหนึ่งซึ่งผนึกกำลังชาวจีนได้อย่างน่าสรรเสริญนั่นคือ เมื่อมีคนจีนเข้ามาช่วยกู้ชาติด้วยมากๆ พระองค์ทรงให้ยศฐาบรรดาศักดิ์แก่คนจีนเหล่านั้นเป็นไทยหมด เท่าที่ปรากฏชื่อในพงศาวดารคือ หลวงพิพิธ หลวงพิชัย หลวงพรหม ขุนจ่าเมืองเสือร้าย และหมื่นท่อง ท่านทรงตั้งให้บังคับบัญชาทหารจีนบรรดาที่ถือง้าวเป็นอาวุธกองหนึ่ง

ในขณะที่ประทับอยู่ ณ เมืองระยอง มีฝ่ายตรงข้ามยกกำลังเข้าล้อม กองทหารจีนได้ออกสู้รบถึงตะลุมบอน และฝ่ายตรงกันข้ามแตกหนีไป กองทหารจีนไล่ติดตามไปหกสิบเจ็ดสิบเส้น (ประมาณ 2.8 กิโลเมตร) พระเจ้าตากสินฯ จึงลั่นฆ้องชัยเรียกทัพกลับ

ในการเข้าตีเมืองจันทบุรีซึ่งเป็นที่สำคัญ พระราชพงศาวดารของเราระบุว่า มีทหารจีนเข้าร่วมโจมตีด้วย และประสบชัยชนะ