1.3 พระบิดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นใคร ?

1. พระบิดา มีหลายพระนาม ดังนี้
ในหนังสือ “ อภินิหารบรรพบุรุษ ” อันเป็นสมุดไทย กระดาษข่อยขาว ตัวหมึก รวม 2 เล่ม (เป็นสมบัติของหม่อมเจ้าปิยภักดีนาถ สุประดิษฐ์ ) กล่าวว่า พระบิดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ชื่อ ไหฮอง มีบรรดาศักดิ์เป็น ขุนพัฒน์ ( นายอากรบ่อนเบี้ย ) ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 ( พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ) เป็นเศรษฐีมีทรัพย์สมบัติบริบูรณ์ กอปรด้วยทาสชายหญิง ได้ไปพึ่งบารมีท่านเจ้าพระยาจักรีสมุหนายก ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้กำแพงพระมหานครศรีอยุธยา คำว่า ‘ ฮอง ' หรือ ‘ ฮง ' เป็นภาษาแต้จิ๋ว ส่วนภาษาปักกิ่งอ่านว่า ‘ ฟง ' หรือ ‘ เฟิง '

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงอธิบายไว้ในหนังสือคืนถิ่นจีนใหญ่ (2541 : 6) ดังนี้ “ ... คำว่า ไหฮอง เป็นภาษาจีนกลางอ่านว่า ‘ ไห่เฟิง ' เป็นตำบลอยู่ทางใต้ของมณฑลกวางตุ้ง ครึ่งทางไปทางเท่งไฮ้ (ชื่ออำเภอๆ หนึ่ง) ไปเสิ่นเจิ้น ที่เริ่มกล่าวสมเด็จพระเจ้าตากสินเป็นคนเท่งไฮ้ นั้นมาจากหนังสือของ G. William Skinner เรื่อง Chinese Society in Thailand (New York : Cornell University Press, 1975) ซึ่งตรงกับพระราชพงศาวดารจีนราชวงศ์เช็ง แผ่นดินพระเจ้าเขียนหลง ( เคี่ยนหลง ) อาลักษณ์จีนได้บันทึกพระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ไว้ว่า “ บิดาเจิ้งเจาเป็น ชาวมณฑลกวางตุ้ง ไปทำมาค้าขายอยู่ที่เสียมล่อก๊ก และเกิดเจิ้งเจาที่นั่น เมื่อเจิ้งเจาเติบใหญ่ เป็นผู้มีความสามารถได้รับราชการ อยู่ในเสียมล่อก๊ก เมื่อเจิ้งเจารบชนะพม่าแล้ว ราษฎรทั่วประเทศยกขึ้นเป็นเจ้าครองประเทศ ”

หมายเหตุ “ เจิ้งเจา ” เป็นพระนามของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ตามสำเนียงปักกิ่งของจีน ถ้าหากเป็นสำเนียงแต้จิ๋วแล้วก็จะกลายเป็น “ แต้เจียว ”

แต่ พ.ต.ต. พิศาล เสนะเวส (2515 : 328) ได้ให้คำอธิบายว่า ไหฮอง ดังนี้ “ เป็นนามของ พระบิดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นจีน ไหหลำ แน่นอน เห็นได้จากคำว่า ‘ ไห ' ซึ่งเป็นแซ่หนึ่งของจีนไหหลำ จากการสอบถามชาวจีนเขาบอกว่า แซ่ห่าน แซ่ฮู้ แซ่ไห จีนพวกอื่นเช่น แต้จิ๋ว กวางตุ้ง ฮกเกี๋ยน อะไรๆ ก็ไม่มีทั้งนั้น มีแต่จีนไหหลำพวกเดียว อนึ่งคำว่า ‘ ไหหลำ ' เข้าใจว่าเป็นคำเพี้ยน ที่ถูกจะต้องเป็น ‘ ไหหนำ ' ซึ่งแยกศัพท์แล้ว ‘ ไห ' แปลว่า ‘ ทะเล ' ‘ หนำ ' แปลว่า ‘ ใต้ ' รวมแล้วแปลว่า ‘ ทะเลใต้ ' ถ้าคิดถึงสถานที่อาจมุ่งความว่า ‘ เกาะทะเลใต้ '”