มีผู้อ้างว่าพระบรมสาทิสลักษณ์ (ภาพเขียน) ของสมเด็จพระเจ้าตากสินที่ได้นำมาจากประเทศอิตาลีเป็นภาพจริง แล้วจัดจำหน่ายจ่ายแจกเผยแพร่ทั่วไป ภาพนี้เป็นปริศนาที่มีผู้สงสัยกันมานานว่า เป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ จริงหรือไม่ ? ปมที่มาของภาพปริศนา ความเป็นมาของ “พระบรมสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินจากประเทศอิตาลี” มีอยู่สองกระแส คือ

กระแสที่หนึ่ง
มาจากหลวงปู่โง่น โสรโย (อดีตเจ้าอาวาส อำเภอสะพานหิน วัดพระพุทธบาทเขารวก จังหวัดพิจิตร) ที่ระบุในหนังสือ “ ย้อนรอยกรรม ตำนานพระสุพรรณกัลยา ” ว่า ท่านได้เป็นผู้นำพระบรมสาทิสลักษณ์นี้มาจากประเทศอิตาลี เมื่อประมาณ 50 ปีมาแล้ว

กระแสที่สอง ได้พบข้อเขียนของหลวงพิสูจน์พาณิชยลักษณ์ (หม่อมหลวงเพิ่มยศ อิศรเสนา - บิดาของคุณพชร อิศรเสนา โดยที่บรรพบุรุษฝ่ายหญิงของสกุลอิศรเสนานี้เป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ) ซึ่งสุจิตต์ วงษ์เทศ ได้คัดมาจากหนังสืองานศพของหลวงพิสูจน์พาณิชยลักษณ์นั่นเอง และได้เอามาตีพิมพ์ไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 7 ฉบับที่ 2, ธันวาคม 2528 (หน้า 65-67) โดยท่านได้บันทึกเอาไว้ว่า

“ ...น้องชายของท่าน (ยิ่งศักดิ์ อิศรเสนา) ได้มาจากคุณหลวงท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นคนในสกุลสินธุยศ โดยคุณหลวงท่านนั้นได้บอกว่าได้พบพระบรมสาทิสลักษณ์นี้ในพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในประเทศอิตาลี และได้ขอทำสำเนาภาพมา

นอกจากนี้ในบันทึกดังกล่าวยังปรากฏอีกว่า หลังจากที่ได้รูปนี้มาแล้วหลายปี เมื่อหลวงพิสูจน์พาณิชยลักษณ์ได้ไปราชการที่ประเทศอิตาลี ในปี พ.ศ.2498 ก็ได้พยายามไปค้นหาที่มาของรูปนี้ ตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ แต่ก็ไม่ได้พบที่มาของรูปนี้เลย ดังที่บันทึกเอาไว้ตอนหนึ่งว่า
“... ก็ได้ไปบ่อยคือ ที่พิพิธภัณฑ์ของวาติกันแห่งหนึ่ง กับพิพิธภัณฑ์อีกแห่งหนึ่ง ชื่อไรก็ลืมเสียแล้ว ดร . ยักสกาฮาเน แกแนะนำว่าเป็นที่สะสมสมบัตินานาชนิดที่พวกบาทหลวงออกเผยแพร่ศาสนา แล้วเก็บเอามาจากแอฟริกาบ้าง เอเชียบ้าง แต่ไม่ได้พบพระรูปอย่างนั้น เฉพาะที่วาติกันได้ไปเที่ยวดูหลายต่อหลายครั้ง แต่ว่าเข้าของในพิพิธภัณฑ์นั้นมากมายจะดูให้ทั่วไม่ได้ โดยเฉพาะพระรูปนี้ถ้าจะมีจริงก็อาจจะเป็นเพียงรูปเล็กๆ แอบซ่อนอยู่ตรงไหนก็ได้ ... ต่อมาได้มอบรูปจำลองนั้นไว้ให้ท่านเอกอัครราชทูต ไพโรจน์ ชัยนาม เผื่อว่าท่านจะมีโอกาสเสาะหาต่อไป และมอบอีกรูปให้คุณไพรัช ทรรทรานนท์ ซึ่งประจำอยู่ที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ เพื่อให้บอกบุญแก่สามเณรคริสต์ที่เป็นคนไทยศึกษาอยู่ที่วาติกันมีอยู่หลายรูปให้ช่วยสืบเสาะดู นี่ก็หลายปีแล้วไม่มีวี่แววว่าใครจะได้พบพระรูปองค์นี้เลย และการเสาะหาต้นตอคือ คุณหลวง ผู้ที่ให้รูปยิ่งศักดิ์หรือผู้ที่ใช้ชื่อ สกุล สินธุยศ ก็ไม่ได้ผลจนบัดนี้

ครั้นวันนี้มาพลิกดูสมุดจดบันทึกพบรายชื่อข้าราชการ กระทรวงวัง ซึ่งได้คัดมาจากทำเนียบราชเสวก พิมพ์เมื่อปีพ.ศ.2461 บันทึกรายการนี้ได้จดไว้นานมาแล้วและจำไม่ได้ว่าจดด้วยความสนใจในข้อใด ในรายชื่อซึ่งมีอยู่ประมาณ 20 ชื่อ มีรายการหนึ่งว่า หลวงประสิทธิเทพ (สิทธิ สินธุยศ) ร.ส.อ. พรหมพฤติบาศ ก็สะดุดใจว่าเป็นหลวงสิทธิเทพนี้หรือมิใช่ (ที่) ให้พระรูปพระเจ้ากรุงธนบุรีแก่ยิ่งศักดิ์ ... ”

หลวงพิสูจน์พาณิชยลักษณ์ยังได้แสดงความเห็นและวิเคราะห์เกี่ยวกับพระรูป ดังนี้
“ รูปถ่ายที่อ้างว่าเป็นพระฉายาของพระเจ้ากรุงธนบุรีนี้ อาจเป็นรูปปลอมทำขึ้นโดยไม่มีต้นฉบับของจริง คิดเขียนขึ้นเองตามความนึกคิด แต่ก็แลไม่เห็นว่าจะทำเพื่อเหตุใด หรือจะเกิดประโยชน์อย่างใด สมมุติว่าพระรูปของเดิมนั้นมีจริง และรูปถ่ายนี้ถ่ายจำลองจากต้นฉบับนั้นก็มีข้อที่น่าคิด ..

1. รูปถ่ายนี้ได้ตกแต่งไว้อย่างมากจนไม่สามารถอาจทราบได้ว่าต้นฉบับจะเป็นภาพเขียนด้วยถ่านดินสอ หรือสีอย่างใด พระเกศา พระขนง แต้มเติมเห็นได้ชัด ดวงพระพักตร์ขาวผ่องไม่มีริ้วรอย

2. ดวงพระพักตร์ ที่เห็นได้ถนัดว่ามีเชื้อจีน อาจเป็นเพราะการตกแต่ง แต่ดูเป็นจีนจืดๆ ไม่มีสัญลักษณ์อย่างใด ที่แสดงความเข้มแข็ง แกร่งกล้า ซึ่งเป็นบุคลิกลักษณะที่แท้จริงของท่าน

3. พระมัสสุ ในรูปนี้ไม่มี ผิดกับพระบรมรูปที่วงเวียนใหญ่ธนบุรี ซึ่งมีพระมัสสุยาวเฟื้อม พระบรมรูปที่รัฐบาลสร้างถวายเป็นอนุสาวรีย์ที่วงเวียนใหญ่ ทำไมจึงตกแต่งให้ทรงพระมัสสุอย่างนั้น เคยเล่าให้ฟังว่า คณะกรรมการที่จัดการสร้าง เขาเห็นว่าธรรมเนียมข้างจีน แม่ทัพนายกองที่ออกรบให้ดูเหี้ยมฮึกเป็นที่เกรงขามแก่ศัตรู ขุนหลวงท่านมีเชื้อสายจีน กรรมการก็เดาว่าท่านต้องไว้หนวดอย่างจีน แล้วจัดสร้างพระบรมรูปอย่างนั้น....ถ้าหากว่าท่านจะทรงไว้พระมัสสุจริง ท่านที่เป็นทหารเอกของท่าน เช่น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เจ้าพระยาสุรสีห์ก็น่าจะสนองพระราชนิยมไว้หนวดอย่างนั้น...

4. เครื่องทรง ที่เป็นฉลองพระองค์ครุย มีตรารูปครุฑบนพระอุระ นี่เห็นได้ชัดว่าเขียนเพิ่มเติมไม่ใช่ของดั้งเดิม ด้วยยังสงสัยอยู่ว่า ม่านจะมีเครื่องใหม่นั้น รูปครุฑดูไม่มีมูลเลยทีเดียว ... ”

แต่ทั้งนี้หลวงพิสูจน์พาณิชยลักษณ์ก็ยังไม่สามารถที่จะหาข้อสรุปเกี่ยวกับพระบรมสาทิสลักษณ์นี้ได้ ทั้งที่มาและการพิสูจน์ว่าเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ จริง แล้วก็มิได้มีท่านผู้หนึ่งผู้ใดสามารถหาที่มาของภาพนี้ในอิตาลีได้ จนได้กลายเป็นปมปัญหาสืบมาจนทุกวันนี้ ...?

พิสูจน์ภาพปริศนา ...?
ข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องพระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเจ้าตากสินภาพนี้ นอกจากเรื่องที่มาของภาพดังกล่าวมาแล้ว ยังมีอีกปัญหาที่มักจะมีคนตั้งคำถามกันอยู่บ่อยๆ ว่า ใช่พระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์ท่านจริงหรือไม่ ? แต่จนแล้วจนรอดก็ยังหาคำตอบไม่ได้ จนกระทั่งวันหนึ่งผมได้มาพบหนทางสว่างในที่สุด จากการที่ได้สนทนากับพลตรีหม่อมราชวงศ์ศุภวัฒน์ เกษมศรี (หนึ่งในคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย สำนักนายกรัฐมนตรี) ซึ่งท่านได้เมตตาหยิบหนังสือเก่าอันมีอยู่มากมายในห้องทำงานของท่านมาให้ดูสองเล่ม แล้วก็บอกว่า “ ..นี่ไงล่ะ ข้อมูลเกี่ยวกับพระสังวาลที่ปรากฏในพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระเจ้ากรุงธนบุรี ...”

หนังสือดังกล่าวนี้ เล่มแรกก็คือ " พระราชบัญญัติแลคำประกาศ แสดงความแห่งเครื่องราชอิสริยยศ นพรัตนราชวราภรณ์ ช้างเผือกสยาม มงกุฎสยาม เหรียญสำหรับทหารแลช่าง " ตีพิมพ์ ณ โรงพิมพ์หลวงในพระบรมมหาราชวัง ศักราช 1235 ปีระกาเบญจศก (พ.ศ.2423 ) หน้า 2-3

ส่วนเล่มที่สองได้แก่ "เครื่องราชูปโภคและพระราชฐาน" จัดพิมพ์เนื่องในงานพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร 29 มกราคม พ.ศ.2495 ซึ่งมีข้อความที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องพระสังวาลนี้ปรากฏอยู่ในเรื่อง “เครื่องราชูปโภคและเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศพระมหากษัตริย์ ” ของหม่อมราชวงศ์เทวาธิราช ป . มาลากุล ในหน้าที่ 9-10 พอได้อ่านข้อความในหนังสือของหลวงทั้งสองเล่มนั้นแล้ว ก็พบว่าได้ให้ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเครื่องราชูปโภคเอาไว้ดีมาก และเมื่อเป็นหนังสือของหลวงจัดทำข้อมูลต่างๆ ก็น่าจะถูกต้องเป็นที่สุดแล้ว อีกทั้งยังได้อธิบายเกี่ยวกับลักษณะของพระสังวาล เส้นที่ปรากฏอยู่ในพระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเจ้าตากสินเอาไว้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะในเล่มหลังได้มีภาพพระสังวาลเส้นดังกล่าวลงพิมพ์ปรากฏอยู่ด้วย แต่ในข้อมูลนั้นกลับระบุว่า “พระสังวาลเส้นนี้สร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ”

เมื่อได้พบปมปัญหาดังกล่าวนี้ จึงได้เริ่มทำการศึกษาเกี่ยวกับพระสังวาลที่ปรากฏในภาพ โดยนอกจากจะใช้หนังสือทั้งสองเล่มที่อาจารย์หม่อมราชวงศ์ศุภวัฒน์เอามาให้ดูในครั้งนั้นแล้ว ในการศึกษาในครั้งนี้ยังได้ใช้หนังสือที่น่าจะให้ข้อมูลที่แท้จริงได้พอๆ กันอีก 2 เล่ม คือ

  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย ฉบับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 2523 หน้า 1 ถึง 4
  • เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 2535 ( จัดพิมพ์เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสวันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ วันที่ 12 สิงหาคม พุทธศักราช 2535 ) หน้า 23-24

    โดยเนื้อหาแล้วหนังสือทั้งสองเล่มนี้มีข้อมูลที่ตรงกันทุกประการ แต่อาจจะแตกต่างกันไปในเรื่องของรายละเอียดต่างๆ ที่ลึกซึ้งต่างกันในแต่ละเรื่อง ส่วนที่มาของข้อมูลก็แทบจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทีเดียว โดยใช้ข้อมูลจากหนังสือต่างๆ เป็นหลักสำคัญดังนี้
    1. หนังสือตำนานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สยาม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเรียบเรียง พ.ศ.2468
    2. หนังสือตำนานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ กรุงรัตนโกสินทร์ เรียบเรียงโดยพระโภคผลพูนทวี ในบทที่กล่าวถึงเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตน์ราชวราภรณ์ พ.ศ.2457 ( ต้นฉบับเป็นพิมพ์ดีด )
    3. หนังสือพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 1 พิมพ์ที่โรงพิมพ์พระจันทร์ พ.ศ.2478
    4. หนังสือราชกิจจานุเบกษาพิเศษ กรุงเทพมหานครในพระบรมมหาราชวัง ณ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 3 มีนาคม 2468
    5. หนังสือราชกิจจานุเบกษาพิเศษ ฉบับจดหมายเหตุ พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส และพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สยามินทราธิราช พ.ศ.2493 รวมทั้งอาจจะได้ข้อมูลส่วนหนึ่งมาจากหนังสือทั้งสองเล่มที่อาจารย์ ม.ร.ว.ศุภวัฒน์ได้นำมาให้ผมดูด้วยก็ได้ เพราะมีข้อความบางแห่งที่คล้ายคลึงกันมากทีเดียว

    จากการพิจารณาภาพที่มีผู้อ้างว่าเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเจ้าตากสินนั้น ปรากฏว่าพระสังวาลที่ทรงสวมเฉียงจากบ่าซ้ายลงมาทางขวา มีลักษณะตรงกับพระสังวาลที่ในหนังสือทั้งสองเล่มนั้นอธิบายว่า คือ “ พระมหาสังวาลนพรัตน์ราชวราภรณ์ ” หรือที่ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 1 เรียกว่า “ พระมหาสังวาลสร้อยอ่อน ”

    ในหนังสือเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 2535 และ 2539 (หน้า 15-16) ได้กล่าวถึงความเป็นมาของ “พระมหาสังวาลนพรัตน์ราชวราภรณ์” เอาไว้ในหัวข้อ “ประวัติความเป็นมาของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันเป็นโบราณมงคลนพรัตน์ราชวราภรณ์” ว่า


    พระสังวาลพระนพ
    (ภาพจากหนังสือเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์)


    “... เครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้มีความเป็นมาสืบแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้ใดสร้างขึ้น มีลักษณะเป็นสายสร้อยสังวาลประดับนพรัตน์ (พลอย 9 ชนิด) ทำด้วยทองคำล้วน มี 3 เส้น เส้นหนึ่งยาว 124 เซนติเมตร มีดอกประจำยามทำด้วยทองคำประดับนพรัตน์ 1 ดอก เป็นเครื่องราชูปโภคสำหรับพระพิชัยสงคราม และสำหรับพระมหากษัตริย์ทรงในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อเสด็จขึ้นประทับพระที่นั่งภัทรบิฐ โดยพราหมณ์เป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย พระสังวาลพระนพ ทรงสวมพระองค์ก่อนที่จะทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ต่อไป ... พ.ศ.2325 ปีขาลจัตวาศก ศักราช 1144 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ก็ได้ทรงรับ “ พระสังวาลพระนพ ” ดังกล่าวเป็นของสำหรับแผ่นดินสืบมา


    พระมหาสังวาลนพรัตนราชวราภรณ์
    (ภาพจากหนังสือเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์)


    พ.ศ.2328 ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “พระมหาสังวาลนพรัตน์ราชวราภรณ์” เพิ่มขึ้นอีกสายหนึ่ง เป็นสังวาลแฝดทำด้วยทองคำล้วน ยาว 176 เซนติเมตร มีดอกประจำยามทำด้วยทองคำฝังนพรัตน์ดอกละชนิดสลับกันไปเป็นดอกๆ คือ เพชรดอกหนึ่ง ทับทิมดอกหนึ่ง มรกตดอกหนึ่ง บุศราคัมดอกหนึ่ง โกเมนดอกหนึ่ง นิลดอกหนึ่ง มุกดาดอกหนึ่ง เพทายดอกหนึ่ง ไพฑูรย์ดอกหนึ่ง สลับกันดังนี้ตลอดสาย

    ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตน์ราชวราภรณ์เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ที่ได้สร้างขึ้นเนื่องมาแต่พระสังวาลพระนพอันเป็นเครื่องพิชัยสงครามครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่การที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระมหาสังวาลนพรัตน์ราชวราภรณ์เพิ่มขึ้นอีกสายหนึ่งนั้น พิเคราะห์ดูตามพระราชประวัติเมื่อครั้งยังทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ทรงเคยได้รับพระราชทานพระสังวาลพระนพจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ให้เป็นบำเหน็จความชอบที่ทรงเป็นแม่ทัพยกไปตีเมืองเวียงจันได้สำเร็จ และได้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ( พระ แก้วมรกต ) ซึ่งเป็นของไทยแต่เดิมกลับมาสู่พระราชอาณาจักรได้ ด้วยเหตุที่ถือกันแต่โบราณว่าพระสังวาลพระนพนั้นเป็นของสำคัญ เป็นเครื่องอิสริยยศของพระเจ้าแผ่นดินโดยเฉพาะ เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกซึ่งขณะนั้นยังมิได้เป็นกษัตริย์ทรงได้รับ จึงย่อมทรงถือว่าเป็นมงคลและเป็นเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ และอาจเป็นไปได้ว่า ความที่ทรงถือว่าเป็นมงคลและเป็นเกียรติอันยิ่งใหญ่นี้เอง ที่เป็นเครื่องดลพระทัย ให้ทรงสร้างพระมหาสังวาลนพรัตน์ราชวราภรณ์ขึ้นเป็นเครื่องต้นสำหรับทรงในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีสำคัญอีกองค์หนึ่ง และยิ่งเมื่อคำนึงถึงว่าตามบทบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้

    ห้ามพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สกุลนี้แก่บุคคลที่มิได้นับถือพระพุทธศาสนา จึงดูเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้น่าเชื่อถือขึ้นอีกว่า ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสร้างพระมหาสังวาลนพรัตน์ราชวราภรณ์ขึ้นนั้น คงจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการที่ได้รับพระสังวาลพระนพมาแต่ครั้งเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรคืนสู่ราชอาณาจักรนั่นเอง ...”

    จากข้อมูลเหล่านี้เอง ทำให้สามารถสรุปออกมาได้แล้วว่า พระสังวาลที่มีมาแต่เดิมนั้นก็คือ พระสังวาลพระนพ อันเป็นของที่ตกทอดมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แล้วสืบเนื่องมาจนถึงกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร และกรุงรัตนโกสินทร์

    ส่วนพระมหาสังวาลนพรัตน์ราชวราภรณ์ เป็นของที่เพิ่งจะมาสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เพื่อให้เป็นของพระบรมราชจักรีวงศ์โดยเฉพาะ และเป็นพระสังวาลเส้นเดียวกันกับที่ปรากฏอยู่ในภาพที่กล่าวอ้างกันว่า เป็นพระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเจ้าตากสินจากอิตาลี ก็ด้วยเหตุนี้เองจึงสามารถสรุปได้ว่า ถึงอย่างไรก็ตามภาพดังกล่าวจะเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเจ้าตากสินไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะ “พระมหาสังวาลนพรัตน์ราชวราภรณ์” ได้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2328 หรือภายหลังแผ่นดินของสมเด็จพระเจ้าตากสินประมาณ 3 ปี แล้วจะมาปรากฏอยู่ในพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์ได้อย่างไรกัน? และถ้าจะเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเจ้าตากสินจริง ก็สมควรที่จะทรงสวม “พระสังวาลพระนพ” ที่ได้รับตกทอดมาจากครั้งกรุงศรีอยุธยา จึงจะถูกต้องตามข้อเท็จจริงทุกประการ

    ถ้าไม่ใช่พระเจ้าตากฯ แล้วภาพนี้คือใคร ? แม้ว่าจะพิสูจน์ได้แล้วว่าภาพดังกล่าวนั้นไม่ใช่พระบรมสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แต่ก็เกิดปัญหาตามขึ้นมาทันทีว่า ภาพดังกล่าวนี้เป็นภาพที่ปลอมขึ้นมา หรือเป็นภาพของท่านผู้ใดกันแน่ ? แต่เมื่อยังหาข้อพิสูจน์ที่แน่นอนลงไปยังไม่ได้ ก็ต้องตั้งข้อสันนิษฐานเอาไว้ 2 ทาง คือ

    1. เป็นภาพที่เขียนขึ้นมาในภายหลัง (โดยผู้ที่มีเจตนาที่จะจำลองให้เป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าตากสิน) โดยไม่รู้ข้อมูลที่แท้จริงเกี่ยวกับพระมหาสังวาลนพรัตน์ราชวราภรณ์ จึงได้ไปหยิบยืมมาจากพระบรมสาทิสลักษณ์พระมหากษัตริย์สมัยกรุงรัตนโกสินทร์มาใช้ในภาพนี้

    2. สันนิษฐานได้ว่าอาจจะเป็นภาพเขียนของพระราชวงศ์ท่านใดท่านหนึ่งที่อยู่ในสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 4 แล้วมีคนมา ตู่กันเอาเองว่าเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเจ้าตากสิน
    และจากข้อสันนิษฐานในข้อ 2 นั้น ก็ต้องลองมาตั้งข้อสมมุติกันต่อไปว่า แล้วน่าจะเป็นท่านผู้ใดกันแน่ ?

    เมื่อมาถึงตรงนี้ ผมเองได้เคยปรารภกับอาจารย์หม่อมราชวงศ์ศุภวัฒน์ เกษมศรี ว่า
    "จะเป็นไปได้ไหมว่า อาจจะเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 1 หรือรัชกาลที่ 3

    เพราะพระพักตร์คล้ายพระบรมสาทิสลักษณ์ของทั้งสองพระองค์ที่เขียนขึ้นในรัชกาลหลังๆ นั้นมาก แต่อาจจะพระบรมรูปเป็นคนละช่วงวัยกันกับภาพเขียนที่คุ้นตาเราอยู่นั้นก็ได้ ..."

    อาจารย์หม่อมราชวงศ์ศุภวัฒน์ เกษมศรี ได้กรุณาให้แนวคิดเพิ่มเติมขึ้นมาว่า “ก็น่าจะตั้งข้อสันนิษฐานอย่างนั้นได้ ... แต่ถ้าไม่ใช่ล่ะ แล้วจะเป็นพระองค์ใดกัน ?” ผมจึงได้ถามว่า “ นอกจากที่ตั้งข้อสังเกตเอาไว้นั้น แล้วควรจะเป็นพระราชวงศ์พระองค์ใดได้บ้าง ?” ก็ได้รับคำตอบกลับมาว่า
    “ อาจจะเป็นกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ กรมพระราชวังบวรฯ ( วังหน้าในรัชกาลที่ 2 ) ซึ่งในราชสำนักตั้งฉายาพระองค์ท่านว่า ' พ่อรูปหล่อ ' ก็ได้ ...”

    มีเรื่องเล่าลือสืบกันในราชสำนักเกี่ยวกับกรมพระราชวังบวรฯ พระองค์นี้ว่า ทรงรูปหล่อและมีส่วนคล้ายรัชกาลที่ 1 ผู้เป็นพระราชบิดามาก นอกจากนี้ยังทรงเป็นหนึ่งในสองพระองค์ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ โปรดเกล้าฯ ให้ทรงเครื่องต้นทั้งชุด รวมทั้งพระมหาสังวาลนพรัตน์ราชวราภรณ์มาแล้ว คือ ครั้งแรก โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ทรงเครื่องต้นที่สร้างขึ้นใหม่เต็มทั้งสำรับ เมื่อครั้งทรงผนวชในปี พ.ศ.2336 (ข้อมูลจาก : พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง “ วัดสมอราย อันมีนามว่าวัดราชาธิวาส ” สหธรรมิกสำนักวัดราชาธิวาสพิมพ์ถวายเป็นธรรมบรรณาการพระราชทานเป็นที่ระลึก ในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวรรษาอัยยิกาเจ้า ณ เมรุท้องสนามหลวง 22 เมษายน 2499 หน้า 20-21 ) ครั้งหลัง ได้โปรดเกล้าฯ ให้กรมขุนอิศรานุรักษ์ ทรงเครื่องต้นในพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้ากุณฑลอีกคราวหนึ่ง ดังที่ปรากฏในพระราชวิจารณ์ของรัชกาลที่ 5 ว่า

    “ ๒๐๘ . กรมขุนอิศรานุลักษณ์เป็นพระอิศวรทรงพระมหากฐิน ทรงประพาสเครื่องต้นเป็นพระอิศวร ในพงศาวดารว่าถึงกรมขุนอิศรานุรักษ์แต่งพระองค์ว่าทรงชฎาเดินหน ทรงฉลองพระองค์ครุย ... แต่เชื่อว่าคงจะทรงเครื่องต้นจริง ตามที่กล่าวไว้ในหนังสือนี้เพราะมีตัวอย่างเมื่อเครื่องต้นทำแล้วเสร็จ พระราชทานให้เจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์ทรง เมื่อแห่ทรงผนวชเป็นคราวแรก เพราะพระองค์ของท่านไม่ได้ทอดพระเนตรเห็น อยากทอดพระเนตร กรมขุนเสนานุรักษ์ และกรมขุนอิศรานุรักษ์นี้ว่างามนักทั้งสองพระองค์ ...” ( จาก : จดหมายเหตุความทรงจำ ของกรมหลวงนรินทรเทวี พิมพ์พร้อมฉบับเพิ่มเติม พ.ศ.2310 - 2381 และพระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เฉพาะตอน พ.ศ.2310 - 2363 หน้า 339)

    กรมขุนอิศรานุรักษ์ก็คือ พระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ (เจ้าฟ้าเกศ) โอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ (สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ) กับเจ้าขรัวเงิน อันทรงเป็นพระภาคิไนย (หลาน) ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ

    จากข้อมูลเหล่านี้ก็จะเห็นได้ว่า นอกจากพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีแล้ว ก็ยังมีพระราชวงศ์ถึงสองพระองค์ที่ได้ทรงเครื่องต้นทั้งสำรับ (รวมทั้งพระมหาสังวาลนพรัตน์ราชวราภรณ์) ในสมัยรัชกาลที่ 1 และคงได้ทราบกันแล้วว่าทำไมจึงโจษกันในราชสำนักว่า กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ คือ พ่อรูปหล่อ

    เมื่อมาถึงตรงนี้ จึงลองตั้งข้อสันนิษฐานว่า หรือว่าภาพเขียนดังกล่าวนี้จะเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 และถ้าบุคคลในภาพไม่ใช่กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ (ซึ่งน้ำหนักความน่าเชื่อถือน่าจะอยู่ที่พระองค์นี้มากที่สุด) ก็น่าจะเป็นกรมขุนอิศรานุรักษ์ได้หรือไม่ ?

    แต่แล้วการตั้งข้อสังเกตก็แตกแขนงให้สืบค้นเพิ่มขึ้นไปอีก เมื่อวันหนึ่งอาจารย์หม่อมราชวงศ์ศุภวัฒน์ เกษมศรี ได้กรุณานำหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าจันทร์ จิรายุวัฒน์ รัชนี (ท่านจันทร์) มาให้ดู ในนั้นปรากฏภาพเมื่อวัยหนุ่มของท่านจันทร์อยู่ภาพหนึ่ง มีใบหน้าเหมือนกับพระบรมสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมาก เหมือนกับเป็นคนเดียวกันเลยทีเดียว เมื่อได้ตรวจสอบข้อมูลแล้วก็สามารถลำดับความสัมพันธ์ในราชวงศ์ออกมาได้ดังนี้
    ท่านจันทร์เป็นโอรสของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ซึ่งเป็นโอรสในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ส่วนกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญก็ทรงเป็นโอรสของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ก็คือโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งเป็นพระเชษฐา (พี่ชาย) ของกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์

    ดังนั้นจะเป็นไปได้หรือไม่ว่า ท่านจันทร์อาจจะมีใบหน้าไปคล้ายกับกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ซึ่งเป็นพระเชษฐา (น้องชาย) ของสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ซึ่งเป็นบิดาของทวด อันเป็นเรื่องที่น่าจะเกิดขึ้นได้ทางพันธุกรรม

    แต่ถ้าไม่ใช่ก็คิดไปได้อีกว่า ภาพดังกล่าวอาจจะเป็นภาพที่เขียนขึ้นมาใหม่ โดยจำลองจากภาพในวัยหนุ่มของท่านจันทร์ หรือหม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี ถึงอย่างไรสิ่งที่ได้มีการตั้งข้อสันนิษฐานเอาไว้นี้ก็ยังหาบทสรุปที่แท้จริงมิได้

    บทสรุป ณ วันนี้

    จากหลักฐานที่ได้ยกมานี้เองทำให้ข้อสันนิษฐานว่า ภาพเขียนภาพนี้มิได้เป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีน้ำหนักเพียงพอที่จะเชื่อถือสืบไปได้ แต่จะเป็นท่านผู้ใดใครกันนั้นยังหาคำตอบไม่ได้ และเป็นอีกปมปัญหาหนึ่งที่จะต้องค้นคว้าเพื่อหาคำตอบกันต่อไปในภายภาคหน้า แต่ที่แน่ๆ ก็คือ จะทำอย่างไรกับความเชื่อ ที่ได้เชื่อกันผิดๆ มานานว่าบุคคลในภาพนี้คือ สมเด็จพระเจ้าตากสิน หรือจะปล่อยให้เป็นเช่นในทุกวันนี้ อย่างเช่น การที่ได้มีผู้นำเอาภาพ (ที่บอกว่ามาจากอิตาลี) มาเป็นต้นแบบเขียนลอกเลียนขึ้นใหม่ และนำออกขายกันจนเกร่อไปหมด รวมทั้งการที่ได้นำเอาพระมหาสังวาลนพรัตน์ราชวราภรณ์ไปสวมให้พระรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินที่ (มีผู้จินตนาการ) เขียนขึ้นมาใหม่ในภาพอื่นๆ ด้วย แถมยังได้ตกแต่งภาพพระมหาสังวาลนพรัตน์ราชวราภรณ์จนผิดเพี้ยนไปบางประการ อย่างเช่น การที่ได้ตกแต่งดอกประจำยาม (นพรัตน์) ที่อยู่ตรงพระอุระ (หน้าอก) เสียจนมีขนาดใหญ่โดดเด่นกว่าดอกอื่นๆ จนผิดไปจากความเป็นจริง

    การเผยแพร่ประกาศพระเกียรติคุณของอดีตพระมหากษัตริย์เป็นของดีที่สมควรกระทำอย่างยิ่ง แต่ก็ควรทำให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ด้วย มิฉะนั้นการกระทำเช่นนี้จะเรียกว่าเป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์ให้ปนเปื้อนด้วยข้อมูลที่ผิดๆ ได้หรือไม่ ?

    ด้วยสัตย์จริงแล้วมิได้เจตนาที่จะลบหลู่หรือทำลายความศรัทธาของท่านผู้ใด แต่ที่ได้นำเสนอข้อมูลเหล่านี้ไปนั้นก็เพราะมีเจตนาต้องการที่จะทำความจริงให้ปรากฏขึ้นนั่นเอง

    หมายเหตุ การจัดทำบทความชิ้นนี้คงจะไม่สำเร็จขึ้นมาได้ด้วยดีได้ ถ้าหากขาดความกรุณาของอาจารย์พลตรีหม่อมราชวงศ์ศุภวัฒน์ เกษมศรี ที่ได้ให้ความคิด และข้อแนะนำหลายประการ รวมทั้งยังได้มอบเอกสารมาให้ใช้ในการศึกษาข้อมูลต่างๆ และอาจารย์นพวัฒน์ สมพื้น ที่กรุณาให้ยืมหนังสือบางเล่มมาใช้งานในครั้งนี้ จึงขอเรียนกราบขอบพระคุณท่านทั้งสองเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้ด้วย (ประยุกต์ บุนนาค, 2543 : 26-33 ; สุจิตต์ วงษ์เทศ, 2528 : 58-67 ; http://www.cadet1935.com/cgi-bin/board/show.pl?363, 10/2/2546 ; สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, 2539 : 15)