พระบาง หรือพระพุทธลาวัณ
พระบาง หรือพระพุทธลาวัณ เป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทร หรือห้ามญาติ ทำด้วยทองสัมฤทธิ์ปิดทอง มีน้ำหนัก 43.4 กิโลกรัม และสูง 0.83 เมตร ซึ่งกรมศิลปากร (2533 : 128) กล่าวไว้ว่า พระบางนั้นสูงแต่ฝ่าพระบาทถึงยอดเมาฬีสองศอกเจ็ดนิ้ว ทองหนัก 42 ชั่ง 1 ตำลึง และ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้ นแต่ครั้งศักราช 236 โดยพระอรหันต์องค์หนึ่งชื่อพระจุลนาคเถระ ใน เมืองลังกาทวีป ภายหลังพระยาศรีจุลราช เมืองอินทรปัตร แต่งราชทูตถือพระสาส์นลงสำเภาไปขอเชิญ มาประเทศลาว

จากข้อความที่ปรากฏตามพงศาวดารเมืองหลวงพระบางตามฉบับที่มีอยู่ในศาลาลูกขุน ว่า “ศักราช 1136 ปีมะเมียฉศก กรุงเทพฯ ครั้งนั้นเป็นแผ่นดินพระเจ้าตาก มีพระราชสาส์นกับเครื่องบรรณาการไปเมืองหลวงพระบาง ขอเป็นทางไมตรีไปมาหากัน เจ้าเมืองหลวงพระบางมีความโสมนัสยินดี ครั้นปีวอกอัฐศก เจ้าเมืองหลวงพระบางมีศุภอักษรกับเครื่องราชบรรณาการแต่งท้าวพระยาคุมลงมากรุงเทพฯ แล้วโปรดพระราชทานทรัพย์สิ่งของ ให้แก่ท้าวพระยาคุมขึ้นไปให้เจ้าเมืองหลวงพระบางตามสมควร


ศักราช 1140 ปีจอสัมฤทธิศก เจ้าบุญสารเจ้าเมืองเวียงจันทร์ แต่งให้พระยาสุโภคุมกองทัพลงไปตีเมืองดอนมดแดง ซึ่งเป็นข้าขอบขัณฑสีมากรุงเทพฯ แล้วจับพระวอเจ้าเมืองฆ่าเสีย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพฯ ทรงพระพิโรธ โปรดให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เจ้าพระยาสุรสีห์คุมไพร่พลในกรุงนอกกรุงขึ้นไปตีเมืองเวียงจันทน์ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกมีหนังสือไปถึงเมืองหลวงพระบาง ขอกองทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ เจ้าเมืองหลวงพระบางแต่งท้าวพระยาคุมไพร่สามพันยกลงไปช่วยตีเมืองเวียงจันทน์เหนือเมืองข้างทิศอีสาน ครั้นตีเมืองเวียงจันทน์สิ้นศึกแล้ว เมืองหลวงพระบางก็ยอมเป็นเมืองขึ้นข้าขอบขัณฑสีมากรุงเทพฯ” (กรมศิลปากร, 2533 : 136)

เมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้เป็นแม่ทัพขึ้นไปตีได้เมืองล้านช้าง หลวงพระบาง และเวียงจันทน์ ในปี พ.ศ.2321 ได้อัญเชิญพระบาง หรือพระพุทธลาวัณ พร้อมกับพระ แก้ว หรือ “พระพุทธมณีรัตนปฏิมากร” จากเมืองเวียงจันทน์ มากรุงธนบุรีด้วย โดยสมเด็จพระเจ้าตากสิน โปรดให้สร้างโรงพระ แก้วขึ้น ที่หลังพระอุโบสถวัดอรุณราชวรารามในพระราชวัง เป็นที่ประดิษฐานของพระ แก้วมรกตและพระบาง

ต่อมาเมื่อเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ทรงย้ายพระนครมาอยู่ฝั่งฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เจ้านันทเสน บุตรพระเจ้าล้านช้างได้กราบทูลว่า

“ พระ แก้วกับพระบางมีปิศาจที่รักษาพระพุทธรูปไม่ชอบกัน ถ้าอยู่ด้วยกันที่เมืองใดก็มีความไม่สบายที่เมืองนั้น เหตุการณ์เช่นนี้เห็นเป็นมา 3 ครั้งแล้ว คือ

เดิมพระ แก้วอยู่เมืองเชียงใหม่ พระบางอยู่เมืองหลวงพระบาง ครั้นภายหลังเจ้าเมืองหลวงพระบางได้เจ้าเชียงใหม่เป็นเขย กับพระ แก้วไว้ช้านาน ชาวเชียงใหม่จึงตั้งเจ้าเมืองเชียงใหม่อื่นขึ้นใหม่ เจ้าเชียงใหม่เก่าจึงขอกองทัพหลวงพระบางไปรบ จะเอาเมืองเชียงใหม่คืน การรบกันเป็นไปหลายปี ฝ่ายพวกเมืองหลวงพระบางเอาชัยชนะไม่ได้

พวกเมืองเชียงใหม่รุกได้ดินแดงใกล้เข้ามา จนพวกหลวงพระบางกลัวจะเสียเมือง จึงลงผีถามคนทรงผีที่รักษาพระบางบอกความว่า ตัวผีที่รักษาพระบางเป็นเจ้าของเมืองไม่ชอบกับผีรักษาพระ แก้ว ขอให้ไล่พระ แก้วไปเสียจากเมือง ผีที่รักษาพระบางจึงจะช่วยในการศึกให้มีชัย เจ้าเมืองหลวงพระบางไม่อยากจะคืนพระ แก้วให้ชาวเชียงใหม่ แต่กลัวผีที่รักษาพระบาง จึงได้เชิญพระ แก้วไปฝากไว้เมืองเวียงจันทน์ ซึ่งเวลานั้นนับถือเป็นบ้านพี่เมืองน้องกัน

ตั้งแต่เชิญพระ แก้วไปเมืองเวียงจันทน์แล้ว ฝ่ายเมืองหลวงพระบางก็มีกำลังขึ้น กลับได้ชัยชนะพวกเมืองเชียงใหม่ ตีเอาเขตแดนที่เสียไปกลับคืนได้หมด ฝ่ายเชียงใหม่ก็ไม่ได้มารบกวนอีกต่อไป การศึกก็เป็นอันยุติ บ้านเมืองก็สงบสุข

ครั้นล่วงมานาน 200 ปีเศษ เจ้าเมืองเวียงจันทน์รบกับเจ้าเมืองหลวงพระบาง ได้ชัยชนะเมืองหลวงพระบาง จึงได้เชิญพระบางมาไว้เมืองเวียงจันทน์ ตั้งแต่นั้นมาเมืองเวียงจันทน์ก็ไม่มีความสุข เกิดรบพุ่งในพี่น้องกันเองบ้าง ต้องรบกับญวนเสียเมืองพ่ายแพ้ญวน

แล้วภายหลังจึงได้เสียเมืองต่อใต้ฝ่าละอองพระบาท เมื่อเสด็จขึ้นไปปราบปรามเมื่อปีกุน เอกศก ศักราช 1141 (พ.ศ.2322) ก็พระ แก้วกับพระบางอยู่ด้วยกันที่กรุงธนบุรีได้ 2 ปี ก็เกิดวุ่นวายขอพระราชทานได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้แยกย้ายพระ แก้วกับพระบางให้อยู่ห่างต่างบ้านเมืองกัน จึงจะมีความเจริญแก่พระนครซึ่งตั้งใหม่ในครั้งนี้ ”

เมื่อรัชกาลที่ 1 ได้ทรงสดับเรื่องราวของพระ แก้วกับพระบาง เช่นนี้ ก็มีพระราชหฤทัยรังเกียจตามเหตุการณ์ จึงพระราชทานพระบางคืนกลับไปประดิษฐานไว้ที่เมืองเวียงจันทน์ตามเดิม ตามปรากฏในพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เรื่อง ตำนานพระ แก้วมรกต (2546 : 129) ว่า

“... เมื่อจุลศักราช 1144 ปีขาล จัตวาศก เป็นปีที่ 1 รัชกาลที่ 1 นั้น พระเจ้าเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นประเทศราชขึ้นแก่กรุงเทพฯ ในรัชกาลปฐมนี้ พระเจ้าเวียงจันทน์ลงมาถวายดอกไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการ เมื่อจะกลับนั้น จึงได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระพุทธรูปยืนคือ พระบาง จะอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ เวียงจันทบูรี ให้เป็นสิริมงคลตามความนิยมของราษฎรๆ นับถือพระบางยิ่งนักมาแต่โบราณ

พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 1) จึงดำรัสว่า พระบางมาอยู่กรุงเทพฯ ก็ไม่เห็นมีผลประโยชน์ประจักษ์อะไร เมื่อชาวเวียงจันทน์เขารักใคร่หวงแหนติดตามอยู่ ก็ควรอนุญาตยอมให้ไปตามความประสงค์ ”

ครั้นต่อมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าอนุเวียงจันทน์เป็นกบฏกรมพระราชวังบวรสถานมงคลได้รับพระราชโองการให้ยกทัพขึ้นไปตีเวียงจันทน์ได้อีกครั้ง ทรงนำพระพุทธรูปมีชื่อในเวียงจันทน์มาทอดพระเนตรทั้งหมด ทรงเลือกเอาพระบาง พระแทรกคำ พระฉันสมอ กับพระพุทธรูปศิลาเขียว ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะแปลก และยังไม่มีชื่อนำมาถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ

รัชกาลที่ 3 ยังไม่ได้สดับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในรัชกาลที่ 1 จึงได้อัญเชิญพระบาง พระแทรกคำ พระฉันสมอไว้ในหอนาควัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่อมาเมื่อได้ทรงทราบเรื่องแต่หนหลัง จึงทรงพระราชดำริว่าจะขัดกับที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงปฏิบัติมาก่อน และไม่เป็นมงคลแก่พระนคร จึงพระราชทานพระบางให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา อัญเชิญไปไว้ที่วัดจักรวรรดิราชาวาส พระราชทานพระฉันสมอให้เจ้าพระยาพลเทพ (ฉิม) อัญเชิญไปไว้ที่วัดอัปสรสวรรค์ และพระราชทานพระแทรกคำให้พระยาราชมนตรี (ภู่) อัญเชิญไปไว้วัดคฤหบดี ภายนอกพระนครทั้ง 3 พระองค์

ต่อมาในปี พ.ศ.2407 ได้เกิดฝนแล้ง ข้าวยากหมากแพง บรรดาเสนาบดีจึงได้เข้าชื่อกันทำเรื่องกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งได้อัญเชิญพระพุทธรูปลาวอีก 3 องค์ คือ พระเสิม พระไสย และพระแสน จากเมืองหนองคาย มาไว้ที่กรุงเทพฯ เหมือนกัน โดยกล่าวหาว่าพระพุทธรูปลาวเหล่านี้ เป็นต้นเหตุ

“ ด้วยได้ยินราษฎรชายหญิงหลายเหล่าบ่นซุบซิบกันอยู่เนืองๆ มานานแล้วว่า ครั้งตั้งแต่พระเสิมเมืองเวียงจันทน์ซึ่งมาอยู่ที่หนองคาย เชิญมาไว้ ณ กรุงเทพมหานคร เมื่อปลายปีมะเส็ง นพศก และพระไสยเมืองเวียงจันทน์ซึ่งมาอยู่ด้วย พระเสิม ณ เมืองหนองคาย และพระแสนเมืองมหาไชยเชิญมาไว้ ณ วัดปทุมวนาราม เมื่อปลายปีมะเมียสัมฤทธิ์ศกนั้นมา ฝนในแขวงกรุงเทพมหานครตกน้อยไปกว่าแต่ก่อนทุกปี ต้องบ่นว่าฝนแล้งทุกปี ลางพวกก็ว่าพระพุทธรูปเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหนของแพงที่นั่น และว่าของลาวเขาถือว่าพระพุทธรูปของบ้านร้างเมืองเสีย ปีศาจมักสิงสู่ ลาวเรียกว่าพุทธยักษ์ รังเกียจนักไม่ให้เข้าบ้านเข้าเมือง ...”

ทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่า พระเสิม พระไสย และพระแสน ก็เป็นพระพุทธรูปที่มีชื่อของเมืองเวียงจันทน์ คนลาวนับถือกันมาช้านาน แต่เหตุไฉนเมื่อรัชกาลที่ 1 ยกทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์เมื่อปี พ.ศ.2322 ก็ดี หรือเมื่อกรมพระราชวังบวรในรัชกาลที่ 3 ไปตีเมื่อปี พ.ศ.2370 ก็ดี ไฉนจึงไม่ทรงเชิญพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์นี้ลงมาด้วย และว่า

“... ฝนแล้งเข้าคราวใด ก็ให้มีผู้พูดซุบซิบรังเกียจด้วยพระพุทธรูป พระเสิม พระไส 2 องค์นี้เนืองๆ หนาหู และกาลบัดนี้ เป็นประตูที่ผู้คนอยากจะหยิบยกโทษต่างๆ บ่นว่า จะลอบไปให้โรงพิมพ์อเมริกันลงพิมพ์ นินทาว่าบ่นไปต่างๆ ตามคำราษฎร จะเอาตัวผู้บ่นก็ไม่ได้ จะเป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศไปเพราะพระพุทธรูปเป็นแต่ของหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ย่อมๆ ไม่เป็นที่เห็นเป็นประหลาดอัศจรรย์อะไรนักนั้น ก็ไม่ควรแก่พระบารมีเลย พระพุทธรูปอย่างนี้ถึงอยู่ในกรุงเทพมหานคร ก็ไม่เป็นที่ออกอวดแขกเมืองได้เหมือนพระ แก้วมรกต และพระ แก้วผลึก ฉลองพระองค์ทรงเครื่องทองคำ ประดับเพชรพลอยต่างๆ นั้นเลย พระ แก้วมรกต พระ แก้วผลึก พระสิหิงค์ และพระพุทธรูปทรงสัมฤทธิ์ใหญ่ๆ ซึ่งงามดีเป็นศรีพระนครคู่พระบารมีเคยอยู่กับบ้านเมืองมีความสุขมาก็มีอยู่ในกรุงเทพมหานครนี้เป็นอันมากแล้ว ก็พระบาง พระแทรกคำ พระเสิม พระไสย พระแสน เป็นของดี แต่ที่ลาวเล่าลือออกชื่อเชิดชูว่าศักดิ์สิทธิ์ เชิญมาไว้ก็นาน ก็ยังไม่ได้เห็นฤทธิ์เดชวิเศษเป็นคุณแก่บ้านเมืองได้อย่างไร มีผู้นับถือมากก็แต่พวกลาว ...

นอกจากนี้ ในหนังสือกราบทูลของบรรดาเสนาบดีครั้งนี้ยังได้กล่าวถึงการนำพระบางไปคืนหลวงพระบางในรัชกาลที่ 1 และกรมพระราชวังบวรไม่ทรงทราบเรื่องในอดีต อัญเชิญกลับมาอีกในรัชกาลที่ 3 และกราบทูลเสนอว่า

“ ถ้าโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมมีพระราชประสงค์จะให้เป็นที่นมัสการบูชาของราษฎรที่เป็นลาวได้ทำบุญมากเต็มศรัทธาแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงเห็นด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม จะขอรับพระราชทานพระพุทธรูปที่ลาวนับถือ คือ พระเสิม พระไส พระแสน หรือพระบาง พระแทรกคำ พระฉันสมอ พระมีชื่ออื่นๆ ด้วย พระราชทานคืนให้เจ้าเมืองหัวเมืองลาวที่เดิม หรือเมืองอื่นที่นับถือ รับไปทำบุญบูชา หรือถ้าทรงพระราชดำริเห็นว่าเชิญมาแล้วจะคืนไปเป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ก็ขอพระราชทานพระบางพระราชทานไปเมืองหลวงพระบาง ให้ประดิษฐานอยู่ตามชื่อเมืองเดิม ก็จะเป็นเกียรติยศมากด้วย ทำให้เมืองนั้นซึ่งเป็นขอบขัณฑสีมาคงชื่อเดิม และพระพุทธรูปอื่นขอรับพระราชทานให้ไปอยู่เมืองสระบุรี หรือพระพุทธบาทเขาปถวี เป็นที่ใกล้บ้านลาวมาก พระพุทธบาทและเขาปถวีและเขา แก้วก็เป็นพระอารามหลวง เมื่อพระพุทธรูปของหลวงไปประดิษฐานอยู่ที่นั่น ก็จะไม่เป็นที่เสื่อมเสียพระเกียรติยศเลย ราษฎรลาวเมืองนั้นมากกว่าไทยก็จะได้มีความยินดี ถึงราษฎรลาวชาวกรุงเทพมหานครที่นับถือ พระพุทธรูปมีชื่อเหล่านั้น ก็ย่อมไปนมัสการพระพุทธบาท และพระพุทธฉายเขาปถวี และเยี่ยมเยียนญาติพี่น้อง ณ เมืองสระบุรีอยู่เนืองๆ มิได้ขาด คงได้ไปนมัสการบูชาตามปรารถนาไม่ห่างไกลไป ”

พระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 4 ฉบับ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ได้บันทึกไว้ว่า

“ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสดับในเรื่องราวนั้นแล้ว ทรงพระราชดำริเห็นด้วย ครั้นมาถึง ณ ปีขาล อัฐศก เจ้าอุปราชเมืองหลวงพระบางมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้รับเอาพระบางขึ้นไปประดิษฐานไว้ ณ เมืองหลวงพระบางตามเดิม เจ้าอุปหาดราชวงศ์ ได้เชิญเสด็จพระบางออกจากวิหารวัดจักรวรรดิ์ ณ วันเดือน 5 ขึ้น 15 ค่ำ (วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2408) เวลาเพล แล้วโปรดให้ไปประทับไว้ที่พระตำหนักน้ำทำการสมโภชอยู่ 3 วัน แล้วบอกบุญพระราชาคณะ เปรียญฐานานุกรม สัตบุรุษ แห่ขึ้นไปส่งเพียงปากเกร็ด

พระเสิม พระไสยนั้น โปรดฯ ให้ประดิษฐานไว้ในที่วิหารวัดปทุมวนาราม พระแสนนั้นประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ พระเสิม หน้าตักกว้าง 2 ศอก 1 นิ้ว พระไสหน้า ตักกว้าง 1 ศอก 1 นิ้ว พระแสน หน้าตักกว้าง 1 ศอก 6 นิ้ว ”

ด้วยเหตุนี้ พระบางจึงต้องถูกอัญเชิญให้แยกเมืองห่างไกลจากพระ แก้วมรกต กลับไปอยู่หลวงพระบางถิ่นเดิมอีกครั้ง ตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้ (เถิ่ง ธรรมทัศน์, ม.ป.ป. : 48-56 ; จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, 2546 : 128-130; http://www.laos-hotels.com/background/people.htm)