
พระที่นั่งราชกิจวินิฉัย ในบริเวณท่าราชวรดิฐ ในสมัยรัชกาลที่ 5
ดังที่กล่าวแล้วว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังโดยยึดถือแบบแผนของพระราชวังหลวงของกรุงศรีอยุธยาเป็นหลัก ฉะนั้น ในการเสด็จพระราชดำเนินโดยชลมารคหรือทางน้ำ จึงจำเป็นจะต้องมีท่าที่ประทับเรือพระที่นั่งของพระมหากษัตริย์ หรือพระมหาอุปราชอยู่ด้วย ท่าเรือที่ประทับนี้ราษฎรทั่วไปมักจะเรียกกันว่า ตำหนักแพ แต่โดยความเป็นจริงแล้วในครั้งโบราณจะเรียกว่า ตำหนักน้ำ หรือพระฉนวนน้ำ ส่วนการที่เรียกว่า ตำหนักแพ นั้น เรียกตามที่เห็นลักษณะการสร้างแบบแพลอย เพราะมีแพลอยเป็นทุ่น สำหรับเสด็จพระราชดำเนินลงเรือพระที่นั่ง แต่องค์ตำหนัก หรือพระที่นั่งนั้นตั้งอยู่บนบกจึงเรียกว่า ตำหนักน้ำ
รูปเขียนตำหนักแพ จากหนังสือโคลงภาพพงศาวดาร
ยุคสมัยของการสร้าง
ในรัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ.2325 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักน้ำ หรือพระฉนวนน้ำขึ้นหลังหนึ่ง ตั้งอยู่ตรงกับประตูยาตรากษัตรีย์ หรือยาตราสตรี เป็นพระที่นั่งโถงขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาวรีไปตามลำน้ำ หลังคามุงกระเบื้อง มีช่อฟ้า ใบระกา ทาสีแดง ด้านหน้าของพระที่นั่งมีมุขลดเล็กๆ เป็นซุ้มประตูอยู่ที่ต้นสะพานซึ่งเป็นที่พาดบันไดประทับเรือพระที่นั่ง
ต่อมาในรัชกาลเดียวกัน พ.ศ.2327 โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานทำแพลอยหนุนไม้ไผ่หลังหนึ่ง ขนาด 5ห้อง มีเฉลียงรอบ ฝากระดาน ลูกกรงทาสีเขียวแดง ข้างในเขียนลายรดน้ำปิดทอง และเขียนลายทรงข้าวบิณฑ์ปิดทอง หลังคามุงจากมีช่อฟ้า ใบระกา นาคสะดุ้ง และตัวลำยอง แพลอยหลังนี้จอดอยู่เหนือฉนวนน้ำ มีสายโยงผูกแพไว้กับต้นตาล ด้วยเหตุนี้ ราษฎรเห็นเป็นแพลอยจึงเรียกว่า ตำหนักแพ
ในรัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้รื้อตำหนักแพลอยน้ำ และพระฉนวนน้ำทั้งหมดสร้างขึ้นใหม่ โดยทำเป็นพระที่นั่งสามหลัง มีฝาสามด้าน ด้านหน้าเป็นลูกกรง หลังคามุงด้วยกระเบื้อง มีช่อฟ้า ใบระกา แต่มุขหน้าด้านริมแม่น้ำทำเป็นมุขซ้อนสองชั้น พระที่นั่งทั้งสามหลังนี้ตั้งอยู่บนคานปักเสาลงในน้ำ ทอดคานเหมือนอย่างเรือนแพ แต่ยังมิทันได้ลงมือก่อสร้างก็สิ้นรัชกาลที่ 2
การที่โปรดเกล้าฯ ให้รื้อตำหนักแพลอยน้ำหรือพระฉนวนน้ำก็เนื่องด้วยกรมพระราชวังบวรฯ ได้เสด็จประทับที่พระตำหนักแพลอยน้ำพร้อมกับพระสนมเพื่อทอดพระเนตรขบวนเรือกฐินของพระราชวังหลวง แต่เกิดพายุฝนตกหนักพัดเอาพระตำหนักแพหลังนั้นลอยไปตามน้ำจนถึงหน้าวัดทองธรรมชาติจึงสามารถนำเข้าจอดได้ ขณะนั้นพระสนมได้ประสูติพระกุมารพระองค์หนึ่ง ซึ่งภายหลังได้รับพระราชทานนามจากพระราชบิดาว่า พระองค์เจ้าเพ็ชรหึง ด้วยเหตุนี้จึงทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า ตำหนักแพลอยน้ำและพระฉนวนน้ำ น่าที่จะตั้งอยู่บนคาน ปักเสาลงในน้ำ ทอดคานเหมือนอย่างเรือนแพมากกว่าที่จะลอยอยู่ในน้ำเหมือนของเดิม
ในรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักน้ำนั้นต่อจนสำเร็จใน พ.ศ.2469
ในรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระตำหนักน้ำของเดิมลง แล้วสร้างเขื่อนริมแม่น้ำ ถมดินสูงเสมอระดับพื้นดิน สร้างพระที่นั่งขึ้น 4 หลัง จัดเป็นพระที่นั่งริมฝั่งน้ำ คือ พระที่นั่งชลังคพิมาน เป็นพระที่นั่งขนาดเล็ก ตั้งอยู่ริมแม่น้ำลักษณะเป็นพลับพลาสูง พระที่นั่งทิพยสถานเทพสถิต ตั้งอยู่ถัดจากพระที่นั่งชลังคพิมานมาทางทิศตะวันออก เป็นพระที่นั่งสูงสองชั้น จัดเป็นที่ประทับ พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของพระที่นั่งทิพยสถานเทพสถิต แต่มีพื้นลดต่ำกว่า จัดเป็นท้องพระโรงฝ่ายหน้า และพระที่นั่งอนงค์ในสราญรมย์ หรืออนงค์ในสำราญ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระที่นั่งทิพยสถานเทพสถิต จัดเป็นที่พักของฝ่ายใน
นอกจากนั้น ยังโปรดเกล้าฯ ให้ก่อเขื่อนทำสระ จัดเป็นสระสรงสำหรับพระเจ้าลูกเธอหัดว่ายน้ำที่ตรงหน้าพระที่นั่งชลังคพิมานใต้ท่าของทางเสด็จลงเรือ หน้าพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย โปรดเกล้าฯ ให้สร้างศาลหลังคาเก๋งขึ้นหลังหนึ่ง แล้วให้เชิญเทวรูปและเจว็ดประดับมุกในหอ แก้วไปตั้งที่ศาลนี้ และโปรดเกล้าฯ ให้ก่อกำแพงกั้นบริเวณทั้งหมดของพระตำหนักน้ำทั้ง 3ด้าน ที่ปลายกำแพงริมน้ำสร้างป้อมขึ้น 2 ป้อม ด้านทิศเหนือพระราชทานชื่อว่า ป้อมพรหมอำนวยศิลป์ และด้านทิศใต้คือ ป้อมอินทร์อำนวยศร โดยโปรดเกล้าฯ ให้เรียกบริเวณทั้งหมดนี้รวมว่า ท่าราชวรดิฐ
ในรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระที่นั่งริมน้ำหรือตำหนักแพหลังนี้ในพระราชพิธีสำคัญหลายอย่าง จึงมีการปรับปรุงบางส่วนของพระที่นั่งให้เหมาะสม ตามหลักฐานกล่าวว่า เมื่อวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 2 ปีวอก พ.ศ.2429 เป็นวันเริ่มการพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าพระราชกุมารพระองค์ใหญ่ หน้าพระที่นั่งชลังคพิมาน ปลูกพลับพลายก 3 ห้อง หลังพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยรื้อเฉลียงด้านหลังหมด และทำกำแพงรอบ และทำพื้นศิลาเสมอหน้ากันจนถึงโรงเรือ มีปะรำคนต่างประเทศติดกับโรงเรือ หลังพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยข้างฉนวนมีปะรำคู่เคียงกัน การที่รื้อเฉลียงนั้นเพราะเกยใหม่ตั้งสูงขึ้นไป กำแพงนั้นรื้อให้กระบวนเดินได้กว้างขวาง ตรงเกยที่เคยเสด็จขึ้นนั้นรื้อเกยเก่า ตั้งเกยให้สูงขึ้นเสมอพระยานนุมาศ
ต่อมาพระที่นั่งบางองค์ชำรุดจึงต้องรื้อไป เช่น พระที่นั่งอนงค์ในสราญรมย์ หรืออนงค์ในสำราญ ดังหลักฐานใน พ.ศ.2435 กล่าวว่า พระที่นั่งอนงค์ในสำราญนี้ไม่ใคร่ได้ใช้ประโยชน์อีกทั้งชำรุด ถ้าจะซ่อมต้องใช้เงิน 25 ชั่ง ถ้ารื้อใช้เงิน 10 ชั่ง และทำความสะอาดที่ลุ่ม ใต้พระที่นั่งจะถมให้เต็มเป็นชลา เมื่อนำความกราบบังคมทูลแล้ว มีพระบรมราชานุญาตให้รื้อได้
พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย ที่บริเวณท่าราชวรดิฐ ในรัชกาลปัจจุบัน
พระที่นั่งต่างๆ ในบริเวณท่าราชวรดิฐนี้ คงจะชำรุดไปตามกาลเวลา และการใช้สอยคงจะมีน้อย จึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระที่นั่งต่างๆ ลงเป็นลำดับ และขยายเขื่อนออกไปพร้อมทั้งปรับปรุงพื้นที่ให้เรียบร้อย หลังจากนั้นโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์เฉพาะพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยแต่เพียงองค์เดียว ดังที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้
บริเวณตำหนักน้ำนี้ ได้โปรดเกล้าฯ ให้กรมทหารเรือเป็นผู้ดูแลเป็นสิทธิขาด เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ร.ศ. 123 (พ.ศ. 2448) ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ท่าราชวรดิฐยังเป็นที่เสด็จฯ ประทับเนื่องในการพระราชพิธีทางชลมารคมาจนทุกวันนี้ (สำนักราชเลขาธิการ, 2531 : 221-224 )
|