ปืนคาบศิลา และปืนนกสับ
ร.ต.หญิง สุนิสา ศรีแตงอ่อน
ปืนคาบชุด เป็นปืนเล็กยาวแบบที่เก่าแก่ที่สุดของไทย เริ่มเข้ามาในสมัยอยุธยา พร้อมๆ กับปืนใหญ่ (1) โดยมีชื่อเรียกตามการจุดชนวนคือ มีชุดจุดไฟติดที่ปลายนก เมื่อต้องการยิงให้ง้างนกขึ้นแล้วลั่นไก นกที่จับชุดจุดไฟจะสับลงไปที่ดินหู หรือดินดำที่ใส่ในจานด้านนอก ประกายไฟจากการเผาไหม้ จะลามเข้าสู่ลำกล้องเกิดการเผาไหม้ภายใน และขับกระสุนออกจากลำกล้อง
ปืนคาบศิลา เป็นปืนเล็กยาวที่ได้รับความนิยมต่อจากปืนคาบชุด เริ่มเข้ามาในไทยสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (2) เป็นปืนที่พัฒนาการจุดชนวนให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยใช้หินเหล็กไฟแทนชุดจุดไฟ และมีแผ่นเหล็กติดตั้งไว้ที่จานดินหู เมื่อต้องการยิงจะง้างนกแล้วลั่นไก นกที่คาบหรือจับหินเหล็กไฟ จะสับลงมาตีกับเหล็ก เกิดประกายไฟเผาไหม้ดินหู แล้วลามเข้าลำกล้องเช่นเดียวกับปืนคาบชุด ปืนคาบศิลามีการใช้อย่างแพร่หลายมาก และใช้มาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีทั้งชนิดลำกล้องธรรมดา และชนิดปากลำกล้องเป็นรูปมังกรหรือสัตว์อื่นๆ ส่วนปืนที่เข้ามีการนำเข้าต่อมาคือ ปืนแก๊ป เป็นปืนที่จุดชนวนด้วยดอกทองแดงบรรจุดินดำ ซึ่งทั้ง 3 ชนิดที่ยังคงป้อนกระสุนทางปากลำกล้องทั้งสิ้น
จากการศึกษาตามเอกสารปรากฏว่า มีคำอธิบายลักษณะของปืนนกสับ ต่างกันดังนี้
- ปืนนกสับ เป็นปืนใหญ่ทหารราบขนาดเล็ก มีขาหยั่ง 2 ขา คล้ายนกยาง บางแห่งเรียกว่า ปืนขานกยาง มีจัดอยู่ในประเภทปืนเล็กด้วย (3) (ศาสตราวุธของไทย ศิลปวัฒนธรรมไทย เล่ม 5 2525)
- ปืนนกสับ อาศัยแบบจากปืนคาบชุดเดิมแต่ปรับปรุงให้ดีขึ้น หรือกล่าวได้ว่า ปืนคาบชุดนั้น ภายหลังเรียกกันว่า ปืนนกสับ และต่อมาได้พัฒนาเป็นสับแก๊ป (4) (วารสารวัฒนธรรมไทย) และ
- ปืนนกสับ เป็นปืนประทับบ่าคาบศิลา ส่วนปืนคาบชุดน่าจะเป็นปืนนกคุ่ม (ซึ่งอาจหมายถึงปืนที่มีนกงอคุ่ม) ซึ่งต้องเหนี่ยวไกค่อยๆ งุ้มลงไป ผิดกับปืนคาบศิลาที่นกต้องสับกดลงไปทีเดียว (5) (สาส์นสมเด็จ วารสารยุทธโกษ)
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าความหมายของคำว่า ปืนนกสับ จะมีความหมาย ระหว่างปืนคาบชุด และคาบศิลา ด้วยลักษณะการจุดชนวนที่มีนกสับที่จุดชนวน ไม่ว่าจะเป็นชุดจุดไฟของปืนคาบชุด หรือหินเหล็ก ไฟของปืนคาบศิลา ซึ่งเมื่อจะยิงต้องง้างนกขึ้นแล้วลั่นไก นกจะสับลงไปที่จานดินหู ในลักษณะคล้ายกัน ซึ่ง น.พ.สำราญ วังศพ่าห์ (6) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องปืนท่านหนึ่งได้อธิบายถึงความหมายของปืนนกสับ สรุปได้ดังนี้
เมื่อ พ.ศ.2127 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้อพยพครอบครัวคนไทยกลับจากพม่า ทางพม่าได้สั่งให้สุรกรรมายกกองทหารติดตาม เพื่อชิงครอบครัวคนไทยกลับพม่า และยกกองทัพมาทันกันที่แม่น้ำสะโตงคนละฝั่งแม่น้ำ สุรกรรมาพยายามจะข้ามแม่น้ำสะโตงขณะที่นั่งบนคอช้าง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงใช้พระแสงปืนยิงข้ามแม่น้ำสะโตงถูกสุรกรรมาเสียชีวิตบนคอช้างในพงศาวดารได้บันทึกไว้ว่าได้ทรงใช้พระแสงปืนนกสับ ยาว 9 คืบ (ประมาณ 235 ซม.) ยิง (ประชุมพงศาวดาร เล่ม 3 หน้า 87) และอาวุธปืนที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงใช้ในการสู้รบกับพม่าต่อมาคือ ปืนนกสับ ซึ่งสอดคล้องกับพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเรื่อง การสู้รบระหว่างพม่ากับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในที่รบต่อสู้กันที่อื่น ..ข้าศึกตั้งเรียงรายบนตลิ่ง ยิงปืนโต้ตอบกันกับกองทัพเรือ สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถต่างทรงพระแสงปืนนกสับ ยิงข้าศึกไปแต่เรือพระที่นั่งกันกับพลทหารทั้งปวง (ประชุมพงศาวดาร เล่ม 3 หน้า 101)
จะเห็นได้ว่าพระแสงปืนที่สมเด็จพระนเรศวรฯ และสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงใช้เป็นปืนนกสับ ทั้งหมด คำว่า นกสับ นั้นสร้างความสับสน บางท่านเข้าใจว่าเป็น ปืนคาบศิลา (Flirnt lock) เพราะตัวที่จับหินเหล็กไฟ (Pyrites) ส่วนมากจะออกแบบเป็นรูปนกคาบหินเหล็กไฟ จึงทำให้หลายท่านเข้าใจว่า ปืนที่มีกลไกจุดชนวนแบบนกสับ เป็นปืนคาบศิลา แต่ผู้เขียนสันนิษฐานว่า ปืนนกสับเป็น ปืนคาบชุด (Matchlock) มากกว่า เนื่องจากพิจารณาตามปีที่สร้างปืนดังนี้
- แบบปืนคาบชุด (Matchlock) สร้างปี พ.ศ.1954
- ปืนคาบชุดแบบมีเครื่องบังแสง (Snaplock) ใช้ในปี พ.ศ.2090-2108
- ปืนแบบไฟแช็ก (Wheellock) สร้างปี พ.ศ.2058
- ปืนแบบ Snaphance สร้างปี พ.ศ.2063
- สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงใช้พระแสงปืนยิงข้ามแม่น้ำสะโตง พ.ศ.2108
- ปืนคาบศิลา (Flintlock) เริ่มใช้ปี พ.ศ.2158
จะเห็นว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงใช้พระแสงปืนที่แม่น้ำสะโตง ก่อนสร้างปืนคาบศิลา 50 ปี อาจสรุปได้ว่า ปืนนกสับ ในระยะแรกคงหมายถึง ปืนคาบชุด เช่น พระแสงปืนข้ามแม่น้ำสะโตง ซึ่งเรียกตามลักษณะที่นกสับลงเมื่อลั่นไกนั่นเอง แล้วเมื่อมีการพัฒนาปืนคาบศิลา ซึ่งมีนกที่จับหินเหล็กไฟ ที่สับลงเมื่อยิงเช่นเดียวกัน จึงอาจมีผู้เข้าใจว่าปืนนกสับเช่นเดียวกัน ปืนนกสับในระยะหลังจึงอาจหมายรวมถึงปืนคาบศิลา และปืนแก๊ปที่พัฒนาขึ้นภายหลังด้วย ซึ่งปืนทั้ง 3 ชนิดนี้ มีลักษณะเหมือนกันคือ นกที่สับ หรือตีลงเมื่อยิง ต่อมามีการพัฒนาการยิง (ปืน)ให้เป็นระบบจุดชนวนแบบเข็มแทงชนวน ตามลักษณะของปืนที่เปลี่ยนแปลงไป
(1) เอกสารประวัติอาวุธโบราณ เรื่อง ปืน ของพลโท ดำเนิร เลขะกุล
(2) เอกสารประวัติอาวุธโบราณ เรื่อง ปืน ของพลโท ดำเนิร เลขะกุล
(3) เรื่องศาสตราวุธของไทย จากศิลปวัฒนธรรมไทย เล่ม 5 ศิลปวัตถุ กรุงรัตนโกสินทร์ 2525
(4) วารสารวัฒนธรรมไทย ป.4 ฉ.6 ส.ค. 2507
(5) วารสารยุทธโกษ ฉ.4 ป.74 ก.ย.2509
(6) บทความเรื่อง ปืนข้ามแม่น้ำสะโตง
|