ใครคือผู้แต่งพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา
ขจร สุขพานิช

ข้าพเจ้าเขียนเรื่องนื้ขึ้น เพื่อเป็นการเสนอแก่ผู้สนใจและบรรดาคณาจารย์ในวิชาประวัติศาสตร์ไทย ให้ร่วมกันพิจารณาว่าความคิดเห็นนี้จะมีส่วนจริงมากน้อยเพียงไร และข้อเสนอในตอนสรุปจะได้ยึดถือได้หรือไม่ อันที่จริงชื่อเรื่องก็ค่อนข้างยาวอยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้ได้ใจความสมบูรณ์ จำเป็นที่จะเรียกให้เต็มว่า “ พระราชพงศาวดารกรุงสยาม-ความเป็นมา และการจัดลำดับความสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับพระราชพงศาวดารฉบับอื่นๆ เท่าที่มีอยู่ ”

พระราชพงศาวดารกรุงสยาม มีสร้อยต่อท้ายว่า ฉบับบริติชมิวเซียม สำนักพิมพ์ก้าวหน้า 882 วังบูรพาพระนคร ได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากร ให้ตีพิมพ์จำหน่ายแต่ พ.ศ.2507 คือ 8 ปีมาแล้ว ขณะนี้หาซื้อได้ยาก จะมีเหลือจำหน่ายอยู่เล่มสองเล่มก็แต่ห้องจำหน่ายหนังสือ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี โดยเจ้าหน้าที่ต้องไปหยิบออกจากโกดังเก็บหนังสือ ท่านที่ยังไม่ได้หาซื้อไว้จำต้องรอจนกว่ากรมศิลปากรจะอนุญาตให้มีการพิมพ์จำหน่ายอีกครั้งหนึ่ง จึงจะหาซื้อได้ด้วยความสะดวกจากร้านหนังสือทั่วไป

ในการอนุญาตให้สำนักพิมพ์ก้าวหน้าพิมพ์จำหน่ายเมื่อ พ.ศ.2507 กรมศิลปากรโดยหัวหน้ากองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ในเวลานั้น (คุณตรี อมาตยกุล) ได้คำชี้แจงไว้ในคำนำหนังสือนั้นแล้วว่าหนังสือฉบับนี้เป็นสมบัติของบริติชมิวเซียมประเทศอังกฤษ โดยเจ้าของนำไปมอบให้ คือ J.Hurst Hayes Esquire เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ.1948 และอีก 10 ปีต่อมา (ค.ศ.1958) ข้าพเจ้า (นายขจร สุขพานิช) เป็นผู้ไปพบและขอถ่ายไมโครฟิลม์ส่งมาให้กรมศิลปากร พิจารณา และเมื่อต่อมาสำนักพิมพ์ก้าวหน้าขออนุญาตตีพิมพ์จำหน่าย กรมศิลปากรจึงได้อนุญาตให้มีการพิมพ์เผยแพร่ตลาดหนังสือเมืองไทย จึงมีหนังสือฉบับนี้จำหน่ายแก่ผู้สนใจแต่ พ.ศ. 2507

เกี่ยวกับเจ้าของผู้มอบหนังสือนี้ให้แก่ บริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน ชื่อของท่าน J.Hurst Hayes อยู่ในสกุล Hayes ในสกุลเดียวกับนายแพทย์ Hayes ผู้รับราชการอยู่ในรัฐบาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และนายแพทย์ เฮย์ เป็นผู้ออกทุนทรัพย์สร้าง ห้องสมุด Nelson Hayes ถนนสุริวงศ์ และเป็นผู้อุปการะโรงเรียน วัฒนาวิทยาลัย ถนนสุขุมวิท พระนคร อีกด้วย หนังสือฉบับนี้จึงมีส่วนเกี่ยวกับนายแพทย์ เฮย์ ในรัชกาลที่ 5 นั้นเป็นแน่ แต่ท่านจะได้หนังสือนี้ไปอย่างไรไม่มีบันทึกบอกไว้ ข้าพเจ้าจึงได้แต่เดาเอาว่า นายแพทย์ เฮย์ คงได้พบเห็นพระราชพงศาวดารกรุงสยาม ในหอพระสมุดพระบรมมหาราชวัง หรือในหอพระสมุดวชิรญาณ (ที่สนามหลวง) ตอนเปิดหอพระสมุดนี้ให้ประชาชนได้ใช้เป็นประโยชน์แล้วหมอเฮย์จึงได้ว่าจ้างคนไทยผู้มีความรู้ และลายมือสวยงามคัดจากต้นฉบับเดิมซึ่งเป็นสมุดข่อยจำนวน 30 เล่มสมุดไทยคัดลงไว้ในสมุดกระดาษฝรั่ง พิจารณาจากลายมือคัดหน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้ายร่วม 500 หน้า เป็นลายมือสวยงามสม่ำเสมอตลอด 500 หน้า ใครเป็นผู้รับจ้างคัดลอกจะต้องใช้อุตสาหะน่าชมเชยอย่างยิ่ง (ดังปรากฏตัวอย่างลายมือคัดหน้าต้นและหน้า 38 ในฉบับตีพิมพ์ของสำนักพิมพ์ก้าวหน้า) เราจึงเชื่อได้ว่า ข้อความจากสมุดข่อย 30 เล่ม ดังได้มาปรากฏในฉบับพิมพ์ของสำนักพิมพ์ก้าวหน้า จะไม่มีการตกหล่นเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด เป็นฉบับ authentic ให้ผู้สนใจได้พิจารณาศึกษาโดยไม่ต้องห่วงใยการตกหล่นเปลี่ยนแปลงใดๆ

เมื่อนายแพทย์ เฮย์ ได้พระราชพงศาวดารฉบับนี้เป็นสมบัติส่วนตัวแล้ว (ท่านจะมีประวัติส่วนตัวอย่างไรและออกไปนอกราชอาณาจักรปีใด ข้าพเจ้าไม่มีเวลาสืบสวน) เมื่อท่านกลับออกไปประเทศอังกฤษ ทรัพย์สมบัติของท่านรวมทั้งพระราชพงศาวดารฉบับนี้ ในสมุดฝรั่งหนึ่งเล่ม จึงตกทอดแก่ทายาทในเมื่อท่านวายชนม์ และทายาท (คือ J. Hurst Hayes Esq.) เป็นผู้มอบให้ บริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน เมื่อ พ.ศ.2491 และจากบริติชมิวเซียม ข้าพเจ้าจึงได้ถ่ายไมโครฟิล์มเข้ามายังพระนคร และเมื่อมีการพิมพ์จำหน่ายพระราชพงศาวดารฉบับนี้จึงมีชื่อต่อท้ายว่า ฉบับบริติชมิวเซียม จึงกล่าวโดยย่อดังนี้ อันที่จริงก็เป็นฉบับที่อยู่ในพระนคร เมื่อรัชกาลที่ 5 แต่เขารักษาได้ดีกว่าเรา

ส่วนการจัดลำดับที่สำคัญของพระราชพงศาวดารฉบับนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับพระราชพงศาวดารฉบับอื่นๆ เท่าที่เรามีอยู่ เป็นเรื่องยุ่งยากสักหน่อย เพราะเรามีพระราชพงศาวดารเรียกชื่อต่างๆ กันหลายเล่ม โดยมีผู้นำเข้ามามอบให้รัฐบาลต่างกาลต่างวาระกัน ในที่นี้จะหยิบยกเปรียบเทียบฉบับที่ยังเป็นปัญหาเพียง 2 เล่ม คือ ฉบับที่เรียกว่า “ พันจันทนุมาศ ” และฉบับ “ จักรพรรดิพงศ์ ” ส่วนฉบับอื่นๆ ที่ไม่มีปัญหาโดยมีที่มาแน่นอนแล้วจะกล่าวถึงตอนสรุปในตอนจัดลำดับความสำคัญของพระราชพงศาวดารฉบับต่างๆ เท่าที่มีอยู่ และเราพอรับเข้าไว้ได้ในทำเนียบพระราชพงศาวดาร

พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ และฉบับจักรพรรดิพงศ์ เมื่อกรมศิลปากรอนุญาตให้มีการตีพิมพ์จำหน่าย มีชื่อผิดไปจากพระราชพงศาวดารกรุงสยามว่า พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาและพงศาวดารกรุงธนบุรี เล่มหลังนี้มีสร้อยต่อท้ายว่า “ ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)” มีต้นฉบับอยู่ในหอสมุดแห่งชาติเป็นสมุดข่อย “มีจำนวนสมุดไทยตามลำดับเป็น 22 เล่ม ขาดในระหว่างบ้างบางเล่ม” คำในเครื่องหมายอัญญประกาศเป็นคำของเจ้าหน้าที่หอสมุดแห่งชาติ (คือ คุณตรี อมาตยกุล) ท่านผู้อ่านคงสังเกตจำนวนสมุดไทย 22 นี้ เปรียบกับสมุดไทย 30 เล่ม ในหนังสือ พระราชพงศาวดารกรุงสยาม และ “ขาดในระหว่างบ้างบางเล่ม” คือ มีต้นฉบับไม่ครบ 22 เล่ม

เมื่ออนุญาตให้ตีพิมพ์จำหน่าย และเมื่อราว 10 ปีที่แล้วมา ข้าพเจ้าได้ขออนุญาตเข้าไปตรวจดูต้นฉบับพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ นับต้นฉบับมีอยู่ในเวลานั้นราว 12 เล่มเท่านั้น ถ้าท่านผู้อ่านขออนุญาตเข้าไปตรวจต้นฉบับพงศาวดารนี้ในขณะนี้ (ตุลาคม พ.ศ.2515) ข้าพเจ้าเชื่อว่าต้นฉบับ จะมีเหลือให้ท่านตรวจนับไม่ถึง 10 เล่ม และจำนวนต้นฉบับจะค่อยๆ อันตรธานสูญหายไปเรื่อยๆ จนไม่เหลือให้ตรวจค้นเปรียบเทียบสักวันหนึ่ง นี่เป็นปรากฏการณ์อันธรรมดาสามัญในบ้านเมืองเรา เมื่อมาคิดดูในเรื่องเช่นนี้ เราก็น่าขอบใจ นายแพทย์เฮย์ ที่มีศรัทธาจ้างคนคัดไว้แต่ในรัชกาลที่ ๕ และ บริติชมิวเซียม เป็นผู้รับภาระและรักษาไว้ให้แก่เราท่านทั้งหลาย

ส่วนพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) นั้น ต้นฉบับในหอสมุดแห่งชาติเป็นใบลานจารลงไว้ในใบลาน 18 ผูก “มีข้อความส่วนมากยุติต้องกันกับฉบับหมอบรัดเล เว้นแต่เรื่องในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ” ดังที่เจ้าหน้าที่หอสมุดแห่งชาติทำคำชี้แจงไว้ฉบับหมอบรัดเล” คือพระราชพงศาวดารที่หมอบรัดเลได้รับอนุญาตให้ตีพิมพ์จำหน่ายในรัชกาลที่ 3 “เผดียง” กรมสมเด็จพระปรมานุชิตให้ทรงแก้ชำระจากของเดิม และฉบับที่มีการตรวจแก้ชำระนี้ เมื่อมีการตีพิมพ์จำหน่ายในรัชกาลที่ 4 เรียกกันว่า “ฉบับหมอบรัดเล” และเมื่อกระทรวงศึกษาธิการนำมาใช้ในโรงเรียนรัฐบาลในรัชกาลที่ 5 เรียกกันว่า “ฉบับพิมพ์ 2 เล่ม” ในบทตามนี้จะขอเรียกว่า “ฉบับรัชกาลที่ 3” เพราะเป็นการตรวจแก้ชำระในรัชกาลนั้น

ความสำคัญของการเปรียบเทียบต้นฉบับพงศาวดารจึงมาอยู่ที่ พระราชพงศาวดารกรุงสยาม กับฉบับ พันจันทนุมาศ (เจิม) ว่าหนังสือ 2 เล่มนี้ ฉบับใดเป็นฉบับแท้ของรัชกาลที่ 1 เพราะจากรัชกาลที่ 1 ในแผ่นดินสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนี้เองที่เรามีพระราชพงศาวดารไว้เป็นหลักแผ่นดิน ให้อนุชนคนรุ่นหลังได้ยึดถือเพื่อศึกษาความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของชาติไทย

วิธีสอบหาความจริงว่าหนังสือเก่าแก่ 2 เล่มนี้ ฉบับใดที่เราน่าจะยึดถือเป็นฉบับหลัก (ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า นี่เป็นวิธีการของข้าพเจ้าซึ่งท่านผู้อ่านอาจไม่เห็นด้วยก็ได้) ข้าพเจ้าจะขอหยิบยกพิจารณาข้อความที่ปรากฏใน “บานแผนก” ที่ปรากฏในหน้าแรกของพงศาวดารทั้ง 2 เล่มนี้โดยจะอ้างจากฉบับที่มีการตีพิมพ์จำหน่ายก่อนคือ ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)

จากพระราชพงศาวดาร ฉบับ พันจันทนุมาศ (เจิม) ตีพิมพ์ไว้เป็นภาคที่ 64 ในชุดประชุมพงศาวดาร เมื่อ พ.ศ.2503 ปรากฏข้อความในบานแผนกไว้ดังนี้

“ ศุภมัสดุ ศักราช 1157 ปีเถาะสัปตศก สมเด็จพระบรมธรรมมิกมหาราชาธิราช พระเจ้าอยู่หัวผ่านถวัลราชย์ ณ กรุงเทพทวาราวดี ศรีอยุธยา เถลิงพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงชำระพระราชพงศาวดาร ” แล้วก็เริ่มเรื่องราวตอนแรกสร้างกรุงศรีอยุธยา เมื่อศักราช 712 ปีขาลโทศก (หน้าแรก ฉบับ พันจันทนุมาศ)

จากพระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับบริติชมิวเซียม (สำนักพิมพ์ก้าวหน้าตีพิมพ์จำหน่าย เมื่อ พ.ศ.2507) มีบานแผนก 2 ตอน

“ ศุภมัสดุ จุลศักราช 1157 ปีเถาะสัปตศก สมเด็จพระบรมธรรมมิกราชาธิราชเจ้าอยู่หัว ผู้ผ่านถวัลยราชย์ ณ กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา เถลิงพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงชำระพระราชพงศาวดาร ตั้งแต่พระรามาธิบดีสร้างกรุงศรีอยุธยาลำดับกษัตริย์ลงมา 11 องค์ ถึงพระไชยราชาจนจับขุนวรวงศา แม่ศรีสุดาจันทร์ฆ่าเสีย แล้วหงสาวดียกทัพมาถึงแล้วกลับคืนไป พระมหาจักรพรรดิให้เตรียมกองทัพไปเมืองละแวก (หน้า 51, 52 ในฉบับพิมพ์พระราชพงศาวดารกรุงสยาม) พิจารณาแต่ข้อความที่ยกมาเปรียบเทียบ ตามคำใน “ บานแผนก ” จากหนังสือเก่าแก่ 2 เล่มนี้ ข้าพเจ้าขอสรุปความเห็นดังนี้

1. ข้อความสำคัญทั้ง 2 เล่ม คล้ายคลึงจนเกือบเหมือนกัน มีระบุศักราชตรงกัน พระนามกษัตริย์ตรงกัน ทรงประกอบกิจอันเดียวกัน คือชำระพระราชพงศาวดาร

2. การจะชำระพระราชพงศาวดาร หมายความว่า มีพระราชพงศาวดารเดิมอยู่แล้ว จะมีมาแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือก่อนหน้านั้นไม่ได้บอกไว้ แต่อย่างน้อยจะต้องมีพระราชพงศาวดารมาแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี

3. ฉบับพระราชพงศาวดารกรุงสยามฯ มีบานแผนกสมบูรณ์กว่า โดยมีข้อความเพิ่มเติมออกไปอีก 4 บรรทัด (ตามฉบับสำนักพิมพ์ก้าวหน้าตีพิมพ์) และเพราะคำว่า “ศักราช” ใน ฉบับพันจันทนุมาศ ในฉบับบริติชมิวเซียม ใช้คำว่า “จุลศักราช” เพื่อตัดปัญหาในเรื่องนี้ ประกอบกับมีข้อความพิสดารออกไปอีก 4 บรรทัด เป็นการอธิบายให้รายละเอียดออกไปกว่าฉบับ พันจันทนุมาศ ข้าพเจ้าขอสรุปไว้ชั้นหนึ่งก่อนว่า เมื่อจุลศักราช 1157 ปีเถาะอันเป็นปีที่ 14 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระองค์ทรงชำระพระราชพงศาวดารซึ่งมีต้นฉบับมาแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่นี้เป็นข้อความในบานแผนกตอน 2 (คือแต่หน้า 51 ในพระราชพงศาวดารกรุงสยามฯ) ยังมีข้อความในบานแผนกตอน 1 อยู่ในหน้าแรกของพระราชพงศาวดารฉบับนี้คือ

“วันที่ ๕ฯ ๒ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๖๙ ปีเถาะ นพศก เพลาค่ำเสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ล้นเกล้าฯ กรมพระราชวังบวรฯ ทูลเกล้าถวายเล่ม ๑” แล้วก็เริ่มเรื่องราวว่า

“และในเรื่องราวเดิมเหตุนั้นยังมีดาบสทั้งสองชื่อพระสัชนาลัย และเจ้าฤาษี สิทธิมงคลพี่น้อง ....สั่งสอนว่าสูทั้งหลายอย่างประมาท จงช่วยกันทำกำแพงกันตัว อย่างมัวเมาแก่ตัณหา สาตราเร่งตกแต่งไว้จันพงศ์พราหมณ์สืบไปในภายหน้า จะเป็นกระหัสจะตัดจุกเกล้าเหล่าชี...มีมหาธรรมราชเป็นประธาน ให้ชีพ่อพราหมณ์ตัดเอาแลงมาทำกำแพง สถาปนาพระนคร 7 ปี พระฤษีทั้งสองจึงประสาทนามว่า เมืองสวรรค์เทวโลก...แล้วพระดาบสทั้งสองจึงอภิเษกพระธรรมราชให้เป็นพระยาธรรมราช และนำเอาท้าวเทวีอันเป็นหลานสาวแห่งนางโมคัลลีบุตร ในบ้านหริภุญไชยมาเป็นอัครมเหสี... ”

ข้อความในบานแผนกหน้าแรกของฉบับบริติชมิวเซียม และดำเนินเรื่องราวแต่แรกสร้างเมือง “สวรรค์เทวโลก” และพระฤาษีสัชนาลัยและสิทธิมงคลอภิเษกพระธรรมราช และนางท้าวเทวีบ้านหริภุญไชยเป็นพระเจ้าแผ่นดินและมเหสี และมีเรื่องราวก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี อยู่ในฉบับพิมพ์ราว 20 หน้ากระดาษเช่นนี้ เป็นเรื่องใหม่ในพระราชพงศาวดาร (แต่เป็นเรื่องเก่าในพงศาวดารเหนือ) และด้วยเหตุนี้เอง อธิบดีกรมศิลปากรในเวลานั้น (คือคุณธนิต อยู่โพธิ์) จึงใช้เวลาในการพิจารณาตัดสินใจว่าจะขอให้ข้าพเจ้าถ่ายไมโครฟิลม์มาทั้ง 30 เล่มสมุดไทยหรือไม่ และไมโครฟิลม์ดังว่าจึงมาเป็นสมบัติของหอสมุดแห่งชาติอีก 2 ปีต่อมา หลังจากเสนอมาให้ทราบแต่ พ.ศ.2501

จากบานแผนกตอน 1 ในพระราชพงศาวดารกรุงสยาม ข้าพเจ้าขอสรุปความเห็นดังนี้ :-

  • สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชกรมพระราชวังบวรฯ ได้นำขึ้นทูลเกล้าถวาย แด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ข้อความเดิมก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยา พระองค์ทรงพิจารณาแล้ว ให้จัดเป็นข้อความเบื้องต้นในพระราชพงศาวดารกรุงสยาม อยู่ในสมุดข่อยเล่มที่ 1 ในจำนวนทั้งหมด 30 เล่มด้วยกัน
  • ปีทูลเกล้าถวายพระราชพงศาวดารเล่มต้นนี้อยู่ในปีรัชกาลที่ 26 ในแผ่นดิน ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับ บริติชมิวเซียม จึงจัดเข้าอยู่ใน พระราชพงศาวดารของทางราชการแต่รัชกาลที่ 1 แห่งยุครัตนโกสินทร์ มีต้นฉบับครบถ้วนให้ตรวจสอบพิจารณาศึกษาได้ทั่วกัน จบข้อความเอาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงเถลิงถวัลยราชได้เป็นปีที่ 3 ในจุลศักราช 1146 มะโรงศก

การคัดเขียนเพื่อเก็บรักษาพระราชพงศาวดาร คงทำกันเป็นหลายชุด และเก็บรักษาไว้ต่างที่กัน แม้จะเก็บรักษาไว้ในพระบรมมหาราชวังด้วยกันทุกชุด และเมื่อสิ้นรัชกาลที่ 1, ที่ 2, และมาถึงรัชกาลที่ 3 ตอนปลาย, รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง “ เผดียง ” กรมสมเด็จพระปรมานุชิตให้ทรงแก้ไขชำระพระราชพงศาวดาร เจ้าหน้าที่คงหยิบฉบับที่รัชกาลที่ 1 ทรงชำระในปีที่ 14 (ในรัชกาลที่ 1) มาส่งมอบถวายให้ทรงชำระ ฉบับทรงชำระจึงเริ่มเรื่องราวแต่แรกสร้างกรุงศรีอยุธยา จนเกิดมีการตีพิมพ์จำหน่ายในรัชกาลที่ 4 และต่อมาเรื่องราวพระฤาษี 2 องค์ และพระธรรมราช เมืองสวรรคโลกและนางเทวี บ้านหริภุญไชย จึงหลงหูหลงตาไปกว่า 100 ปี จะมีผู้พบเห็นก็แต่ นายแพทย์ เฮย์ ในรัชกาลที่ 5 และยังนำไปเก็บรักษาไว้ที่บ้านเดิมในประเทศอังกฤษเสียด้วย เพิ่งจะมาปรากฏแก่สายตาประชาชนใน พ.ศ.2507 (ตามฉบับพิมพ์จำหน่ายของสำนักพิมพ์ก้าวหน้า) อันเป็นปีที่ 18 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ในราชจักรีวงศ์

ก็ในเมื่อเจ้าหน้าที่ในรัชกาลที่ 3 หยิบฉบับที่รัชกาลที่ 1 ทรงชำระแต่ปีที่ 14 ในรัชกาลมาส่งมอบถวายกรมสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตให้ทรงชำระจนเกิดฉบับพิมพ์ 2 เล่มหรือฉบับหมอบรัดเลเป็นผลตามมา นี่เป็นเรื่องในรัชกาลที่ 3 ซึ่งอาจเป็นเช่นนี้หรือจะเป็นด้วยเหตุผลอย่างอื่นก็ได้ แต่ในรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท จะไม่ทรงทราบทีเดียวหรือว่ามีพระราชพงศาวดารอยู่อีกฉบับหนึ่งในรัชกาลที่ 1 คือฉบับที่ทรงรับจากการทูลเกล้าถวายของล้นเกล้าฯ กรมพระราชวังบวรฯ ในปีที่ 26 ในรัชกาล แม้จะกล่าวว่า สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิต ประทับอยู่ที่วัดพระเชตุพน แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง หนังสือสำคัญที่เก็บรักษาไว้ในพระบรมมหาราชวัง พระองค์จะไม่ทรงทราบเอาทีเดียวหรือ ปัญหาเช่นนี้ข้าพเจ้าตอบไม่ได้ (ข้าพเจ้าจนปัญญาต้องขอนิ่งไม่ตอบ) เช่นเดียวกับปัญหาที่ว่า นายแพทย์ เฮย์ ในรัชกาลที่ 5 ไปพบเห็น พระราชพงศาวดารกรุงสยาม เข้าได้อย่างใด ไปพบเห็นเข้าที่ไหนในหอสมุดวชิรญาณที่สนามหลวง เช่นนั้นหรือ ปัญหาเหล่านี้ข้าพเจ้าก็ตอบไม่ได้เช่นกัน จึงขอประกาศบอกกล่าวให้ท่านทั้งหลายผู้สนใจให้ช่วยค้นหาคำตอบด้วย เพราะคำตอบที่ถูกต้องเหล่านี้จะมีส่วนสำคัญ ให้วิชา Historiography ของไทยเรามีหลักฐานมั่นคงสืบไป ได้พูดถึงพระราชพงศาวดารฉบับรัชกาลที่ 1, ฉบับ รัชกาลที่ 3 และฉบับรัชกาลที่ 4 (ดังเรียกกันว่า ฉบับพระราชหัตถเลขา) มาพอสมควรแล้ว ข้าพเจ้าขอแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมบางประการเกี่ยวกับคำว่า “ พระราชศรีสวัสดิ์ ” ซึ่งปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียม และในที่อื่นๆ

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคมศกนี้ หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เขียนบทความไว้ใน “ สยามรัฐ ” หน้า 5 อ้างถึงเรื่องราวในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีอู่ทอง ตอนทรงส่งพระราชโอรส สมเด็จพระราเมศวรให้เป็นแม่ทัพยกไปปราบ “ ขอมแปรพักตร์ ” และสมเด็จพระราเมศวรไปทรงเสียที “ เสียพระศรีสวัสดิ์แก่ข้าศึก ” ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ได้ออกความเห็นว่า พระศรีสวัสดิ์ที่เสียไปแก่ข้าศึกครั้งนั้นคงเป็นเจ้านายเขมรที่มาฝักใฝ่อยู่กับกรุงศรีอยุธยา

เมื่อข้าพเจ้าอ่านข้อความตอนนี้และความเห็นของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ประกอบ ข้าพเจ้าก็ระลึกถึงความเห็นของชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งชื่อ เลอ แคลร์ ( Le Clere) ผู้แต่งพงศาวดารกัมพูชา แสดงไว้เกี่ยวกับ “ พระศรีสวัสดิ์ ” องค์นี้ว่าคงเป็นเจ้านายไทย คือเป็นพระอนุชาของสมเด็จพระราเมศวร ข้าพเจ้าขอเสนอข้อคิดเห็นในเรื่องนี้ คือ นอกจากมี “ พระศรีสวัสดิ์ ” ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีอู่ทองแล้ว ยังมี “ พระศรีสวัสดิ์ ” (หรือข้อความใกล้เคียงกัน) อยู่ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีอีก 3 แห่ง คือ

1. ในจดหมายรายวันทัพสมัยกรุงธนบุรี ตอนปราบเมืองพุทธไธมาศและเขมร ประชุมพงศาวดารภาคที่ 66 (ฉบับคุรุสภาหมายเลข 1840) “ ...แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า นายทัพนายกองทั้งปวงจะรบญวนนั้นให้เข้าไปเป็นกอง 10 ลำบ้าง 5 ลำบ้าง ...ผู้ใดรั้งรอย่อหย่อนให้เสีย ราชศรีสวัสดิ์ นั้น ให้นายทัพผู้ใหญ่ตัดศีรษะเสียบอย่าให้ดูเยี่ยงอย่างกัน... ” (หน้า 242 ฉบับคุรุสภา)

2. ในพระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับบริติชมิวเซียม (ฉบับสำนักพิมพ์ก้าวหน้า) “ ...ครั้น ณ วัน ปีชวด สัมฤทธิ์ศก เพลาเช้า 2 โมงเศษ เสด็จถึงเมืองชลบุรี มีพระราชบริหารให้พิพากษาโทษพิฆาตพระยาอนุราช หลวงพล ขุนอินเชียง ซึ่งกระทำความผิดด้วยโจรกรรมตีชิงสำเภาลูกค้าวาณิช กระทำทุจริตให้เสียพระเกียรติยศพระ ราชศรีสวัสดิ์ นั้น ตามกฎพระอัยการ... ” (หน้า 661) ถ้าท่านผู้อ่านตรวจดูเรื่องราวในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จะพบข้อความใกล้เคียง “ พระศรีสวัสดิ์ ” อีกหลายแห่ง (ดังหน้า 225 ฉบับครุสภา ในจดหมายรายวันทัพสมัยกรุงธนบุรี)

“ ...วาดทัพถอยให้เสีย พระศรีสวัสดิ์เสียคน เสียเรือ 11 ลำ... ” การที่สมเด็จพระราเมศวรเสีย “ พระศรีสวัสดิ์ ” ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีอู่ทอง และข้าทหาร นายทัพ นายกองในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี “ เสียราชศรีสวัสดิ์ ” ดังได้อ้างมา ข้าพเจ้าเข้าใจว่าหมายถึง เสียพระเกียรติยศไม่ใช่เสียเจ้านายพระราชวงศ์องค์ใดเลย การที่ผู้อ่านพระราชพงศาวดารดังข้อความว่า “ พระราเมศวรได้ฤกษ์ยกพล 5,000 ไปถึงกรุงกัมพูชาธิบดีเพลาพลบค่ำ พระยาอุปราช ราชบุตรพระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี... ก็ออกโจมตีทัพ ทัพหน้ายังไม่ทันตั้งค่ายก็แตกฉานมาปะทะทัพหลวงเสีย พระศรีสวัสดิ์ แก่ชาวกัมพูชาธิบดี... ” ก็ออกโจมตีทัพ ทัพหน้ายังไม่ทันตั้งค่ายก็แตกฉานมาปะทะทัพหลวงเสีย พระศรีสวัสดิ์ แก่ชาวกัมพูชาธิบดี... ” แล้วจะเข้าใจเอาว่าเสียเจ้านายทัพหน้าทรงพระนาม “ พระศรีสวัสดิ์ ” ก็เป็นเรื่องน่าเข้าใจเช่นนั้นได้ แต่เมื่อท่านติดตามอ่านเรื่องราวในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี คำ “ ศรีสวัสดิ์ ” หรือคำใกล้เคียง ก็จะปรากฏให้พบเห็นบ่อยๆ และในไม่ช้าท่านก็จะเข้าใจได้เองว่า สำนวนนี้คงเป็นเช่นของอาลักษณ์คนใดคนหนึ่งชอบใช้ เพื่อให้หมายถึงว่า เป็นการพ่ายแพ้เสียพระเกียรติพระมหากษัตริย์ หรือชาวกรุงศรีอยุธยาเท่านั้นเอง

เมื่อพูดถึงสำนวนโวหารของท่านผู้แต่งพงศาวดารโดยเฉพาะในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และต่อมาชื่ออาลักษณ์ 2 ท่าน ควรอยู่ในความสนใจของพวกเรา นักศึกษาทั้งหลาย ท่านแรกชื่อ แก้ว ท่านที่สองชื่อ ทองอยู่ ท่านชื่อ แก้ว เป็นพระอาลักษณ์ในรัชกาลพระเจ้าตาก แล้วออกบวชได้เป็นพระราชาคณะ นาม พระรัตนมุนี เมื่อเปลี่ยนแผ่นดิน ร.1 ดำรัสให้สึกเป็นฆราวาส แล้วโปรดให้เป็นพระอาลักษณ์ตามเดิม จนในปีที่ 3 ในรัชกาล ได้เป็นพระยาธรรมปุโรหิตจางวางราชบัณฑิต ท่านผู้นี้คงมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยมากกับสำนวนโวหาร “ เสียพระศรีสวัสดิ์แก่ข้าศึก ”

ส่วนพระอาลักษณ์คนที่ 2 ที่ชื่อ ทองอยู่ นั้น เป็นสมณะในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้สมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระวันรัต สถิตย์อยู่วัดบางว้าใหญ่ ได้เป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรแด่ ร.2 ในขณะทรงพระเยาว์ ระยะนั้นเหตุการณ์มัวหมองแก่พระศาสนาเกิดขึ้นในปลายแผ่นดิน ครั้นลุแผ่นดินใหม่โปรดให้สึกสมเด็จพระวันรัตออกเป็นฆราวาส แต่ในหลวงทรงเสียดายในความรอบรู้ของท่าน จึงโปรดตั้งให้เป็นหลวงอนุชิตพิทักษ์ แล้วอีก 2 ปีต่อมา โปรดให้เลื่อนเป็นพระยาพจนาพิมล ให้ช่วยราชการในกรมพระราชบัณฑิต ประวัติของพระอาลักษณ์ทั้งสองปรากฎในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ฉบับคุรุสภา หน้า 27 และหน้า 80

ยังมีเรื่องราวปลีกย่อยเกี่ยวกับพระยาพจนาพิมล (ทองอยู่) ต่อมาในรัชกาลที่ 2 คือ ท่านได้ถวายธิดาแก่ล้นเกล้า ร.2 แต่พระองค์ไม่อาจรับได้ “ ด้วยเป็นลูกสาวอาจารย์ เกรงจะเป็นที่ครหาได้ ” (ฟื้นความหลัง : เล่ม 2, หน้า 64) จึงทรงมอบให้เป็นหม่อมห้ามในพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ คือ รัชกาลที่3 หม่อมห้ามธิดาพระยาพจนาพิมลดังว่า คือเจ้าจอมมารดาจอมใหญ่ เป็นพระมารดากรมขุนราชสีหวิกรมต้นสกุลชุมสาย และพระธิดา พระองค์เจ้าปฏษฎางค์ ชุมสาย ผู้ทรงมีเรื่องราวน่าสนใจใน ร.4 ก็อยู่ในสกุลนี้

ข้าพเจ้าระบุนามพระอาลักษณ์ 2 ท่าน ใน 2 รัชกาลมาเพียงเท่านี้ โดยไม่กล่าวอ้างว่าท่านทั้งสองหรือคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของสำนวนโวหาร “เสียพระศรีสวัสดิ์แก่ข้าศึก” จนเป็นปัญหามานานว่า ผู้เขียนหมายความอย่างไรแน่ จากอาลักษณ์จำนวนไม่น้อยมาเหลือเพียงอาลักษณ์ 2 ท่านนี้ก็ทำให้มีปัญหา “ใครเป็นผู้แต่งพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา” แคบเข้ามากแล้ว อย่างไรก็ดี เราก็พอสรุปได้ว่า การแต่งพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยานับแต่ปีแรกตั้งในจุลศักราช 712 ขาลศกนี้ แต่งขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสิน มาแต่งจบจนถึงเรื่องราวในรัชกาลที่ 1 ในจุลศักราช 1146 มะโรงศก อันเป็นปีที่ 3 ในรัชกาลสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ และได้มีการนำขึ้นทูลเกล้าถวายในจุลศักราช 1169 เถาะศก อันเป็นปีที่ 26 ในรัชกาลสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

แต่ใครคือผู้แต่ง หรืออาจช่วยกันแต่งในจำนวนอาลักษณ์ของ 2 รัชกาลนี้ จะเป็นอาลักษณ์ชื่อ แก้ว และหรือ ทองอยู่ ข้าพเจ้าไม่มีข้อมูลที่จะชี้ให้กระจ่างได้ จึงต้องทิ้งไว้เป็นปัญหาเปิดต่อไป

หมายเหตุ

ในขณะที่เข้าฟังการบรรยายประวัติศาสตร์สยาม จากศาสตราจารย์ D.G.E. Hall ในราวเดือนกันยายน ค.ศ.1954 ที่ SOAS, มหาวิทยาลัยลอนดอน ปัญหาเมืองออกหรือประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา เป็นชนวนให้เกิดปัญหานี้ขึ้นว่า ใครคือผู้แต่งพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา? เค้าของปัญหาว่าใครคือผู้แต่งพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเกิดขึ้นดังนี้

ศาสตราจารย์ ฮอลล์ บรรยายว่า เมืองประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา ในรัชกาลผู้ก่อตั้งราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา (คือสมเด็จพระรามาธิบดีอู่ทอง ครองราชย์ พ.ศ.1350-1369) จะมีเมืองมะละกาไม่ได้ เพราะขณะนั้นเมืองมะละกายังไม่ตั้งขึ้น ต้องรออีก 35-53 ปี เมื่อมะละกา ได้ตั้งเป็นบ้านเป็นเมืองแล้ว จึงน่าจะเป็นความจริงได้

ข้าพเจ้าเข้าไปซักไซร้ไล่เลียงกับท่านชั่วขณะหนึ่ง ก็เห็นจริงตามคำบรรยายของท่าน และก่อนจะจากกันในวันนั้น ท่านได้กล่าวกับข้าพเจ้าว่า “Who wrote your History of Siam, you should find out. This is very important, for the better undertstanding of the history of your country.” ท่านจะใช้คำพูดเช่นนี้หรือไม่ ข้าพเจ้าไม่ยืนยันเพราะเวลาก็ผ่านมานานกว่า 20 ปีแล้ว

แต่จากศาสตราจารย์ ดี. จี. อี. ฮอลล์ ใน ค.ศ.1954 ข้าพเจ้าเก็บปัญหานี้ไว้ในสมองว่าใครคือผู้แต่งพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา... และจนบัดนี้ เกือบ 25 ปีที่ผ่านมา ปัญหานี้ยังวนเวียนอยู่ในสมองของข้าพเจ้าไม่รู้วาย พร้อมทั้งปัญหาใครคือผู้แต่งพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งคำตอบจะปรากฏในท้าย

หมายเหตุนี้ ปัญหาของประเทศข้างเคียง เช่น มลายู ก็เป็นผลพลอยได้ คือผู้แต่ง พงศาวดารมลายู เขียนบอกไว้เองว่า ท่านแต่งขึ้นในศักราช อิสลาม 1021 (ตรงกับ ค.ศ.1612) เสนาบดีคลังหรือ Bandhara ผู้นี้สืบครองตำแหน่งจาก พ่อ ปู่ และบรรพบุรุษมาหลายชั่วคน

ส่วนพงศาวดารจีนฉบับหอแก้วของพม่า ผู้แต่งคงเป็นคณะบุคคลได้รับโองการจากกษัตริย์พม่าในรัชกาลพระเจ้า Bagyidaw (จักกายแมง) หรืออาจก่อนหน้านั้น คือในรัชกาลพระเจ้า Bagyidaw (จักกายแมง) หรืออาจก่อนหน้านั้น คือในรัชกาลพระเจ้า Bodawpaya (พระเจ้าปดุง) ให้รวบรวมเรื่องราวเป็นพงศาวดารพม่าขึ้นทูลถวายใน ค.ศ.1837

ส่วนพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระราชวังบวรฯ ได้นำขึ้นทูลเกล้าถวาย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ในจุลศักราช 1169 หรือ ค.ศ.1807

เพราะฉะนั้น พงศาวดารมลายู จึงแต่งตั้งก่อนใน ค.ศ.1612 ถัดมาก็คือ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเมื่อ ค.ศ.1807 และท้ายสุดใน 3 ประเภทก็คือ พงศาวดารฉบับหอแก้วของพม่า ใน ค.ศ.1837 อันเป็นปีสุดท้ายในรัชกาลพระเจ้าจักกายแมง หรือ Bagyidaw

ในการสืบแสวงหานามของผู้แต่งพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ที่มีชื่อเรียกต่างๆ กันว่า ฉบับพันจันทนุมาศ ฉบับจักรพรรดิพงศ์ หรือแม้แต่ ฉบับบริติชมิวเซียม และพระราชพงศาวดารเหล่านี้ได้มีการชำระแก้ไขสิ่งบกพร่องในรัชกาลที่ 3 และที่ 4 ในสมัยรัตนโกสินทร์มาปรากฎเป็นชื่อใหม่ว่า ฉบับปรมานุชิต ฉบับพิมพ์สองเล่ม และ ฉบับพระราชหัตถเลข า ต้นเค้าส่วนใหญ่ย่อมมาจากฉบับเดียวกันคือฉบับที่มีการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ในปีที่สมเด็จพระโอรสาธิราชทรงดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรฯ ใน พ.ศ.2350 หรืออีกนัยหนึ่ง ต้นฉบับได้เขียนเสร็จสิ้นและนำขึ้นทูลเกล้าถวายในปลายรัชกาลสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ และการชำระทำขึ้นในรัชกาลที่ 3 และที่ 4 ฉบับชำระในรัชกาลที่ 4 เรียกกันว่าพระราชพงศาวดารฯ ฉบับราชหัตถเลขา จึงเป็นฉบับเก่าล่าหลังสุดก่อนที่จะได้มีการชำระสมัยใหม่ในรัชกาลที่ 9 โดยคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย แรกตั้งใน พ.ศ.2495

การเริ่มต้นของพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาทุกฉบับเว้นฉบับบริติชมิวเซียม เริ่มต้นในที่เดียวกัน คือปีตั้งกรุงศรีอยุธยาในจุลศักราช 712 ปีขาลโทศก แต่เรามีฉบับบริติชมิวเซียม ซึ่งเริ่มเรื่องก่อนปีตั้งกรุงศรีอยุธยาไปนานไกล คือเริ่มแต่ดาบสทั้ง 2 ชื่อ พระสัชนาลัยและพระฤาษีสิทธิมงคล อภิเษกบาธรรมราชให้เป็นพระยาธรรมราชครองเมืองสวรรค์เทวโลก และนำเอานางเทวีในบ้านหริภุญไชยมาเป็นอัครมเหษี ส่วนอีกด้านหนึ่ง คือเมืองเชียงแสน พระเจ้าเมืองเชียงแสนยกทัพลงมารบเอาเมืองพิษณุโลก ทางพิษณุโลกถวายราชธิดา พระเจ้าเมืองเชียงแสนมีความยินดีให้เลิกทัพกลับไป เกิดราชบุตร 2 องค์ จากการสมรสนั้น องค์หนึ่งได้มาครองเมืองลพบุรี และ ณ เมืองลพบุรีนี้เป็นแหล่งที่มาของเจ้าอู่ทองผู้ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน และพระองค์อพยพราษฎรลงมาทางใต้ มาสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ในจุลศักราช 712 ปีขาลโทศก ความต่อจากนั้นก็เป็นเช่นเดียวกับเรื่องราวในพระราชพงศาวดารฉบับอื่นๆ ข้อความที่ผิดไปจากเรื่องราวในพระราชพงศาวดารฉบับอื่นมีอยู่ราว 20 หน้า (ขนาด 8 หน้ายก) แสดงต้นเค้าที่มาของกรุงศรีอยุธยามาจาก 2 ทาง คือ หริภุญไชย สวรรคโลก และเชียงแสนลพบุรี เรื่องราว 20 หน้านี้จะถูกผิดอย่างไร ก็ยังเป็นเรื่องราวที่ได้มาจาก Tradition เป็นคติโบราณของเรา

ครั้นพอเริ่มการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ในจุลศักราช 712 ปีขาลโทศก แล้วเรื่องราวก็ดำเนินมาคล้อยตามกันทุกฉบับผ่าน 417 ปีแห่งสมัยอยุธยา มาเข้าสมัยธนบุรีจนจบรัชกาล ต่อด้วยเรื่องราวในรัชกาลสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าและฉบับต่างๆ จบเรื่องราวต่างกันดังนี้

ฉบับบริติชมิวเซียม จบเรื่องราวเอาใน จุลศักราช 1146 เมื่อพระเจ้าปดุงอันเป็นพระเจ้าอังวะ ตีเมืองยะไข่ได้ก็ถอยทัพกลับกรุงอังวะ อันเป็นปีที่ 3 ในรัชกาลสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

ฉบับพระราชหัตถเลขา จบเรื่องราวเอาในจุลศักราช 1152 ปีที่นายบุญเรือง “จุดเพลิงเผาตัวเอง” เป็นพุทธบูชาที่วัดแจ้ง อันเป็นปีที่ 9 ในรัชกาลสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

และในฉบับพระราชหัตถเลขา ฉบับตีพิมพ์โดยบริษัทโอเดียนสโตร์ พ.ศ.2495 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงนิพนธ์เพิ่มเติมจนตลอดรัชกาลที่ 1 คือทรงนิพนธ์เรื่องราวต่อจากจุลศักราช 1152 จนสิ้นรัชกาลที่ 1 ในจุลศักราช 1171 ปีที่ 28 ในรัชกาลสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปีที่จบพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาตามพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็คือปีสมโภชพระ แก้วมรกต และปีนั้นก็เสด็จสวรรคต ทรงมีพระชนมายุได้ 74 พรรษา

การที่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา จบลงด้วย 3 วาระแตกต่างกันเช่นนี้ ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า ยกเว้นการจบเรื่องราวในวาระที่ 3 อันเป็นพระนิพนธ์ทรงต่อของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพนั้น การจบเรื่องราวในวาระแรก คือ จุลศักราช 1149 และการจบเรื่องราวในวาระที่ 2 ในจุลศักราช 1152 อาจเป็นงานของพระอาลักษณ์คนแรก เจ้ากรมพระอาลักษณ์คนต่อมาดำเนินเรื่องราวต่อ และมาจบเรื่องราวในจุลศักราช 1152 ต่อจากนี้จนสิ้นรัชกาลที่ 1 ไม่มีผู้ใดเขียนเรื่องราวต่อจนรัชกาลที่ 5 สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ มาทรงนิพนธ์ต่อเองในรัตนโกสินทร์ศก 120 (หรือ ค.ศ.1901) ในรัชกาลที่ 5 ข้อความ 160 หน้า (จากหน้า 322 จนถึงหน้า 482) ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มาทรงนิพนธ์เสริมต่องานของอาลักษณ์ 2 ท่าน ในรัชกาลที่ 1 นี้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่ายังเป็น virgin soil ยังไม่มีใครแตะต้องชำระ หรือปรับปรุงแก้ไขจนทุกวันนี้

แต่งานระยะ 3 หรือแม้งานระยะ 2 เป็นงานเสริมต่อไม่ใช้งานริเริ่ม ซึ่งเป็นงานหลักของผู้แต่งพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ในงานหลักของผู้แต่งคนแรกเกี่ยวกับพระราชพงศาวดาร มีความจำเป็นต้องตั้งข้อสมมติฐาน คือสมมติฐานที่ว่าผู้แต่งงานหลักเห็นจะเริ่มเรื่องราวพระราชพงศาวดารเอาก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยา ในจุลศักราช 712 คือเริ่มเรื่องแต่ฤาษีผู้สร้างเมืองสวรรค์เทวโลก และความสัมพันธ์ระหว่างเมืองสวรรค์เทวโลกกับเมืองหริภุญไชย คือ 20 หน้าแรก ในฉบับบริติชมิวเซียม และเมื่อมีการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีแล้ว เรื่องราว 417 ปี ก็ดำเนินมาจนถึงรัชกาลกรุงธนบุรี และ 4 ปีแรกของรัชกาลสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าหรือจุลศักราช 1146 นี่เป็นการจบงานหลักของผู้แต่งพระราชพงศาวดารราชบัณฑิต ผู้แต่งงานระยะแรกนี้ควรได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้แต่งพระราชพงศาวดารอย่างแท้จริง ถ้าเช่นนั้น ราชบัณฑิตผู้แต่งพระราชพงศาวดารฯ ระยะ 2 คือตั้งแต่ปีที่ 4 จนถึงปีที่ 9 จึงเป็นเพียงผู้ช่วยหรือผู้เสริมต่อ และด้วยเกณฑ์วินิจฉัยเดียวกันนี้ งานพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ควรจัดเข้าอยู่ในประเภทเดียวกัน เพราะฉะนั้นถ้าเราติดตามสืบค้นได้ว่า ใครคือผู้แต่งพระราชพงศาวดารหลักในระยะ 1 ได้ เราก็จะได้คำตอบที่เราตั้งคำถามไว้

ในการสอบสวนวินิจฉัยหาคำตอบในปัญหาที่ว่า ใครคือผู้แต่งพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ข้าพเจ้าในหมายเหตุนี้จะเว้นกล่าวถึงสำนวน “ เสียพระศรีสวัสดิ์แก่ข้าศึก ” ที่ได้เสนอไว้ในบทความเดิมที่ได้เสนอไว้ในวารสาร บัณฑิตวิทยาลัย จุฬา ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 ประจำเดือน ก.ค. – ธ.ค.2515 ดังมีรายละเอียดดังปรากฏในบทความหมายเลข 4 ของหนังสือนี้ และในหมายเหตุนี้ ข้าพเจ้าจะหยิบยกข้อความในพระราชพงศาวดารมาอ้างอิงเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณาว่า ผู้แต่งพระราชพงศาวดารแต่งขึ้นในรัชกาลใด ส่วนใครคือผู้แต่งนั้น จำต้องยังพิจารณาจากสำนวน “ เสียพระศรีสวัสดิ์แก่ข้าศึก ” อยู่ตามเดิม เพราะใครเป็นเจ้าของสำนวน “ เสียพระศรีสวัสดิ์แก่ข้าศึก ” ข้าพเจ้าก็ยังยืนยันว่า ท่านผู้นั้นคือผู้แต่งพระราชพงศาวดารที่จบลงในจุลศักราช 1146 อันเป็นปีที่ 3 ในรัชกาลสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ

ต่อจากนี้ ถึงคราวรวบรัดตอบปัญหาเป็น 2 ข้อ ข้อหนึ่งคือ พระราชพงศาวดารฉบับทูลเกล้าถวายใน จ.ศ.1146 ใครเป็นผู้เขียนขึ้น และเขียนขึ้นเมื่อใด ส่วนปัญหา 2 คือ พระราชพงศาวดารฯ ฉบับทูลเกล้าถวายใน จ.ศ.1152 ใครเป็นผู้เขียนเสริมต่อ จะเห็นได้ว่าทั้ง 2 ผู้เขียนจะต้องเป็นเจ้ากรมอาลักษณ์ในรัชกาลสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ เพราะศักราชทูลเกล้าฯ ถวายก็ตกอยู่ในรัชกาลสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ

ข้าพเจ้าขอเชิญให้ท่านผู้ติดตามปัญหานี้ นำหนังสือเพื่อทดสอบออกมาไว้พิจารณาด้วย เป็นหนังสือ 4 เล่มด้วยกัน คือ 3 เล่มแรก หนังสือประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 64 และ 65 (หรือตามฉบับองค์การค้าของคุรุสภา หมายเลขเล่ม 38-39 และ 40) มีชื่อเป็นพิเศษว่า พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับ พันจันทนุมาศ (เจิม) และหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์

จากหนังสือ 2 เล่มแรก มีบานแผนกบอกไว้ว่าพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับ พันจันทนุมาศนี้ ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในปีจุลศักราช 1157 เริ่มเรื่องราวแต่ปีสถาปนากรุงศรีอยุธยาในปี จุลศักราช 712 ปีขาลโทศก อันเริ่มรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีอู่ทอง แล้วดำเนินเรื่องราว 33/44 รัชกาล จนเสียกรุงในจุลศักราช 1129 ปีกุน นพศก จบ 2 เล่มแรก ต่อด้วยเล่มที่ 3 เป็นฉบับพันจันทนุมาศ เกี่ยวกับสมัยกรุงธนบุรี ข้อความในเล่ม 3 นี้ ขาดตกบกพร่องไม่สมบูรณ์ดัง 2 เล่มแรก และในตอนสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงนำทัพเข้าตีค่ายตะวันออกของพม่าที่โพธิ์สามต้มแตก ตรัสสั่งให้ทำบันได จะเข้าตีค่ายพม่าด้านตะวันตกของพระนายกอง มีข้อความที่ข้าพเจ้าขอคัดมาลงไว้ซึ่งข้อความนี้แสดงว่า การเขียนพระราชพงศาวดารตอนนี้เขียนขึ้นเมื่อใด คือ

“ พระนายกองสะดุ้งตกใจ จึงคิดอ่านให้พระยาธิเบศร์บริรักษ์ผู้เป็นเจ้าพระยาศรีธรรมราช ออกมาถวายบังคมสวามิภักดิ์ ยอมเป็นข้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท... ” (หน้า 28 ในประชุมพงศาวดาร เล่ม 40 ขององค์การค้าของคุรุสภา)

ข้อความสั้นๆ เพียง 2 บรรทัด จากประชุมพงศาวดารฯ 3 เล่ม ตามฉบับ พันจันทนุมาศ นี้มีความสำคัญใหญ่หลวงนัก ซึ่งข้าพเจ้าหวังว่าท่านบรรดานักศึกษาในวิชา “ เขียนประวัติศาสตร์ไทย ” (Thai Historiography) จะได้หยิบยกมาพิจารณาและวินิจฉัยกันอย่างแพร่หลาย เพราะจากจำนวนพันบรรทัดใน พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ จะมีเพียง 2 บรรทัดนี้เท่านั้น ที่จะเป็นกุญแจคลี่คลายปัญหาว่า การแต่งพระราชพงศาวดารตั้งแต่แรกตั้งกรุงศรีอยุธยาจบตอนเสียกรุงและเริ่มรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีผู้แต่งขึ้นเมื่อใด ?

คำตอบก็คือแต่งขึ้นในเมื่อ “ พระยาธิเบศร์บริรักษ์ในตอนเสียกรุงได้รับบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชแล้ว ” หรืออีกนัยหนึ่งแต่งขึ้นในปีรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีหรือจะให้ตอบรัดกุมขึ้นไปอีกก็คือแต่งขึ้นใน พ.ศ.2317 ดังข้อความว่า

“ สำเนาท้องตราปีมะเมีย พ.ศ.2317 (หน้า 147 ในฉบับพันจันทนุมาศ ประชุมพงศาวดาร ภาค 64) ฉบับที่ 3

วัน ๑ ฯ ๑๒ ค่ำ ปีมะเมีย ฉอศก (เดือนยี่ แรม 12 ค่ำ จุลศักราช 1136 ปีมะเมีย ฉอศก ตรงกับเดือนธันวาคม พ.ศ.2317)
        ๒
ได้เอาร่างตำรานี้เรียนเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชสั่งให้เอาเทอญ ในทันใดได้ปิดตราส่งให้ขุนเดชะไปแล้ว ”

การเสนอหลักฐานจากท้องตราว่า ปีมะเมีย พ.ศ.2317 เป็นปีที่พระยาธิเบศร์บริรักษ์ ในสมัยกรุงแตกได้เป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช รักษาการในตำแหน่งสมุหนายกในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนฯ ก็เป็นข้อความเพียงสั้นๆ เป็นเรื่องราวการจัดทัพศึกไว้ต่อต้านศึกอะแซหวุ่นกี้ที่จะเข้ามาทางด่านกาญจนบุรี ใน พ.ศ.2316 และจะรบยืดเยื้อทางกำแพงเพชร-พิษณุโลก ใน พ.ศ.2317-2318-2319 จนพระเจ้าจิงกูจาโปรดฯ ให้เรียกทัพอะแซหวุ่นกี้กลับอังวะ ในศึกอะแซหวุ่นกี้หลาย พ.ศ. นี้ พระยาธิเบศร์บริรักษ์ได้เป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชแล้ว ดังที่ปรากฏใน 2 บรรทัด ตามที่เสนอมาในฉบับพันจันทนุมาศ และเป็นเวลา (พ.ศ.2317) ที่ผู้แต่งพงศาวดารกำลังแต่งถึงตอนสมเด็จพระเจ้ากรุงธนฯ ตีค่ายโพธิ์สามต้นด้านตะวันออกแตกพ่าย และกำลังเตรียมบันไดจะปีนป่ายเข้าโจมตีค่ายฯ ด้านตะวันตก เริ่มในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี

ข้าพเจ้าไม่แน่ใจว่า ตามที่เสนอหลักฐานและให้คำตอบตามที่เสนอหลักฐานและให้คำวินิจฉัยของข้าพเจ้านี้ จะเป็นที่กระจ่างรับฟังได้จากท่านผู้อ่าน หรือยังเคลือบคลุมปัญหายังไม่กระจ่าง แต่ข้าพเจ้ารอต่อไปไม่ได้จะต้องขมวดเรื่องราวไว้ชั้นหนึ่งก่อน เมื่อมีโอกาสในวันข้างหน้าค่อยย้อนกลับมาตีความให้กระจ่างจนไม่มีกังขาต่อไป

ได้กล่าวมาแล้วว่า เจ้ากรมพระอาลักษณ์คนที่ 1 ของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ คือ พระภิกษุที่ถูกสึกให้ออกมาเป็นฆราวาส และให้เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์ มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาธรรมปุโรหิต ศาสนนามของท่านคือพระรัตนมุนี ชื่อตัว ชื่อ แก้ว ท่านรับราชการเป็นเจ้ากรมพระอาลักษณ์เพียง 3 ปี ก็ถูกยกให้เป็นจางวาง และผู้ช่วยของท่าน ผู้มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงอนุชิตพิทักษ์ ในต้นรัชกาลได้รับตำแหน่งเจ้ากรมพระอาลักษณ์ ในบรรดาศักดิ์ใหม่ว่า พระยาพจนาพิมล ศาสนนามของท่านคือ สมเด็จพระวันรัต นามเดิมท่านคือ ทองอยู่ มีบุตรสาวถวายเป็นพระสนมพระองค์เจ้าชายทับ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ผู้ซึ่งต่อมาคือ สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติโอรสเมื่อ พ.ศ.2359 ในรัชกาลที่ 2 คือ พระองค์เจ้าชุมสาย ต้นสกุล ชุมสาย ณ อยุธยา

ท่านอาลักษณ์คนที่หนึ่งชื่อ แก้ว คือเจ้าของสำนวน “ เสียพระศรีสวัสดิ์แก่ข้าศึก ” แต่งพระราชพงศาวดารฯ ฉบับที่นำขึ้นทูลเกล้าถวายใน จุลศักราช 1146 ปีที่ท่านถูกยกให้เป็นจางวางกรมพระอาลักษณ์ ท่านคงเป็นผู้แต่ง

  • เรื่องฤาษี 2 องค์ ผู้อภิเษกบาธรรมราชเจ้าเมืองสวรรค์เทวโลก ฯลฯ
  • เรื่องการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีจนเสียกรุงใน พ.ศ.2310 และ
  • เรื่องราวสมเด็จพระเจ้ากรุงธนฯ จนถึงปีที่ 4 ในรัชกาลสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า

ท่านจึงเป็นผู้แต่งพระราชพงศาวดารสยาม ฉบับบริติชมิวเซียม ส่วนท่านเจ้ากรมพระอาลักษณ์คนที่ 2 ที่ชื่อ ทองอยู่ นั้น เมื่อได้นำพระราชพงศาวดารขึ้นทูลเกล้าถวายใน จ.ศ.1157 ท่านคงตัดข้อความเดิมของฤาษี 2 องค์ เมืองสวรรค์เทวโลกตลอดจนเรื่องราวของเมืองเชียงแสน เมืองลพบุรีออกเสีย ให้เหลือแต่ปีแรกตั้งกรุงศรีอยุธยาพระราชพงศาวดารฉบับนี้จึงมาปรากฏในชื่อ พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ

แต่อย่างไรก็ดี ในรัชกาลที่ 1 มีพระราชพงศาวดารฉบับ “ทางราชการ” อยู่ 2 สำนวน คือ ฉบับบริติชมิวเซียมและฉบับพันจันทนุมาศ วงวิชาการประวัติศาสตร์ไทยในปัจจุบันก็มีทั้ง 2 สำนวนไว้ศึกษาแล้ว วิชาว่าด้วย “การเขียนประวัติศาสตร์” (Historiography) ก็กำลังวางรากฐานเป็นวิชาที่มีนักศึกษาเริ่มสนใจกันอยู่แล้ว การตอบปัญหาที่ว่า “ใครคือผู้แต่งพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา” ที่ได้เสนอมานี้ถึงแม้จะมีการกระตุ้นให้สืบเสาะ แต่ ค.ศ.1954 ณ SOAS, มหาวิทยาลัยลอนดอน ก็เพิ่งจะตั้งเค้าใน ค.ศ.1972 ในบทความที่ได้นำเสนอการตอบปัญหาให้รวบรัดใน พ.ศ.2520 นี้ ก็ยังไม่ยุติลงได้ นับแต่ไฟได้เริ่มคุกรุ่นในดวงใจเมื่อ 23 ปีก่อน ข้าพเจ้าก็ยังไม่ลดละใฝ่หาคำตอบให้กระจ่างแจ้ง บางทีจะต้องขอเวลาอีกสักเล็กน้อยเสนอคำตอบให้เข้าใจง่าย, กระจ่างชัด และเข้ากฎเกณฑ์ของการดำเนินสืบค้นตามวิธีการวิชาประวัติศาสตร์ ปัญหาซึ่งน่าจะง่ายแสนง่าย ถ้าผู้แต่งจะลงชื่อกำกับและวัน เดือน ปี ในของงานที่สร้างขึ้นไว้ ดังผู้แต่ง Sejarah Melayu หรือ Malay Annals ได้ทำไว้ให้เห็นเป็นตัวอย่าง แต่นี้เพราะผู้แต่งพระราชพงศาวดารของเราไม่ได้ทำเช่นนั้น สิ่งซึ่งไม่น่าจะเป็นปัญหาก็เลยเป็นประเด็นปัญหาสำคัญ ให้คนรุ่นหลังต้องวุ่นวายมากบ้างน้อยบ้าง ยกตัวอย่างเช่นอย่างข้าพเจ้าคิดปัญหามาได้ 23 ปีแล้ว แต่เรื่องก็ยังไม่ยุติ ต้องวุ่นวายขบอีกปีสองปีจึงจะยุติเรื่องได้