การยิงปืนตับ : ยุทธวิธีของพระยาตาก
จุลทรรศน์ พยาฆรานนท์
พระยาตาก หรือบุคคลหนึ่งซึ่งจะต้องอ้างถึงเป็นลำดับต่อๆ ไปในบทความว่าด้วยการยิงปืนตับนี้ คือบุคคลผู้ซึ่งภายหลังได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินแห่งสยามประเทศ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ หรือ พระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งเป็นสมัญญาเนื่องด้วยชื่อกรุงธนบุรี อันเป็นนามราชธานีที่ทรงครองราชย์
ในบทความว่าด้วยการยิงปืนตับนี้ เป็นเรื่องเกิดขึ้นระหว่างเวลาก่อนพระยาตากจะปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ดังนั้น เมื่อจะอ้างถึงบุคคลผู้นี้จึงออกนามตามตำแหน่งและบรรดาศักดิ์ที่ครองอยู่ก่อนพุทธศักราช ๒๓๑๐ หรือสมัยที่กรุงศรีอยุธยายังไม่เสียแก่ข้าศึก
พระยาตากผู้นี้ นามเดิมชื่อ สิน บิดานำขึ้นถวายตัวในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกฐ โปรดให้ทำราชการเป็นมหาดเล็กเวรศักดิ์ ต่อมาในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามรินทร์ โปรดให้เป็นที่หลวงยกกระบัตรขึ้นไปช่วยราชการพระยาตาก ณ เมืองตาก ครั้นกาลล่วงมาพระยาตากถึงแก่กรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานตำแหน่งยศ เลื่อนหลวงยุกรบัตรสินให้เป็นที่พระยาตาก ครองเมืองตากต่อมา
ภายหลังไม่ช้านาน พระยาวชิรปราการผู้สำเร็จราชการเมืองกำแพงเพชรถึงแก่กรรม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หาตัวพระยาตากสินลงมาเฝ้าฝ่าละอองธุลีพระบาท ณ กรุงศรีอยุธยา สมัยนั้นทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนตำแหน่งพระยาตากสินให้เป็นที่พระยาวชิรปราการ ผู้สำเร็จราชการเมืองกำแพงเพชรแทนเจ้าเมืองคนก่อน ขณะที่พระยาตากลงมารับพระราชทานตำแหน่งใหม่นั้น ประจวบกับพม่าได้เดินทัพเข้ามาล้อมกรุงศรีอยุธยา
พระยาตาก หรือ พระยาวชิรปราการซึ่งติดอยู่ ณ กรุงศรีอยุธยานั้น ได้รับพระราชบัญชาให้ควบคุมทัพออกไปรบพุ่งต่อข้าศึกเพื่อป้องกันและรักษากรุงร่วมกับพระยาเพชรบุรี ยังย่านวัดใหญ่ไชยมงคล พอทัพพระยาเพชรบุรีแตก ตัวนายทัพตายในที่รบ พระยาตากก็ถอยมายั้งทัพอยู่ระหว่างวัดกล้วยกับวัดพิไชยริมคูขื่อหน้าฟากตะวันออกนอกกรุงศรีอยุธยา
พระยาตาก ซึ่งชื่อตัวว่า นายสิน คือ บุคคลที่จะได้รับการอ้างถึงเป็นลำดับไป ในบทเขียนว่าด้วยการยิงปืนตับ ซึ่งเป็นยุทธวิธีหนึ่งในการรบพุ่งด้วยปืนไฟแต่สมัยก่อน ก็ดังพรรณนานี้
การยิงปืนตับ จัดว่าเป็นยุทธวิธีในการใช้ปืนไฟเข้าต่อรบข้าศึกอย่างอาจหาญยิ่งกว่าการรบพุ่งด้วยปืนไฟในกรณีอื่นๆ ซึ่งจะทราบได้ในความลำดับต่อไป กระนั้นก็ดียุทธวิธีในการใช้ปืนตับยิงแย้งทำร้ายข้าศึก ไม่สู้ปรากฎความพรรณนาให้นึกเห็นภาพลักษณ์การยิงปืนตับมีในหลักฐานทางเอกสารต่างๆ อาทิ พระราชพงศาวดาร จดหมายเหตุรายวันทัพ หรือตำนานบางเรื่อง
ฉันใดก็ตามที เรื่องยุทธวิธีว่าด้วยการใช้ปืนตับยิงสู้ข้าศึก แม้ไม่อาจทราบได้จากเอกสารบางจำพวกดังอ้างแล้ว แต่ก็มิใช่ว่าเรื่องเช่นนี้จะไม่มีการจดจารขึ้นไว้เสียเลยนั้นหามิได้ ซึ่งการอ้างถึงพระยาตากมาแต่ข้างต้นนั้น ก็เนื่องด้วยหลักฐานที่เป็นเอกสารว่าด้วยประวัติการณ์ของบุคคลผู้นี้ มีความบางตอนอ้างถึงยุทธวิธีว่าด้วยการใช้ปืนตับขึ้นไว้เป็นเรื่องราวชัดเจนกว่าที่ใด ซึ่งความบางตอนดังกล่าวที่ได้ระบุขึ้นไว้ในประวัติการณ์นั้น พึงได้รับการนำมาสำแดงให้ทราบยุทธวิธีว่าด้วยการยิงปืนตับ และเข้าใจแบบแผนการรบพุ่งด้วยปืนไฟโดยยุทธวิธีอีกแบบหนึ่ง
ฉะนี้ การพรรณนาว่า การยิงปืนตับ จะละไว้โดยไม่อ้างถึง พระยาตาก ขุนนางผู้เป็นเจ้าเมืองตากคนล่าสุดในสมัยอยุธยา และเป็นผู้นำบงการไพร่พลในบังคับให้รบพุ่งต่อสู้ข้าศึกด้วยยุทธวิธีแบบ การยิงปืนตับ ซึ่งจะพรรณนาโดยพิศดารต่อไปข้างหน้านั้นย่อมไม่สมควร มิฉะนั้นแล้วจะไม่เป็นต้นเป็นปลายต่อกัน จึงต้องอ้างประวัติการณ์ของบุคคลผู้นี้โดยสังเขปไว้แต่ตอนแรก
ต้นทางของเหตุการณ์ ที่นำไปสู่การรบพุ่งต่อสู้ข้าศึกด้วยยุทธวิธีแบบยิงปืนตับ โดยการบงการของพระยาตากนี้ ตั้งต้นแต่ความในพระราชพงศาวดารกรุงสยาม ต่อไปนี้
อนึ่ง แต่ ณ วันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีจออัฐศก ขณะกรุงเทพมหานครยังมิได้เสียนั้นพระเจ้าอยู่หัวอันมีอภินิหาร (คือพระยาตาก หรือ พระยาวชิรปราการ ขณะนั้น) นับในเนื้อหน่อพุทธางกูรเจ้า ตรัสทราบญาณว่า กรุงศรีอยุธยาจะเปนอันตราย แต่เหตุอธิบดีเมืองและราษฎรมิเปนธรรม จึงอุตสาหะด้วยกำลังกรุณาแก่สมณพราหมณาจารย์ และบวรพุทธศาสนาจะเสื่อมสูญ จึ่งชุมนุมพรรคพวกพลทหารจีนไทย ประมาณ ๑๐๐๐ สรรพด้วยเครื่องศัสตราวุธ ประกอบด้วยทหารผู้ใหญ่นั้น พระเชียงเงิน หลวงพรหมเสนาขุนอภัยภักดี หลวงพิชัยอาสา หมื่นราชเสน่หา หลวงราชเสน่หา ยกออกไปตั้ง ณ วัดพิชัย อันเปนมงคลมหาสถาน ด้วยเดชะบรมโพธิสมภารเพทยเจ้าอันอภิบาลรักษาพระบวรพุทธศาสนาก็ซ้องสาธุการ บันดาลให้วรรษาการห่าฝนตกลมาเปนมหาวิชัยฤกษ์
จำเดิมแต่นั้นมา จึ่งให้ยกพลพยุหะกองทัพออกจากวัดพิชัย ฝ่ากองทัพพม่าออกมา เปนเพลาย่ำฆ้องค่ำยามเสาร์ ได้รบกันกับพม่าเปนสามารถ พม่ามิอาจต่อต้นบารมีได้ถอยไป ก็ดำเนินด้วยพลทหารโดยสวัสดิภาพ ทางบ้านข้าวเม่า
พอบรรลุถึงบ้านสามบัณฑิต เพลาเที่ยงคืนประมาณสองยามเศษ เกิดเพลิงในกรุงเทพมหานครไหม้แต่ท่าทรายตลอดถนนหลวงไปจนถึงวัดฉัททันต์ แสงเพลิงรุ่งโรจน์โชตนาการ ครั้นได้ทัศนาการเห็นก็สังเวชสลดใจ ด้วยอาลัยถึงสมณพราหมณาจารย์ ขัตติยวงศานุวงศ์และเสนาพฤฒามาตย์ราษฎร และบวรพุทธศาสนา มิใคร่จะไปได้ดุจมีใจย่อหย่อนจากอุตสาหะ ซึ่งตั้งปณิธานจะแก้กรุงเทพมหานคร กับทั้งบวรพุทธศาสนา มิใคร่จะไปได้ดุจมีใจย่อหย่อนจาก อุตสาหะ ซึ่งตั้งปณิธานจะแก้กรุงเทพมหานคร กับทั้งบวรพุทธศาสนา เทพเจ้าจึงดลใจให้ตั้งสติสมปฤดี มีกำลังกรุณาอุตสาหะ
ครั้งรุ่งขึ้น ณ วันอาทิตย์ เดือนยี่ ขึ้น ๕ ค่ำ ลุศักราช ๑๑๒๘ ปีจออัฐศก ให้ยกกองทัพไปถึงบ้านโพสาวหาร พะม่ายกกองทัพติดตามไป จึ่งให้ตระเตรียมพลทหารจีนทหารไทยไว้ ครั้นกองทัพพะม่ายกมาถึง จึ่งดำเนินนำหน้าพลทหารออกรบเปนสามารถ พะม่าแตกกระจายพ่ายไปเก็บได้เครื่องศัสตราวุธเปนอันมาก จึ่งหยุดประทับแรมอยู่ ณ บ้านพรานนก
เนื้อความดังคัดมาแต่พระราชพงศาวดารกรุงสยามตอนนี้ เป็นช่วงเวลาก่อนกรุงศรีอยุธยาจะเสียแก่ข้าศึกประมาณ ๓ เดือน จัดเป็นต้นเรื่องที่จะนำไปสู่เหตุการณ์รบพุ่งต่อสู้ข้าศึกด้วยยุทธวิธีแบบการยิงปืนตับต่อไป
พระยาตาก พร้อมด้วยทหารไทย ทหารจีน ซึ่งรวบรวมและจัดตั้งเป็นกองทัพมีกำลังคนประมาณ ๑๐๐๐ เศษ พร้อมด้วยสรรพศัสตราวุธที่มีติดตัวมาแต่กรุง กับเก็บรวบรวมได้จากขาศึกที่แตกพ่ายไปในการสู้รบ ณ ตำบลบ้านโพสาวหาร มาเสริมเข้าด้วย ก็จัดเป็นกองทัพที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น กับครอบครัวจำนวนหนึ่งที่หนีภัยสงครามตามมากับกองทัพได้เดินทางออกจากบ้านพรานนก ไปทางทิศตะวันออกห่างไปจากกรุงศรีอยุธยาเป็นลำดับ
พระยาตากและกองทัพพากันรอนแรม ผ่านบ้านดง บ้านหนองไม้ทรุม บ้านนาเริ่งแขวงเมืองนครนายก เป็นเวลา ๘ วัน จึงถึงแดนเมืองปราจีน ขณะนั้นกองทัพพม่าส่วนหนึ่ง ยึดได้เมืองปราจีนอยู่ก่อนแล้ว
เมื่อพระยาตากคุมกองทัพมาถึงแดนเมืองปราจีนนั้น คงได้ทราบระแคะระคายว่าพม่ามาตั้งในเมืองนั้นอยู่แล้ว ถ้าจะนำกองทัพเข้าตีเอาเมืองปราจีนให้ได้ ก็จะเปลืองกำลังไพร่พลไปเสียเปล่า จึงนำกองทัพเดินทางหลีกเมืองปราจีนไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ไปจนถึง ด่านกบแจะ คือ ตำบลหนึ่งในอำเภอประจันตคามปัจจุบัน เมื่อลำเลียงไพร่พลข้ามแม่น้ำขึ้นถึงฟากฝั่งตะวันออกหมดแล้ว จึงให้หยุดพัก และหุงหาอาหารสำหรับมื้อเช้า หลังจากนั้นจึงออกเดินทางต่อไปตลอดวัน จนกระทั่งเวลาบ่ายห้าโมง พระเชียงเงิน ขุนพิพิธวาที และนักองค์ราม ซึ่งควบคุมทหารส่วนหนึ่งเป็นกองระวังหลังตามมาไม่ทัน และเกิดพลัดกันกับพระยาตากๆ จึงให้หยุดพักไพร่พลรอพระเชียงเงินและพรรคพวกอยู่วันหนึ่งเต็มๆ ระหว่างที่ยั้งไพร่พลคอยอยู่นั้น พระยาตาก กับหลวงพรหมเสนา กับทหารม้าจำนวนหนึ่ง หวนหลับไปตามหาพระเชียงเงินและพวกแต่ไม่พบ เหตุการณ์ลำดับต่อไปขอกลับเข้าสู่ความในพระราชพงศาวดารกรุงสยาม ดังนี้
ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันจันทร์ เดือนยี่ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ให้ยกพลทหารเข้าไปในป่า หยุดประทับที่สำนักหนองน้ำ หุงหาอาหารสำเร็จแล้ว เพลาบ่ายประมาณสองโมง จึงพระเชียงเงินมาถึง ให้โบยสามสิบทีแล้วก็ตรัสเห็นกิริยาว่ามิเปนใจด้วยราชการ จึงสั่งให้ประหารชีวิตเสีย นายทัพนายกองทูลขอชีวิตไว้
กระนั้นก็ดี แม้พระเชียงเงินได้มาถึงชมรมที่พระยาตากให้พักไพร่พลรออยู่นั้นแล้ว แต่ทหารและคนครัวหมู่ที่ตามมาในกองพระเชียงเงิน ยังมีที่กระจัดพลัดกันไประหว่างทางจำนวนหนึ่ง ฝ่ายพม่าที่เมืองปราจีนคงจะได้ข่าวกองทหารในบังคับบัญชาของพระยาตากเดินทางหลีกเมืองปราจีนไปไม่สู้ไกล จึงจัดทหารกองหน้าตามขึ้นมา ก็พอทันทหารและคนครัวพวกที่พลัดกับพระเชียงเงิน เหตุการณ์ตอนนี้มีความในพระราชพงศาวดารกรุงสยามพรรณนาว่า
ครั้น เพลาบ่ายประมาณสี่โมง พะม่าไล่แทงฟันคนซึ่งเลื่อยล้าวิ่งหนีมาตามทาง ทอดพระเนตรเห็น จึงให้นายบุญมีขึ้นม้าใช้ สวนทางลงไปได้ประมาณสองร้อยเส้น พบกองทัพพะม่า ยกขึ้นมาแต่ปากน้ำเจ้าโล้ทั้งทัพบกทัพเรือมาขึ้นที่ท่าข้าม ครั้นเห็นธงเทียว เสียงฆ้องกลองเสียงพูดจากันว่าเป็นพวกพะม่ามั่นคงแล้ว ก็กลับม้าควบมากราบทูลตามได้เห็นนั้น
ปากน้ำเจ้าโล้ หรือ ปากน้ำโจ้โล้เป็นชื่อตำบลหนึ่งอยู่ใต้เมืองปราจีนลงมา เป็นที่ปลายคลองประจันตคามมาประสบกับแม่น้ำปราจีน กองทัพพม่ากองที่ระบุไว้ในความดังคัดมานี้ ย่อมเดินทัพมาตามแม่น้ำปราจีน พอถึงปากน้ำเจ้าโล้ซึ่งเป็นปากหรือปลายคลองประจันตคามประสบกับแม่น้ำปราจีนตามกล่าว ก็วกไปเข้าไปตามคลองจนถึงตำบลท่าข้าม ซึ่งคงจะไม่ไกลกับที่พระยาตากตั้งชมรมพักอยู่นั้น จึงยกไพร่พลที่มาด้วยเรือขึ้นบก ก็พอเวลาพลบค่ำจึงยั้งทัพพักอยู่ ณ ที่นั้น
ฝ่ายพระยาตาก ได้รับรายงานจากนายบุญมีที่ให้ขี่ม้าไปดูลาดเลาพวกพม่า ซึ่งยกมาทราบความแล้วดำริเห็นว่าเป็นการจวนตัว จะจัดการปลูกค่ายขึ้นตั้งมั่นรับมือพม่าก็จะไม่ทันการ เนื่องด้วยมีเวลาจำกัดเพียงชั่วคืนเดียว พอรุ่งเช้าวันใหม่พม่าก็คงจะเดินทัพมาทัน
ครั้นรุ่งเช้า ซึ่งเป็นวันอังคาร เดือนยี่ ขึ้น ๑๔ ค่ำ พระยาตากจึงจัดพลทหารจำนวนหนึ่งให้มีอาวุธประจำมือแต่ละคนคือ ปืนไฟ ให้พร้อม สำหรับต่อสู้ข้าศึกที่จะยกมาถึงในเวลาไม่สู้นาน แล้วจัดทัพตามกระบวนยุทธที่จะรบกันกลางแปลง คือ ที่โล่งๆ ซึ่งมีแต่พงแขมขึ้นปกพื้นดินเท่านั้น
กระบวนยุทธที่พระยาตากกำหนดขึ้นไว้รอรบกองทัพพม่าขณะเวลานั้น มีความในพระราชพงศาวดารกรุงสยามแสดงบรรยายอย่างนึกเห็นภาพได้ดังต่อไปนี้
จึงสั่งให้พลทหารตั้งปืนตับใหญ่ตับน้อยดาไว้ต่างค่าย แล้วให้คนหาบสะเบียง ครอบครัวไปก่อน แต่พระองค์กับทหารประมาณร้อยเศษเคยรับพะม่า
ในความตอนนี้พึงสังเกตเห็นว่า พระยาตากจัดให้ทหารถือปืนไฟตั้งอยู่เป็น ตับ คือ วางกำลังทหารยืนเรียงกันเป็นแถวๆ ใหญ่บ้าง น้อยบ้าง ตามตำแหน่งที่เป็นชัยภูมิ ประจันหน้าทางที่ข้าศึกจะยกเข้ามา แถวทหารที่จัดขึ้นเป็นตับนี้ทำหน้าที่ต่างค่าย ซึ่งปกติใช้ไม้ลำปักตั้งเรียงชิดติดกันเป็นแถวๆ ล้อมที่ตั้งกองทัพ แต่เนื่องด้วยเป็นเวลากระชั้นชิด ไม่พอที่จะจัดการปลูกค่ายขึ้น ดังกล่าวแล้ว พระยาตากจึงกำหนดกระบวนยุทธสำหรับทำการรบกลางแปลง ด้วยการจัดทหารถือปืนไฟ ยืนเป็นแถวๆ เรียงรายกันเพื่อตั้งรับข้าศึก
ว่าด้วยกระบวนยุทธที่พระยาตากจัดขึ้นนี้ควรสังเกตได้ว่าเป็น กลศึก กระบวนหนึ่งในตำราพิไชยสงคราม ซึ่งเป็นตำรายุทธศาสตร์และยุทธวิธีในการทำสงครามตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น กระบวนยุทธโดยเฉพาะการใช้ปืนไฟตั้งรับนี้ มีความในตำราพิไชยสงคราม ว่าไว้ดังนี้
@ ปืนไฟกลรู้ลอด สอดปืนยิงฉันใด ปืนไฟตั้งเปนหมู่ วางตับคู่แถวถัด เสโล่ห์ขนัดเล่าทวน เดิรเปนกระบวนแล่นสู้ เปนคนรู้คงเรียน จำเนียรราชศึกสอน ไว้เบียดบ่อนศัตรู ข้าศึกสู้เสียไชย ฝ่ายเราได้ชำนะฯ
พระยาตากนั้น ภูมิหลังเป็นข้าราชการฝ่ายพระราชวังหลวง ไต่เต้าขึ้นมาจากตำแหน่ง หลวงยุกระบัตร ย่อมได้รับการศึกษาและฝึกหัดวิชาการทั้งในฝ่ายพลเรือน และฝ่ายทหารตามแบบฉบับสำหรับลูกผู้ชายที่มีเชื้อแถวในสมัยอยุธยานั้น เป็นอย่างดี และความรู้ความสามารถอันมีในตัวจึงก้าวหน้าขึ้นถึงได้เลื่อนที่เป็น พระยาวชิรปราการ เป็นที่สุด ดังนี้สรรพความรู้ในตำรับพระพิไชยสงครามจึงเป็นความรู้ที่ขึ้นปากขึ้นใจในบุคคลผู้นี้ และสามารถสั่งการได้อย่างเหมาะสมในการตั้งรับและสู้รบ โดยเฉพาะสถานการณ์ที่คับขันและล่อแหลมดังกล่าว
ความในพระราชพงศาวดารกรุงสยามพรรณนาเหตุการณ์รบพุ่งครั้งสำคัญ ซึ่งจะเกิดขึ้นข้างหน้าต่อไป ดังนี้
ครั้นเพลาบ่ายโมงเศษ พะม่ายกองทัพมาถึง จึงเสด็จนำหน้าทหาร ด้วยหลวงชำนาญไพรสณฑ์ พระเชียงเงิน นายบุญมี นายทองดีทหาร นายแสงทหาร ออกไปรับล่อพะม่านอกปืนใหญ่น้อย ซึ่งดาไว้ประมาณหกเส้นเจ็ดเส้น พะม่ายกทัพเรียงเรียบมาจำเพาะในพงแขม ครั้นเข้ามาใกล้ได้ทีแล้วจึงให้ยิงปืนเปนอันหนึ่งอันเดียว ถูกพะม่าล้มตายเปนอันมาก พะม่าที่ยังอยู่นั้นก็อุดหนุนกันเข้ามาอีก จึงล่อให้ไล่เข้ามาแล้วยิงปืนใหญ่น้อยถูกพะม่าล้มตายทับกันเปนอันมาก พะม่าอุดหนุนกันเข้ามาอีก วางปืนตับเข้าคำรบสาม พะม่าแตกกระจัดกระจายพ่ายไป จึงให้พลทหารโห่ร้องตีฆ้องสำทับ พะม่าแตกหนีไปจะคุมกันมิได้
ความว่าด้วยการรบพุ่งที่ผ่านไปนี้ ข้าศึกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้แตกหนีกลับไป พระยาตากเป็นฝ่ายมีชัยเบ็ดเสร็จ โดยอาศัยกระบวนยุทธและยุทธวิธีที่แยบคายในการตั้งรับและโต้ตอบข้าศึกโดยเฉพาะใช้การยิงปืนด้วยการวาง ปืนตับ และยิง เป็นอันหนึ่งอันเดียว กัน
ยุทธวิธียิงปืนตับ อาจเป็นแบบแผนหนึ่งในการตั้งรับกลางแปลง และยิงโต้ข้าศึก ซึ่งเคยปฏิบัติการรบพุ่งมาบ้างแล้ว ในสมัยอยุธยายังไม่เสียแก่ข้าศึก จึงปรากฏยุทธวิธียิงปืนตับนี้ ในตำราพิไชยดังอ้างแล้ว กระนั้นก็ตามว่าด้วยยุทธวิธียิงปืนตับไม่สู้ปรากฎความพรรณนาขึ้นไว้โดยพิศดารในที่อื่นๆ ดังประวัติการของพระยาตาก ว่าด้วยเหตุการณ์สู้รบครั้งสำคัญ ณ ย่านประจันตคาม แขวงเมืองปราจีนนั้นเลย
ยุทธวิธียิงปืนตับโดยการบัญชาของพระยาตากคราวนั้น จัดเป็นประเด็นสำคัญที่ควรหยิบยกขึ้นพิจารณาสาระของกระบวนยุทธแบบนี้ให้เป็นต้นเป็นปลาย และกระจ่างแก่ความเข้าใจเป็นลำดับไป
เบื้องต้น พระยาตากจัดกำลังรบประกอบด้วยพลทหารถือปืนไฟสำหรับมือแต่ละคน ออกไปตั้งรับข้าศึก โดยจัดแบ่งพลทหารออกเป็นหมู่น้อยและหมู่ใหญ่ ยืนเรียงเป็นแถวๆ ต่อเนื่องกันประมาณหกถึงเจ็ดเส้น ขวางทางข้าศึกที่จะเข้ามาโดยอาศัยพงแขมกำบังตัว พลทหารซึ่งถือปืนไฟทั้งนั้นประกอบ ๑๐๐ นาย
อนึ่ง การยิงปืนไฟตามรูปการยิงปืนตับนี้ ผู้ทำการยิงต้องยืนเรียงเป็นแถวเรียงสองหรือเรียงสามแถว แต่ละแถวมักห่างกันประมาณ ๑ วา และพลทหารในแต่ละแถวต้องยืนห่างกัน ๑ วาเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อให้ห่างเสียปืนของผู้ที่ยืนเคียงกัน หากใกล้กันมากจะทำให้หูอื้อหรือพิการได้
เบื้องกลาง เมื่อจัดกำลังพลทหารถือปืนไฟเข้าประจำที่ชุมบังตัวพร้อมแล้ว พระยาตาก็คุมพรรคพวกส่วนหนึ่งขึ้นม้าออกไปรับล่อข้าศึกนอกชุมนุมทหารพวกที่ซุ่มดักอยู่ไม่สู้ไกลนัก พอพม่าพากันมาถึง แลเห็นพระยาตากและพรรคพวก ซึ่งออกไปรับล่อนนั้นมีผู้คนไม่สู้มาก ก็คงประมาทเห็นทีจะเป็นต่อ จึงบุกตะลุยติดตามถลำเข้ามาตรงทางปืนที่พระยาตากจัดเป็นแถวเป็นตับพร้อมอยู่แล้ว
เบื้องปลาย เมื่อพระยาตากและพวกเห็นว่าข้าศึกชะล่าใจบุกตามติดมาดังคาด ก็พากันขับม้ากลับหลัง วิ่งผ่านออกไปทางด้านหลังทหารหมู่ใหญ่หมู่น้อย ซึ่งตั้งแถวเป็นตับๆ แล้วสั่งให้ยิงข้าศึกทันที โดยพลทหารแถวหน้าในแต่ละหมู่ยิงอย่างเป็น อันหนึ่งอันเดียว คือ พร้อมกันทุกกระบอกเป็นอันดับแรก แล้วลงนั่งบรรจุดินปืนและกระสุนนัดต่อไป ระหว่างนี้พลทหารแถวหลังก็จะทำการยิงเป็น อันหนึ่งอันเดียว กันทุกกระบอกเป็นอันดับสอง ครั้นยิงแล้วบรรดาทหารแถวหน้าก็จะลุกขึ้นยืนแล้วทำการยิงพร้อมกันทั้งแถวเป็นลำดับต่อไป พลปืนแต่ละหมู่ๆ จะผลัดกันยิงสลับกันไปกับการบรรจุดินปืนและกระสุนนัดต่อไปเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง
การจัดพลทหารให้ถือปืนยืนเข้าแถวเรียงสองบ้างเรียงสามบ้าง แล้วสั่งให้ทหารแถวหน้ายิงปืนพร้อมกันทุกกระบอกเป็นอันดับต้น กับแถวถัดลงมาจึงยิงพร้อมกันเป็นอันดับๆ และผลัดกันยิงอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ คือ ยุทธวิธียิงปืนตับ อันตรงกันกับที่ได้ตราไว้ในตำราพิไชยสงครามว่าดังนี้
@ ปืนไฟกลรู้ลอด สอดปืนยิงฉันใด ปืนไฟตั้งเปนหมู่ วางตับคู่แถวถัด.... ประสิทธิภาพของการยิงปืนตับเป็นเช่นไร พึงทราบได้จากผลการสู้รบแต่ครั้งนั้น ดังจะยกเหตุการณ์มาแสดงซ้ำอีกครั้ง ด้วยความต่อไปนี้
พะม่ายกทัพเรียงเรียบมาจำเพาะในพงแขม ครั้นเข้ามาใกล้ได้ทีแล้ว จึงให้ยิงปืนเปนอันหนึ่งอันเดียว ถูกพะม่าล้มตายเปนอันมาก พะม่าที่ยังอยู่นั้นก็อุดหนุนกันเข้ามาอีก จึงล่อให้เข้ามาแล้วยิงปืนใหญ่น้อยถูกพะม่าล้มตายทับกันเปนอันมาก พะม่าอุดหนุนกันเข้ามาอีก วางปืนตับเข้าคำรบสาม พะม่าแตกกระจัดกระจายพ่ายไป จึงให้พลทหารโห่ร้องตีฆ้องสำรับ พะม่าแตกหนีไปจะคุมกันมิได้
อนึ่ง ปืนไฟ ซึ่งพลทหารได้ใช้สำหรับมือในการยิงข้าศึกแต่คราวนั้น เป็นอาวุธร้ายแรงประจำกองทัพสมัยอยุธยาตอนปลาย ส่วนมากเป็นปืนไฟประเภท ปืนคาบศิลา (Flintlock) ลำกล้องเหล็กลักษณะเป็นท่อนกลมยาว ท้ายลำกล้องอุดตัน ประกอบกับรางปืนและพานท้ายทำด้วยไม้ ส่วนต้นรางปืนประกอบด้วยกลไกสำหรับยิง คือส่วนที่เรียกว่า นก ลักษณะคล้ายศีรษะนก มีปากประกบกันสำหรับคาบ หินเหล็กไฟ หรือ ศิลาปากนก" ก็ว่า นกนี้มีกลไกต่อเข้าไปในโคนรางปืนต่อกันกับ ไกปืน สำหรับเหนี่ยวให้นกสับลงที่ หน้าเพลิง ทำด้วยเหล็กตั้งขึ้นประจันหน้านก ทำให้เกิดประกายไฟตกใส่ ดินหู คือ ดินปืนชนิดเบาและไวไฟ เมื่อดินหูปะทุก็ลามเข้าไปจุด ดินปืน หรือ ดินขับ ซึ่งบรรจุเข้าไว้ก่อนในส่วนต้นลำกล้อง ดินปืนก็จะระเบิดแล้วขับลูกกระสุนออกไปตามลำกล้อง พุ่งตรงไปยังเป้าหมายข้างหน้า
การจะยิงปืนไฟประเภทปืนคาบศิลา แต่ละนัดๆ มีขั้นตอนในการเตรียมยิงเป็นลำดับๆ ดังนี้ ขั้นต้นต้องกรอกดินปืนหรือดินขับซึ่งบรรจุรักษาไว้ในภาชนะสำหรับเก็บ รูปร่างคล้ายเขาวัว เรียกว่า เขนงดิน ตรงปลายเขนงเปิดเป็นรูขนาดย่อมสำหรับเทดินปืนกรอกลงในลำกล้องปืนตามขนาดที่ต้องการ ปกติปลายเขนงมีจุกปิดไว้ประจำ เมื่อกรอกดินปืนลงในลำกล้องพอแก่ความต้องการแล้ว จึงยัด หมอ หรือ หมัน ก็ว่า ทำด้วยกาบมะพร้าวฉีกและชีให้เป็นฝอย ปั่นเป็นก้อนกลมเล็กๆ ยัดเข้าในลำกล้อง แล้วใช้ แส้ คือไม้หรือเหล็กกลมยาวสำหรับสอดเข้าในลำกล้องปืน กระทุ้งหมอนเพื่ออัดดินปืนให้แน่น จึงบรรจุกระสุนลูกกลมทำด้วยตะกั่วบ้างดินเผาบ้าง ขนาดครือๆ กับลำกล้องปืน ใช้แส้แยงลูกปืนเข้าไปจนติดหมอน เป็นอันเสร็จการ ขั้นปลาย เมื่อจะทำการยิงนั้นต้องง้างนกขึ้นไว้ก่อน จัดการเท ดินหู ซึ่งบรรจุในภาชนะรูปร่างคล้ายผลตาลอ่อน ลงใน เต้าดินล่อ ลักษณะคล้ายกับฝาหอยแครงติดอยู่ทางด้านข้างใกล้โคนลำกล้องปืน ตรงโคนลำกล้องตอนที่ติดกับเต้าดินล่อนี้ ทำเป็นรูเล็กๆ ทะลุเข้าไปในเต้าดินล่อพร้อมอยู่แล้วจึงยกปืนขึ้นประทับบ่า จัดการเปิดหน้าเพลิงขึ้น เล็งปืนไปยังเป้าข้างหน้า แล้วเหนี่ยวไกให้นกซึ่งคาบหินเหล็กไฟ หรือศิลาปากนกนั้นสับกระทบแผ่นเหล็กหน้าเพลิง เกิดเป็นประกายลงไปต้องดินหูปะทุขึ้น ส่งความร้อนผ่านรูที่ทำไว้ทางด้านข้างใกล้โคนลำกล้องปืนเข้าไปจุดดินขับซึ่งบรรจุและอัดแน่นอยู่ ส่วนในสุดของลำกล้องติดไฟและระเบิดทำให้เกิดกำลังขับส่งกระสุนออกไปโดยพลัน
การยิงปืนคาบศิลานี้ แต่ละครั้งต้องใช้เตรียมการยิงครั้งละ ๑ นาทีครึ่ง หรือ ๒ นาที สำหรับผู้ชำนาญการ ดังนี้ การรบพุ่งกลางแปลง คือ พื้นที่โล่งแจ้ง ไม่มีคูและคันดินที่เรียกว่า สนามเพลาะ สำหรับบังตัวหรือหลบการยิงมาจากข้าศึกเพื่อบรรจุกระสุนในการยิงตอบโต้นั้น จึงต้องใช้กระบวนยุทธแบบยิงปืนตับ คือตั้งพลทหารถือปืนยืนเรียงกันเป็นตับ จัดเป็นสองแถวบ้างสามแถวบ้างไว้ระยะทหารแต่ละคนห่างกันพอประมาณ เมื่อจะยิงนั้นทหารตับข้างหน้ายิงก่อนพร้อมกันแล้วลงนั่งบรรจุกระสุน เปิดโอกาสให้ทหารตับหรือแถวหลังยิงเป็นอันดับต่อมา ถ้ามีตับที่สามก็จะทำการยิงพร้อมกันอีกเป็นลำดับถัดไป ระหว่างนั้นทหารก็มีเวลาพอสำหรับการบรรจุกระสุน และกลับลุกขึ้นยืนทำการยิงได้ต่อเนื่องเป็นระลอกไม่ขาดสายกระสุนซึ่งยิงสาดออกไป
กระบวนยุทธแบบการยิงปืนเป็นตับๆ สำหรับการรบพุ่งนี้ จัดว่าเป็นการแสดงความกล้าหาญและองอาจยิ่งนัก คือทหารแต่ละนายยืนยิงสู้กันโดยไม่มีสิ่งกำบังตัว อาศัยแต่ยุทธวิธีกับความพร้อมเป็นอันหนึ่งอันเดียวเท่านั้น สามารถตรึงข้าศึกให้หยุดและล้มตายคราวละมากคน
ภายหลังการรบพุ่งและมีชัยชนะที่บริเวณทุ่งแขม ณ แขวงประจันตคามคราวนั้นแล้ว พระยาตากยังได้ใช้กระบวนยุทธแบบยิงปืนตับนี้ต่อมาในการรบพุ่งอีกหลายครั้ง ดังเมื่อครั้งยกพลมาถึงแดนเมืองระยองได้จัดการให้ทหารและคนครัวทั้งนั้นยับยั้งพักอยู่บริเวณวัดลุ่ม ครั้งนั้นกรมการเมืองระยองมีขุนรามหมื่นซ่อง นายทองอยู่นกเล็ก เป็นต้น คิดประทุษร้ายรวบรวมพรรคพวกพลทหารเมืองระยองประมาณพันห้าร้อยเสษจะบุกเข้าโจมตีชุมนุมพระยาตาก เหตุการณ์นี้มีปรากฏความโดยพิศดารในพระราชพงศาวดารกรุงสยาม ต่อไปนี้
ครั้น ณ วัน... เพลาประมาณทุ่มเศษ อ้ายเหล่าร้ายยกพลให้ทหารลอบเข้ามาตั้งค่ายล้อมได้สองด้านแล้ว โห่ร้องยิงปืนใหญ่น้อยระดมเข้ามา จึงตรัสให้ดับแสงเพลิงเสีย จัดทหารประจำหน้าที่สงบกันไว้ เสด็จกับด้วยทหารจีนทหารไทย ทหารจีนทหารไทยถือปืนคาบศิลา หลวงชำนาญไพรสณฑ์ นายทองดีทหาร หลวงพล พระเชียงเงินท้ายน้ำ หลวงพรหมเสนา นายบุญมี นายแสงทหาร นายศรีสงคราม นายนากทหาร พะทำมะรงอิ่มทหารจีน หลวงพิพิธ หลวงพิชัย ขุนจ่าเมืองเสือร้าย หมื่นทอง หลวงพรหมถือดาบ ง้าว เสด็จออกเที่ยวตรวจตรารอบค่าย ดูท่าทางข้าศึกจะเข้ามาแห่งใด ตำบลใด
แลอ้ายเหล่าร้าย ชื่อขุนจ่าเมืองด้วง กับทหารประมาณสามสิบคน ล้อมใต้สะพานวัดเนินเข้ามาใกล้ค่ายหลวงประมาณห้าวาหกวา จึงสั่งให้วางปืนพร้อมกัน ถูกขุนจ่าเมืองด้วง กับทหารทั้งปวงซึ่งเดินตามกันนั้นตกสะพานลงพร้อมกันตายเปนอันมาก
ยุทธวิธีโดยเฉพาะกระบวนยุทธยิงปืนตับ หรือยิงปืนเป็นหมู่ออกไปพร้อมกันดังพรรณนามาเป็นลำดับแต่ต้นนี้ ก็โดยประสงค์แสดงให้ทราบยุทธวิธีทางการทำสงครามสมัยปลายกรุงศรีอยุธยาวิธีหนึ่ง ซึ่งมีความตราขึ้นไว้ในตำราพิไชยสงครามสมัยนั้นแล้วตกทอดมาถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ก็ดีประการหนึ่ง กับประสงค์แสดงประวัติการบุคคลสำคัญผู้หนึ่งในประวัติศาสตร์แห่งสยามประเทศ ที่แสดงออกความสามารถในการรบพุ่งด้วยกระบวนยุทธยิงปืนตับให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน เนื้อหาสาระตอนหนึ่งแห่งประวัติการณ์ของบุคคลผู้นี้ คือ พระยาตาก นามเดิม สินเป็นอุปการะแก่การเรียนรู้และทำความเข้าใจต่อประวัติศาสตร์และพงศาวดารแห่งสยาม โดยเฉพาะด้านยุทธวิธีในการทำสงครามเพื่อรักษาอธิปไตย และแว่นแคว้นอันเป็นที่อยู่อาศัยของชนชาวสยามให้ดำรงอยู่มาจนกระทั่งทุกวันนี้ ซึ่งสาระของยุทธศาสตร์ และยุทธวิธีตามประเพณีนิยมแห่งกองทัพสยามแต่โบราณนั้น เป็นที่ควรสังเกตได้ว่าไม่สู้ได้รับความสนใจ หรือเอาใจใส่ค้นคว้า และศึกษาอย่างจริงจังสักกี่มากน้อย กระบวนยุทธยิงปืนตับ ยุทธวิธีหนึ่งของพระยาตาก จึงเป็นกรณีหนึ่งที่ควรยกขึ้นเป็นอุทาหรณ์พึงศึกษาเป็นความรู้ได้ (จุลทรรศน์ พยาฆรานนท์, 2547 : 15-23)
|