เรือสำเภา เป็นเรือชนิดหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลจากจีน คำว่า “ สำเภา" มีผู้ให้ความเห็นว่ามาจากคำว่า “ ตะเภา "ซึ่งหมายถึง ลมที่พัดมาจากทิศใต้ เรือค้าขายที่มาจากประเทศจีน ซึ่งมีการติดต่อค้าขายกับประเทศไทยมากที่สุด เข้ามาในประเทศไทยปีละครั้งในฤดูร้อน ซึ่งเป็นฤดูที่มีลมตะเภาพัดมา จึงได้เรียกเรือค้าขายที่มาจากประเทศจีนว่า “ เรือตะเภา ” หรือ “ เรือสะเภา ” แล้วภายหลังเรียกว่า “ เรือสำเภา ” ซึ่งหมายถึงเรือที่มาจากประเทศจีน เรือของจีนนั้นมีหลายแบบหลายชนิด เช่นเดียวกับเรือของประเทศอื่นๆ เรือสำเภามีความหมายอย่างกว้างๆ ว่าเป็นเรือขนาดใหญ่แบบจีนแล่นออกทะเลลึกได้ บางทีก็เรียกเรือไหหลำของจีนว่า เรือสำเภา เพราะเป็นเรือที่มาจากประเทศจีนเหมือนกัน

เรือสำเภาที่ต่อในประเทศไทย ลอกแบบมาจากเรือของจีนแบบหนึ่งนั้น มีปรากฏให้เห็นเป็นตัวอย่างที่วัดยานนาวา กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเรือขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยต่อในประเทศไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ส่วนเรือสำเภาขนาดย่อมกว่านี้ก็มีใช้ในเมืองไทยเหมือนกัน รูปร่างลักษณะจะแตกต่างกับเรือสำเภาที่วัดยานนาวาไปบ้าง เพราะการต่อเรือแต่ละลำย่อมจะแตกต่างกันไปตามความประสงค์ของผู้ใช้เรือนั้นๆ

เรือใบในสมัยโบราณนั้นนิยามทาสีตัวเรืออย่างฉูดฉาดและแปลกๆ เพื่อให้ดูเป็นสง่างามตามความนิยมของแต่ละท้องถิ่น เพราะถือว่าเรือเป็นสมบัติอันมีค่าและนำมาซึ่งโภคทรัพย์ จึงต้องมีการตกแต่งให้สวยงามไม่ให้น้อยหน้าแก่กันได้ ดังนั้นจึงมีการสลักลวดลายและทาสีเรือเป็นรูปต่างๆ ทั้งที่ตอนหัวเรือและตอนท้ายเรือ ตามลักษณะและความยินยอมของแต่ละชาติ

เรือสำเภาของไทยมีกำเนิดมาจากจีนอย่างแน่นอน เพราะตามประวัติบอกว่ามีช่างชาวจีนเป็นหัวหน้าช่างต่อเรือ อีกประการหนึ่งการเดินเรือเข้าไปค้าขายจะต้องเป็นเรือที่มีลักษณะเป็นเรือจีน จึงจะเข้าเทียบท่าเรือของจีนได้

เรือสำเภาของไทยมีลักษณะเป็นเรือสำเภาแบบทั่วๆ ไป ตลอดทั้งลำ คือ มีดาดฟ้ายกท้ายเรือ หางเสือเป็นรูปแผ่นบานประตูสามารถยกขึ้นลงได้ ใช้ใบแขวนขนาดใหญ่ที่มีพรวนใบเต็ม (ใบปีกค้างคาว) ส่วนที่แตกต่างกันได้แก่ การประกอบกระดูกงูและกง เรือสำเภาของไทยมีดาดฟ้ายกท้ายเรือสูงกว่าหัวเรือเล็กน้อย มีส่วนโค้งน้อยมากและดาดฟ้ายกท้ายเรือก็ไม่ลาดไปทางหัวที่ต่ำกว่ามากนัก จึงมีลักษณะทั่วไปคล้ายกับเรือสำเภาของจีน

ปัจจุบันมีเรือสำเภาที่ใช้ใบขนาดใหญ่เหลืออยู่เพียงไม่กี่ลำ เรือเหล่านี้จะแล่นอยู่ตามบริเวณรอบๆ อ่าวไทยและข้ามไปมาโดยบรรทุกทราย ไม้ท่อน และหิน

การต่อเรือสำเภาไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา

กรุงศรีอยุธยาในอดีต มีความเจริญรุ่งเรืองในหลายด้านทั้งด้านศิลปะ วรรณคดี การปกครอง การทหาร และการพาณิชย์ ในด้านการคมนาคมและการพาณิชย์ในสมัยนั้น ไทยเรามีการติดต่อค้าขาย และเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ การค้าทางทะเลย่อมขึ้นอยู่กับการต่อเรือที่จะใช้ออกไปทำการค้าขายยังต่างประเทศ และอุตสาหกรรมการต่อเรือในประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้าไม่แพ้ประเทศอื่นๆ ทางภาคเอเชีย เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยพันธุ์ไม้หลายๆ ชนิด ที่เหมาะแก่การต่อเรือ จึงปรากฏว่าเรือรบ เรือสำเภาค้าขายของไทยแต่โบราณกาลส่วนใหญ่เป็นเรือที่ต่อในเมืองไทย ทั้งที่เป็นเรือสำเภาแบบจีน และเรือกำปั่นแบบฝรั่งในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ รัชกาลที่ 19 แห่งกรุงศรีอยุธยาก็ปรากฏว่า ได้มีการสั่งช่างต่อเรือมาจากประเทศฮอลันดา ซึ่งเข้าใจว่าคงจะดำริต่อเรือกำปั่นแบบฝรั่งสำหรับใช้ในราชการ ส่วนเรือสำเภาแบบจีนคงจะต่อได้อยู่แล้ว โดยใช้ช่างต่อเรือชาวจีนเป็นหัวหน้า ถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์องค์ที่ 27 แห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นสมัยที่มีการค้าทางทะเลเจริญก้าวหน้ามาก ก็ได้มีการต่อเรือกำปั่นที่กรุงศรีอยุธยาและที่เมืองมะริด ดังปรากฏหลักฐานในจดหมายเหตุของบาทหลวงเดอชัวสี ที่เมืองมะริดนั้น เมื่อครั้งแซมวลไวท์เป็นเจ้าท่าควบคุมการค้าทางทะเลทางอ่าวเบงกอลก็ได้ต่อเรือกำปั่นที่เมืองนี้ เพื่อเดินทางค้าขายกับหัวเมืองทางอินเดีย ปรากฏว่ามีเรือหลวงของไทยต่อที่เมืองมะริดลำหนึ่ง ชื่อเรียกอย่างฝรั่งว่า RESOLUTION ได้ทำการระดมยิงเมืองของพวกเจ้าแขกทางอินเดีย จนเป็นเหตุให้เกิดกรณีพิพาททางการเมืองกับฝ่ายอังกฤษขึ้นในสมัยนั้น

ในสมัยสมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ที่ 9 (กษัตริย์องค์ที่ 30 แห่งกรุงศรีอยุธยา) ก็ได้มีการต่อเรือกำปั่นซึ่งในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า เป็นเรือกำปั่นที่มีขนาดยาวประมาณ 37 เมตร ความกว้างประมาณ 7 เมตร ใช้เวลาในการต่อ 5 เดือน หล่อหลอมเหล็กและตีเป็นสมอใหญ่ที่วัดมเหยงคณ์ กรุงศรีอยุธยา คงเป็นเรือกำปั่นใบไม่น้อย 2 เสา ใช้ใบพรวนใยพืชเป็นใบชนิดพับ ท้ายบาหลียกสูงมีบ้านเล็กๆ คล้ายสำเภาจีน หางเสือแบบบานประตู มีช่องข้างเรือสำหรับพาดกระบอกปืน มีช่องระวางทางลงสินค้า ในครั้งนั้นจะต้องต้อนช้างเดินเป็นทางลาดลงไปถึงท้องเรือ เพราะครั้งนั้นไม่มีเครนหรือคันบูมยกสินค้าเหมือนปัจจุบัน สามารถบรรทุกช้างได้ถึง 30 เชือก และภายในท้องเรือนั้นจะต้องมีเนื้อที่กว้างขวางอย่างเพียงพอ สำหรับช้างและอาหารช้างจำนวนมากเป็นเวลาหลายเดือน กว่าจะถึงเมืองท่าของต่างประเทศ และใช้ใบกำปั่นไม่มีเครื่องยนต์ เมื่อมีลมก็จะเดินทางไปได้ แต่ยามลมสงบก็จะแล่นไปไม่ได้ ต้องทอดสมอเพื่อคอยลม เมื่อมีกระแสลมพัดจึงจะออกเดินทางต่อไปได้ จะเดินทางบ้างทอดสมอบ้างเป็นเวลาหลายเดือน และเสบียงอาหารและน้ำ

จืดสำหรับลูกเรือและกัปตันอีกจำนวนหนึ่ง แต่เมื่อพบเมืองท่า หากมีพระราชไมตรีก็อาจจะได้รับเสบียงอาหารและน้ำได้บ้าง และเมื่อยามศึกสงครามก็อาจใช้เป็นเรือรบได้ด้วย

ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แสดงว่าได้มีการต่อเรือทั้งสำเภาแบบจีนแลกำปั่นในแบบฝรั่งมาแล้วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เพื่อใช้เป็นเรือหลวง ซึ่งได้ใช้ในการค้าทางทะเลอีกด้วย นอกจากนี้ ก็มีพวกพ่อค้าประชาชนจัดตั้งโรงต่อเรือสินค้า บางลำต่อเสร็จแล้วก็เอาเรือนั้นไปขายยังต่างประเทศ เพราะเมืองไทยอุดมไปด้วยไม้ซึ่งมีราคาถูกกว่าต่างประเทศ กับทั้งค่าแรงก็ไม่แพง ค่าต่อเรือถูกกว่าที่อื่นๆ จึงได้มีการต่อเรือเอาไปขายต่างประเทศ นับเป็นอุตสาหกรรมที่มีกำไรดีอย่างหนึ่ง จนถึงรัชสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทางราชการรู้สึกว่า หากปล่อยให้การต่อเรือมีมากจนเกินไป ไม้ดีๆ ในเมืองไทยก็จะหมดลงไปทุกที จึงได้ออกพระราชกำหนดเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมการต่อเรือขึ้นไว้ตามแบบอย่างสมัยกรุงศรีอยุธยา สมควรจะได้นำพระราชกำหนดนี้ขึ้นประกาศใช้เมื่อ พ.ศ.2328

“ พระราชกำหนดนี้มีข้อความว่า ในสมัยสมเด็จพระบรมโกษฐ์ เนื่องจากมีความจำเป็นต้องใช้ไม้ในการปฏิสังขรณ์ สร้างวัดวาอาราม และใช้ในราชการในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก จึงให้มีกฏหมายห้ามเอกชนใช้ไม้ต่อสำเภาตามอำเภอใจ ผู้ที่จะต่อสำเภาต้องได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสียก่อน โดยต้องเสียค่าธรรมเนียมเป็นเงินหนึ่งชั่ง สิบสี่ตำลึง สามสิบบาท สองสลึง ผู้ที่ลักลอบต่อสำเภาจะได้รับโทษ และหากต้องการตกแต่งซ่อมแซมสำเภาที่ชำรุดใหม่ จะต้องบอกแก่เจ้าพนักงานให้วัดปากเรือ และสำเภาตามกฎหมาย เพื่อไม่ให้มีการซ่อมแปลงปากเรือกว้างยาวเท่าเดิม อันจะทำให้หลวงเสียประโยชน์ และได้กำหนดบทลงโทษไว้ ”

อัตราค่าธรรมเนียมในการต่อเรือสำเภา ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงประกาศให้เมื่อปี พ.ศ.2328 มีลำดับขั้นตอนการเสียค่าธรรมเนียม ดังต่อไปนี้

 

ตำลึง
บาท
สลึง
1. เถ้าแก่เรียก 3 ต่อๆ ละตำลึง รวม
2. มหาดเล็กกราบทูลพระกรุณาฉลอง 3 ต่อๆ ละ 3 ตำลึง
3. ชาววังผู้อยู่เวรเรียก 3 ต่อๆ ละตำลึง
4. มหาดไทยผู้อยู่เวรเรียก 3 ต่อๆ ละตำลึง
5. มหาดไทยหมายให้เรียกสัสดีเรียก 3 ต่อๆ ละ 1 บาท
6. นักการสมุบัญชีกรมท่าเรียก 3 ต่อๆ ละ 1 บาท
7. เสมียนเวรกรมท่า – โกษาธิบดีเรียก 3 ต่อๆ ละ 3 ตำลึง
8. โชดึกและเสมียนเวรเรียก 3 ต่อๆ ละ 2 บาท 2 สลึง
3
9
3
3
-
-
9
-
-
-
-
-
3
3
-
6
-
-
-
-
-
-
-
6

โชดึกจึงจัดแจงเหยียบที่ ผู้มีชื่อต่อเรือสำเภาเรียกเหยียบที่ 6 บาท รวมจะต้องชำระค่าธรรมเนียมในการต่อเรือสำเภา 27 ตำลึง 12 บาท หรือ 30 ตำลึง (1 ตำลึง = 4 บาท)

(ไพฑูรย์ ขาวมาลา, 2542 : 6740-6742)