ขั้นตอนและอุปกรณ์การทำเงินพดด้วง แถวบนคือ ค้อนและเบ้า แถวกลางและแถวล่างคือ ก้อนเงินรูปไข่ นำมาตีพับกลาง แล้วนำไปตีอีกครั้งในเบ้า พร้อมกับการประทับตราประจำแผ่นดินและตราประจำรัชกาล
(ภาพจากหนังสืออยุธยา)
เงินพดด้วง มีรูปลักษณ์คล้ายตัวด้วงที่ขดอยู่ เป็นเงินตราที่ใช้กันตลอดยุคสมัยอยุธยา ซึ่งมีขนาดต่างๆ กัน จากหลักฐานที่บันทึกไว้ในจดหมายเหตุ หรือเอกสารของชาวต่างประเทศที่เข้ามาในสมัยอยุธยา สรุปได้ว่า มี 6 ขนาด คือ บาท กึ่งบาท สลึง เฟื้อง 2 ไพ และ ไพ แต่ที่ใช้แพร่หลายมี 4 ขนาด คือ บาท สลึง เฟื้อง และ 2 ไพ เงินพดด้วงนั้นใช้กันอยู่ในวงการค้า ซึ่งในสมัยอยุธยา การค้าเป็นรายได้สำคัญของรัฐ และเป็นการค้าภายใต้การผูกขาดของพระคลังสินค้า การหมุนเวียนของเงินพดด้วงในตลาดจึงจำกัดอยู่ในวงการค้าระหว่างพระคลังสินค้ากับบริษัทต่างประเทศ ส่วนการค้าของราษฎรมีการใช้เงินพดด้วงไม่มากนัก แต่จะใช้เบี้ย (คือเปลือกหอยเล็กๆ ที่พ่อค้าชาวต่างชาติเป็นผู้นำเข้ามา) เป็นเงินตราย่อยในการค้าขายมากกว่า (อยุธยา, 2546 : 275)
ลักษณะของเงินพดด้วงในสมัยอยุธยา ทำด้วยเนื้อเงินแท้ ชนิดราคาของเงินพดด้วงที่ใช้มีเงินบาทเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาเป็นสองสลึง สลึง เงินเฟื้อง และเงินสองไพ เงินปลีกที่ราคาต่ำสุด คือ เบี้ย ได้แก่ เบื้ยจั่น และเบี้ยนาง อัตราการแลกเปลี่ยนเบี้ย 1 เฟื้อง เท่ากับ 800 เบี้ย (สุจิตรา มาถวร, 2541 : 32) ซึ่งอัตราการแลกเปลี่ยนนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการ
จากการศึกษาตามเอกสารพบว่า เงินที่ใช้ในสมัยกรุงธนบุรี ในช่วงแรกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้ใช้พดด้วงของกรุงศรีอยุธยาอยู่ระยะหนึ่ง และต่อมาโปรดฯ ให้ผลิตพดด้วงประจำรัชกาลเพื่อใช้ในระบบเศรษฐกิจ (แต่คงสร้างขึ้นไม่มากนัก และคงใช้เงินพดด้วงของเก่าแบบกรุงศรีอยุธยาอีกส่วนหนึ่ง, บุญเกิด งอกคำ, ม.ป.ป. ; 40) ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับพดด้วงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย โดยเงินพดด้วงมีลักษณะเกือบเป็นก้อนกลม มีตราประทับ 2 ตรา ที่ด้านบนเป็นตราธรรมจักร หรือจักร เป็นเครื่องหมายประจำแผ่นดิน ส่วนตราด้านหน้า เป็นเครื่องหมายประจำรัชกาล (อยุธยา, 2546 : 274) ซึ่งกรมธนารักษ์ (2545 : 48 ) ได้กล่าวถึง ตราที่ประทับบนพดด้วงในสมัยกรุงธนบุรีว่า ...ประทับตราพระแสงจักร เป็นตราประจำแผ่นดิน ส่วนตราประจำรัชกาลยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าเป็นตรา ตรีศูล หรือ ตราทวิวุธ
|
พดด้วงตรีศูล |
พดด้วงทวิวุธ |
(ภาพจากหนังสือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และวิวัฒนาการเงินตราไทย)
ตรีศูล เป็นกลาวสามง่ามของพระอิศวร เรียกสั้นๆว่า ตรี
ทวิวุธ เป็นซ่อมสองง่าม หรือ เรียกตามภาษาสามัญว่า ตราซ่อมสองแฉก (มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม, 136-137)
ในรัชสมัยของพระองค์ การค้ากับต่างประเทศทำให้เงินตราของประเทศต่างๆ หลั่งไหลเข้ามาในกรุงธนบุรี ดังหลักฐานในจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี (พระองค์เจ้าหญิงกุ หรือเจ้าครอกวัดโพธิ์ ซึ่งเป็นพระเจ้าน้องนางเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราช) บันทึกเกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศที่เข้าใจว่าหายไปจากคลังในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า ...เงินในคลังหาย 2,000 เหรียญ เหรียญละ | ๑ แพรเหลือง 10 ม้วน รับสั่งเรียกหาไม่ได้...
--------
๑ | ๓
เหรียญกษาปณ์ต่างประเทศชนิดหนักหนึ่งบาทสามสลึงเฟื้องนี้ตรงกับน้ำหนักเงินเหรียญสเปน (สมัยพระเจ้าคาร์โลสที่ 3 กษัตริย์สเปน ซึ่งครองราชย์ในช่วงระยะเวลาเดียวกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) (กรมธนารักษ์, 2545 : 48)
เบี้ย
(ภาพจากหนังสือวิวัฒนาการเงินตราไทย) |
สำหรับการค้าในส่วนของราษฎรไม่ปรากฏเอกสารว่ามีการกล่าวถึง การนำเบี้ย หรือประกับมาใช้ แต่คาดว่าน่าจะยังคงให้ใช้อยู่ ดังที่สุจิตรา มาถาวร (2541 : 29) กล่าวว่า ...เงินเบี้ยใช้ติดต่อกันมาจนถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ผลิตเหรียญดีบุกผสม เรียกว่า กะแปะจีน และโสฬส ขึ้นใช้ การใช้เบี้ยก็หายไปจากระบบการใช้เงินของไทยตั้งแต่นั้นมา
ส่วนเงินพดด้วงถูกยกเลิกไปเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ.2477 ในสมัยรัชกาลที่ 5 (อยุธยา, 2546 : 274)
มาตราเงินไทยโบราณ มีอัตรา
4 ไพ = 1 เฟื้อง
2 เฟื้อง = 1 สลึง
4 สลึง = 1 บาท
4 บาท = 1 ตำลึง
20 ตำลึง = 1 ชั่ง
เขียนเป็นผังได้ ดังนี้
ชั่ง
ตำลึง | บาท
----------------------------
เฟื้อง | สลึง
ไพ
ตัวอย่าง เงิน
๖
๗
| ๓
----------------------------
๑
| ๒
๓
อ่านว่า เงิน ๖ ชั่ง ๗ ตำลึง ๓ บาท ๒ สลึง ๑ เฟื้อง ๓ ไพ (สถาบันภาษาไทย, 2545 : 115-116)
|