ในพระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสิน มักจะปรากฏข้อความเกี่ยวกับคำทำนาย คำพยากรณ์ และสัตยาธิษฐานอยู่เนืองๆ ดังที่มีบันทึกไว้ ดังนี้

1. คำทำนายเรื่องลักษณะโดย ซินแสชาวจีน ซึ่งพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงประพันธ์ไว้ในเรื่องสามกรุง (2518 : 51-58, 353-356) ว่า
ซินแสหมอดู

ในแผ่นดินขุนหลวงบรมโกษฐ

โคลง ๔

มิ่งมกุฎอยุธเยศเจ้า                      จตุทิศ
เดชกระเดื่องเรืองฤทธิ์                 เลื่องหล้า
บัลลังก์ราชรังสฤษดิ์                     สราญรักษ์
ชาวอยุธย์สุดกล้า                         ศึกใกล้ไป่มีฯ

ส่ำกุศลผลผริตซร้อง                    สาธุการ
สมณะพราหมณาจารย์                   จิตเอื้อ
ทรงบาตร์พระราชทาน                   ทุกวี่ วันเอย
ภิกษุสงฆ์ม่งเมื่อ                           เมื่อเช้าอรุณฉายฯ

สมณะสองหนุ่มผู้                          เพ็ญสิก ขาแฮฯ
พระภิกษุสินภิก                             ษุด้วง
ในกาละจาริก                               รับบาตร์
ย่างยาตร์บ่ายบาทจ้วง                    จดจ้องท้องถนนฯ

ต่างวัดต่างบ้านต่าง                       สำนักนิ์ กันนอ
แต่ว่าเคยรู้จัก                               มักคุ้น
บิณฑบาตร์ปราศอุปสัค                 เดินร่วม รัถย์แฮ
ดวจดั่งเกลอเสมอหุ้น                   รับข้าวเขาถวายฯ

สองสงฆ์ม่งจิตเต้า                        ทางเตียน
สู่ราชมณเฑียรเทียร                     ฆราชเจ้า
ราชภัตต์ผลัดวันเวียน                   เวนเปลี่ยน
สองภิกขุเพื่อนเข้า                       รับพร้อมวันกันฯ

ถวถนนชนมุ่งเมื้อ                         มาเนือง
สาวสพราวชาวเมือง                     มากหน้า
เอียงอายส่ายชำเลือง                   แลพบ
ภิกขุหนุ่มกลุ้มกล้า                      กลัดกรึ้ง กรึง กมลฯ

สองฟากมากด้วยเครื่อง               ครัวทาน ถวายแฮ
ม้าหลักปักริมทวาร                      ที่ตั้ง
ภาชน์ใหญ่ใส่อาหาร                    บิณฑบาตร์
ข้าวไข่ไก่เป็ดทั้ง                         หมากพร้าวคาวหวานฯ

สาวสวยขวยจิตสเทิ้น                   ใจสทก
หวาดประหวั่นพรั่นอก                   อัดเอ้อ
มือจับทัพพียก                              คอยอยู่
พระไม่หยุดสุดเก้อ                       นิ่งก้มกรมหทัยฯ
ได้คิดสกิดแม่ให้                          นิมนต์ ท่านเทอญฯ
สองภิกษุจรดล                             ดุ่มเต้า
ผ่านไปไป่ยินยล                           ในย่าน นี้เลย
หน่อยจะไม่มีข้าว                          บาตร์ได้ไปฉันฯ

แม่ว่าอย่าห่วงให้                          เป็นกัง วลเลย
เชิญท่านๆ                                  ไม่ฟัง ดอกเจ้า
บาตร์เปล่าจะเข้าวัง                      บิณฑบาตร์
ดูสิท่านสาวเท้า                           สู่ท้องฉนวนใน ฯ

ฝ่ายสองภิกษุเต้า                         ตามหน
ไป่หยุดในแนวถนน                      ที่เมื้อ
มุ่งภักตร์จักจรดล                        เดินดุ่ม
สงบเสงี่ยมเอี่ยมองค์อเคื้อ           ค่อยคล้อยรอยทาง ฯ

ถับถึงวังราชเจ้า                            จอมปราณ
หยุดนั่งนอกแนวทวาร                   นิเวศน์ไท้
จวนองค์พระภูบาล                        จักเสด็จ
สู่แท่นทรงบาตร์ใต้                       ร่มกั้งหลังคา ฯ

มีชายนายหนึ่งเต้า                         ทางตีน
เป็นบุรุษเมืองจีน                          จิตกล้า
เห็นสมณะทรงศีล                         สองรูป
จีนชงักพยักหน้า                            ครู่แล้วเลยไป ฯ

เดินสามสี่ก้าวกลับ                       เหลียวดู เล่านอ
ตาตะเบ็งเพ่งพบู                           ดั่งบ้า
ทำหน้าน่าอดสู                             สรวลร่วน
\หันกลับนับสักห้า                        หกครั้งชังจริง ฯ

หลากจิตบรรพชิตทั้ง                    สองรูป นักแล
เห็นท่าจินหน้าตูบ                        เติบกล้า
กายกระไรไผ่ผอมซูบ                  ผิวซีด
อากัปป์กิริยาบ้า                           บิ่นล้ำรำคาญ ฯ

โคลง ๒

ดูจริตผิดแผกแท้                        จีนจะเกรงใจแม้
หนึ่งน้อยฤามี ฯ
เธอพยักกวักเรียกเถ้า                  ว่าอย่างเพ่อรีบเต้า
จุ่งแก้พิศวง เรารา ฯ

สองภิกษุถาม
หัวเราะเยาะยั่วด้วย                       อันใ ด ท่านเอย
เพียรเพ่งเล็งแลอะไร                   ใคร่รู้
พิศหน้าอาตมาไฉน                     ขันหนัก
ดูดั่งเห็นเป็นผู้                             แผกเค้าเผ่าคน ฯ

โคลง ๒

จีนแก่แกยิ่งซ้ำ                            หัวเราะดุจเยาะย้ำ
ยั่วเย้าเกาใจ จริงแฮ ฯ
พิศภักตร์พลางพยักย้าย                อ่านท่านดังอ่านป้าย
แผ่นนี้แล้วแผ่น โน้นนา
ท่านไม่ถือเจ๊กบ้า                        ไม่ว่าจีนบอถ้า
ว่าบ้าบอจริง ฯ
สงบอารมณ์ข่มยั้ง                        ลองซักอีกสักครั้ง
คิดถ้อยคำถาม ฯ
ขอโทษอย่าโกรธขึ้ง                    แจ้งเหตุเลศลึกซึ้ง
ที่ให้หัวเราะ นี้เทอญ ฯ

ร่าย

จีนตอบว่าข้าพเจ้า ซินแสเถ้าหมอดู เรียนจากครูเมืองจีน
ผู้ประวีณวิทยาศาสตร์ สามารถรู้ล่วงน่า ว่าบุรุษสตรี คนใด
มีรูปลักษณ์ อันส่อศักดิ์วาศนา ในอนาคตกาล สื บ สำนารแต่นี้
ใครจะเป็นเช่นชี้ ทราบได้ในปัจ จุบันแล ฯ

ภิกษุหนึ่งหัวเราะ ว่าเฉพาะตัวอาตมะ มีลักษณะฉันใด
วาศนาไฉนบอกบ้าง ตามคดีที่อ้าง ว่าร้ายฤาดี ฯ

ซินแสทำนาย
ชายใดไกรลักษณ์พร้อม                 เพราองค์
ภิกษุทำนาย
ศักดิ์กษัตร์ถนัดทรง                       ส่อชี้
สมบัติขัติยมง                                คลครอบ ครองแฮ
ชายนั่นคือท่านนี้                           แน่ข้าพยากรณ์ ฯ

โคลง ๒

ท่านฟังท่านนั่งอึ้ง                          จีนตลกกระทกทึ้ง
หลอกล้อฤาไฉน ฯ

ร่าย

พระอีกองค์หนึ่งถาม ว่าตามซินแสกล่าว เป็นข่าวบอก
ล่วงน่า ไม่ตระหนักว่าสรวลสรร เพราะขบขันตรงไหน
ถ้ามีนัยทำนาย จงอธิบายบอกชี้ ว่าเหตุเป็นเลศจี้ จิตให้
เห็นขัน ไฉนนอ ฯ

จีนว่าท่านทั้งสอง ครองผ้ากาสาวพัสตร์ จรจากวัดมาวัง
บรรลุยังที่นี้ นั่งอยู่คู่เคียงชี้ ช่องให้เห็นขันนักหนา ฯ

ภิกษุองค์ที่ ๒ ถาม
เราสองสมณะนี้                           ขันนัก ไฉนนา
ท่านว่าองค์หนึ่งลักษณ์                เลิศแท้
จักอุบัติกษัตร์ศักดิ์                      สูงส่ง
สู่มไหสูรย์แสร้                            ศัพท์ซร้องสรรเสริญ ฯ

ธรรมดาผู้กอบด้วย                      ลักษณะ
ที่จะเป็นประชาปะ                       ปิ่นไท้
ใครเลยจะเคยละ                        เลิงล่อ ล้อแฮ
โหรมิแสร้งใส่ไคล้                      เยาะเย้ยเลยเกิน ฯ

ใครเล่าเนาลักษณ์ต้อย                 ตำรา
ใครเล่าเบาปัญญา                        โยคย้าย
ใครเล่าเปล่าราคา                        เป็นเครื่อง ขันนอ
ใครเล่าเฉาโฉดร้าย                      ใคร่รู้ตูหรือ ฯ

โคลง ๒

ซินแสตอบท่านให้                      ทราบว่าใช่ใส่ไคล้
ยั่วเย้าเร้าเล่น  ดอกรา ฯ

ซินแสทำนาย
ท่านเป็นบุรุษต้อง                       ตามลักษณ์ ล้วนแล

ภิกษุองค์ที่ ๒
บุญเด่นเห็นประจักษ์                  เจิดกล้า
จักสู่ประภูศักดิ์                          สุรกษัตร์
สืบศุภวงษ์ทรงหล้า                    สฤษดิ์เลี้ยงเวียงสยาม ฯ

เกิดมาข้าพเจ้าไม่                      เคยเห็น
สองสหายหลายประเด็น             เด่นชี้
ภายน่าว่าจักเป็น                        ปิ่นกษัตร์
นั่งอยู่คู่กันฉนี้                            แน่ล้วนชวนหัว ฯ

โคลง ๒

สองภิกขุทราบข้อ                     จีนพยากรณ์จ้อ
จักได้เป็นกษัตร์ สองแล ฯ
พูดมากจีนปากจ้าน                    เชิงฉลาดปราชญ์ป้าน
อวดอ้างเป็นหมอ ดูแน ฯ
ท่านว่าอย่าพูดเพ้อ                     เปิดป่าวกล่าวเก้อเก้อ
ป่องป้อล้อเลียน ฯ

สองภิกษุว่า
สองข้าอายุใกล้                          เคียงกัน
ทั้งคู่จะทรงขัณฑ์                        ผิดเค้า
เป็นกษัตร์ร่วมรัฐบัล                    ลังก์ร่วม ไฉนนอ
เห็นจะสัดตวงข้าว                       แน่น้ำคำทาย ฯ

ร่ายยาว
ขณะนั้นนางพนักงาน สมญาราชการว่าจ่าโขลน ตะโกน
ละลังสั่งขาน ให้บริวารโขลนตะโกนต่อไป ว่าภูวนัยเสด็จลง
ทรงบาตร์ เชิญพระสงฆ์ยาตรเข้าวัง สังฆการีนิมนต์พระ
พระราชาคณะนำแถว เดินแนวสู่ประตูวัง พระภิกษุทั้งสอง
องค์ ผู้ทรงไกรลักษณะ ตามมงคลวาทะแห่งซินแสหมอดู
ก็เข้าหมู่กับ พ ระสงฆ์ สู่ฉนวนทรงบาตร์ไท้ ตั้งแต่นั้นมิได้
พบหน้าซินแสอีกเลย ฯ

กลอน ๘
คำซินแสหมอดูตูแถลง กลอนแสดงราวเรื่องแต่เบื้องหลัง
ญาติผู้ใหญ่ผู้เฒ่าเล่าให้ฟัง ตั้งแต่ครั้งข้าพเจ้ายังเยาว์ปี
จะเชื่อหรือไม่ควรนั้นส่วนหนึ่ง แต่ใช่เรื่องอันพึงจะเสียดสี
เป็นอุปาขยานะประวาที ซึ่งบอกเล่าเก่ากี้ร้อยปีปลาย
ขุนนางครั้งพระพุทธยอดฟ้า เล่าสืบๆ กันมาในเชื้อสาย
คำซินแสหมอดูเป็นครูทาย แม้เจ้านายรุ่นเก่าก็เล่ากัน *

น่า ๕๘

“ คำซินแสหมอดูเป็นครูทาย แม้เจ้านายรุ่นเก่าก็เล่ากัน”
กลอนข้างบนนี้ข้าพเจ้าแต่งแล้วหลายเดือน จึ่งได้พบหนังสือเล่าเรื่อง
เดียวกันในสมุดไทยเล่มหนึ่ง ของหม่อมเจ้าปิยภักดีนารถในกรมหมื่น วิ ษณุนารถนิภาธร เป็น สมุดขาวกระดาดข่อยเขียนหมึกจีน ท่านปิยเป็นนักเลงเล่นหนังสือเก่า เก็บสมุดไทยรวมไว้มาก
สมุดไทยเล่มที่ข้าพเจ้าพบเรื่องซินแสหมอดูนี้ หลังปกเขียนว่า “ หนังสือบรรพบุรุศย์ ๑๒๔๙ ” ตัวเลขเข้าใจว่าจุลศักราชปีที่คัดหนังสือลงสมุดเล่มนั้น (รัชกาลที่ ๕) แต่หนังสือ นั้นเรียบเรียงเมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงษ์ยังมีชีวิตอยู่ สมเด็จพระเจ้าพระยาองค์นั้น ถึงพิราลัยในต้นรัชกาลที่ ๔ ท่านรับพระราชทานสุพรรณบัตรเมื่อปีกุญ พ.ศ. ๒๓๗๔ มรณใน ปีเถาะ พ.ศ.๒๓๙๘ จึ่งควรเข้าใจว่าหนังสือบรรพบุรุศย์นี้เริ่มเรียบเรียงก่อนหรือระหว่าง พ.ศ.๒๓๙๔ กับ ๒๓๙๘ ในงานพระราชทานเพลิงศพท่านปิยภักดีใน พ.ศ.๒๔๗๓ ได้พิมพ์หนังสือนี้แจก แต่เปลี่ยนเรียกชื่อว่า “ อภินิหารบรรพบุรุษ ” ข้าพเจ้าได้รับแจกคราวนั้น แลนำใจความในสมุดบางตอนไปอ้างในหนังสือที่ข้าพเจ้าเขียนใน พ.ศ.๒๔๗๔ (คำนำบทลครเรื่องเทพวิไลย) แต่ภายหลังลืมสนิทจนได้พบต้นฉบับสมุดไทยครั้งนี้ ในฉบับสมุดไทยมีเรื่องซินแสหมอดูอย่างเดียวกับใจความในโคลงสามกรุง ซึ่งข้าพเจ้าแต่งตามที่ได้ยินผู้ใหญ่เล่าด้วยวาจานานแล้ว แปลกกันแต่พลความซึ่งข้าพเจ้าแซก เข้าไปบ้าง ดังผู้อ่านย่อมสังเกตได้อยู่แล้ว ในส่วนที่ว่าเจ้านายเคยทรงเล่ากันนั้น ข้าพเจ้าหมายความเพียงเจ้านายผู้ใหญ่ที่ข้าพเจ้ารู้จักพระองค์แต่ใน “หนังสือบรรพบุรุศย์ ” อ้างไปไกลมาก ดังคัดมาไว้ต่อไปนี้ (ใช้ตัวสกดตามฉบับสมุดไทย) “ข้อความอันนี้ท่านทั้งสองพระองค์ (คือพระเจ้ากรุงธนแลพระพุทธยอดฟ้า) ก็ได้ทรงมนสิการสืบต่อมา เมื่อใดว่างราชการแล้วก็ทรงเล่าให้พระเจ้าลูกเธอแลพระราชวงษานุวงศ์ฟังเนืองๆ ทราบด้วยกันมาก อนึ่ง ท่านซึ่งเป็นผู้เรียบเรียงร้อยกรองเรื่องอภินิหารนี้ท่านรับสั่งเล่าว่า เมื่อวันท่านทรงผนวชเณรนั้น พระเจ้าอยู่หัวดำรัสเล่าให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราช และเจ้าเวียงจัน์ ฟังในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนสาสดาราม พระสงฆ์ราชาคณะก็ได้ยิน ได้ฟังเรื่องนี้ ที่ทรงเล่ายืดยาวมาก ได้ยินกันมาทั้งพระสงฆ์แลข้าราชการที่เฝ้าอยู่ในอุโบสถนั้น ทุกวันนี้ก็ยังมีตัวอยู่มาก เป็นต้นว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูวงษ์ แลท่านผู้อื่นก็มากด้วยกัน” ที่ว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงเล่าให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชแลเจ้าเวียงจันทน์ฟังในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนสาสดาราม เมื่อวันซึ่งท่านผู้ทรงเรียบเรียงทรงผนวชเณรนั้น เจ้าเวียงจันทน์เข้ามา เฝ้า ครั้งหลังในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ ในปีระกาสัปตศก พ.ศ.๒๓๖๘ สอบพระชนมายุเจ้านายที่ถึงกำหนดทรงผนวชเณรในปีนั้น วังหลวงมีกรมหลวงวรศักดาภิศาลพระองค์ ๑ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์พระองค์ ๑ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณพระองค์ ๑ วังน่ามีกรมหมื่นอนันตการฤทธิ์พระองค์ ๑ (กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ แลพระองค์เจ้าลักขณานุคุณสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อพระชนมายุยังไม่มาก) กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ ทรงใส่พระทัยมากในเรื่องหนังสือ เข้าใจกันว่า ทรงเรียบเรียงหนังสือชนิดนี้ไว้ก็มี แต่เมื่อเจ้าเวียงจันทน์มาเฝ้าใน พ.ศ.๒๓๖๘ นั้น กรมหลวงบดินทร์ยังไม่ประสูติ “หนังสือบรรพบุรุศย์” นี้ กรมหลวงบดินทร์อาจได้ทรงชำระ แลโปรดให้ขึ้นสมุดไว้ในรัชกาลที่ ๕ ตามเค้าที่เจ้านายพระองค์อื่นทรงเรียบเรียงไว้ก่อนก็เป็นได้ แต่นอกจากที่สอบศักราชดังข้างบนนี้แล้วก็ไม่มีทางอื่นที่จะเ ดา

2 . คำ พยากรณ์ของพระมหาโสภิตฯ
ขจร สุขพานิช (2518 : 20 -21 ) กล่าวถึง พระมหาโสภิตฯ ว่า “เป็นเจ้าอาวาสวัดใหม่ (ไม่บอกว่าวัดใหม่จังหวัดไหน) เกี่ยวกับคำพยากรณ์ของพระมหาโสภิตฯ นั้น คือเมื่อเสร็จศึกอะแซหวุ่นกี้แล้ว พระมหาโสภิตฯ เจ้าอธิการวัดใหม่เขียนคำพยากรณ์ใส่ใบตาลไปถวาย เป็นทำนองพุทธทำนายว่า “ตระกูลเสนาบดีจะได้เป็นกษัตริย์ 4 พระองค์ เสวยราชสมบัติในกรุงศรีอยุธยาและพระองค์ที่สุดนั้นพม่าจะยกมาย่ำยี พระนครจะเสียแก่พม่า แล้วจะมีบุรุษพ่อค้าเกวียนจะได้เป็นพระยา ครองเมืองทิศใต้ชายทะเลชื่อ เมืองบางกอก พระยาองค์นั้นจะได้สร้างเมืองเป็นราชธานีขึ้นได้ 7 ปี ในที่สุด 7 ปีนั้นพม่าจะยกมาพยายามทำสงครามอยู่ 3 ปี ในพระพุทธศักราชล่วงได้ 2320 จุลศักราชได้ 1139 พระนครบางกอกจะเสียแก่พม่าข้าศึก ให้เสด็จขึ้นไปอยู่ ณ เมืองละโว้ คือเมืองลพบุรี อันเป็นที่ชุมนุมพระบรมธาตุ ตั้งอยู่ท่ามกลางแผ่นดินไทย ข้าศึกจะทำร้ายมิได้เลย” คำทำนายของพระมหาโสภิตนี้ เมื่อพระเจ้าตากสินทรงอ่านแล้ว จึงดำรัสว่า “ซึ่งจะละเมืองบางกอกเสียนั้นมิได้ แต่ปากสมณชีพราหมณ์ว่าแล้ว จำจะทำตามจะไปอยู่เมืองลพบุรีสัก 7 วัน พอเป็นเหตุ” คำพยากรณ์นี้ระบุว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินเป็น “บุรุษพ่อค้าเกวียน” ไม่ใช่มหาดเล็กของสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ จึงทำให้คิดไปอีกทางหนึ่งว่า ถ้าแต่เดิมพระองค์เป็นพ่อค้าธรรมดาสามัญคนหนึ่ง คุมสินค้าไปขายตามต่างจังหวัด เหตุที่จะได้บำเหน็จความชอบจนถึงกับได้เป็นเจ้าเมืองตาก มูลเหตุความชอบนั้นจะต้องใหญ่หลวง เช่น เมื่อคราวศึกอลองพญา พระองค์คุมผู้คนออกตัดกองเสบียงของข้าศึกหลายต่อหลายครั้ง มีชัยชนะเป็นความชอบมากมายพอเพียงถึงได้รับพระราชทานแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองชายแดน มิฉะนั้นไหนเลยพ่อค้าธรรมดาจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นขุนนาง ในตำแหน่งและความรับผิดชอบถึงเพียงนั้น แต่นั่นแหละนี่เป็นเพียงความนึกคิด เรายังไม่มีหลักฐานว่าพระองค์ได้ทรงประกอบวีรกรรมเบื้องต้นในคราวคุมเกวียนไปค้าขาย หรือหลักฐานสักอย่างหนึ่งคงมีซุกซ่อนอยู่ มีอาลักษณ์จดหมายเหตุไว้แต่มิได้นำออกมาตีพิมพ์เผยแพร่ก็เป็นได้

3. สัตยาธิษฐาน
ในเรื่องนี้ขจร สุขพานิช (2518 : 21-22) กล่าวว่า “เมื่อพระองค์ทรงคุมทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงหใม่ได้แล้ว พ.ศ.2317 ขณะที่พระองค์ทรงรีบรุดลงมาพระนครเพื่อนำทัพไปล้อมค่ายพม่าที่เมืองกาญจนบุรี ขณะที่ทรงดำเนินทัพกลับจากเมืองเชียงใหม่มาถึงเมืองตาก พระองค์เสด็จไปนมัสการพระพุทธปฏิมากร ณ วัดกลาง วัดดอยเขา แก้ว แล้วตรัสถามพระสงฆ์ว่า “พระพุทธเจ้าจำได้หรือไม่ เมื่อโยมยังอยู่บ้านแห่งนี้ โยมยกระฆัง แก้วขึ้นชูไว้ กระทำสัตยาธิษฐานเสี่ยงบารมีว่า ถ้าจะได้ตรัสแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณในอนาคตกาลเป็นแท้แล้ว โยมจะตีระฆัง แก้วเข้าบัดนี้ ขอจงให้แตกเฉพาะที่จุกจะได้ทำเป็นพระเจดีย์ฐาน บรรจุพระบรมสารีริธาตุ ครั้นอธิษฐานแล้วจึงตีเข้าระฆัง แก้วก็แตกที่จุกอธิษฐานนั้น เป็นอัศจรรย์ให้ประจักษ์ พระสงฆ์ถวายพระพรว่าจริงดังกระแสพระราชดำรัสนั้น” ข้อความที่คัดมาลงไว้นี้ ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี จึงเป็นพยานหลักฐานว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินเคยประทับที่จังหวัดตากและพระตำหนักเดิมนั้นมีชื่อว่า “พระตำหนักสวนมะม่วง บ้านระแหง”