เมตตาธรรม คือ ความรู้สึกปรารถนาดีต่อคนทุกระดับ ไม่เลือกชาติชั้นวรรณะ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพบปะกับประชาชนทุกระดับชั้น จะเป็นถิ่นทุรกันดารที่ไหนพระองค์ก็เสด็จฯ ไป นอกจากนั้นยังทรงวางพระองค์สม่ำเสมอในเรื่องของศาสนา พระองค์ทรงเป็นพุทธศาสนิกชน เป็นพุทธมามกะ แต่พระองค์ทรงให้พระเมตตาต่อศาสนิกชนทุกศาสนาโดยทั่วถึงกันและทรงยกย่องพระสงฆ์ในลัทธิศาสนานั้นๆ เช่น ญวน จีน ฮินดู เป็นต้น พระองค์ไม่ทรงทำให้ศาสนาใดๆ ผิดหวัง ทรงวางพระองค์อย่างเหมาะสม นี่เป็นพระเมตตาที่พระองค์ทรงมีอยู่

กรุณาธรรม พระองค์ทรงแก้ปัญหาสารพัด จะเห็นได้จากโครงการพระราชดำริต่างๆ ตัวอย่าง โครงการหลวงที่ทรงแก้ปัญหาแก่ชาวเขา ปัญหาใหญ่ของชาวเขา คือ การประกอบอาชีพที่ผิดกฎหมาย เช่น การปลูกฝิ่น อันเป็นยาเสพติดเป็นพิษเป็นภัยต่อสังคม พระองค์ทรงแก้ไขโดยวิธีหาพืชพันธุ์ใหม่ไปชดเชยให้ปลูก ไม่ได้ให้เลิกไปเฉยๆ ถ้าจะทรงพระดำรัสให้เลิกเฉยๆ ให้ตัด ให้เอาไปทิ้ง ให้เอาผู้คนไปลงโทษก็ทรงทำได้

แต่พระองค์ทรงไม่ทำเช่นนั้น พระองค์ทรงแนะนำว่าอาชีพนั้นไม่ดี ให้เลิก แล้วทรงให้เอาต้นไม้นั้นต้นไม้นี้ เป็นพืชพันธุ์เมืองหนาว ทั้งไม้ดอกไม้ผลพืชผัก ไปปลูกแทน จนปัจจุบันนี้ ผลไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ พืชผักต่างๆ ของชาวเขา เป็นพืชพันธุ์ที่อยู่ในโครงการพระราชดำริทั้งสิ้น นี้แสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณ คือทรงปลดเปลื้องความทุกข์ของประชาชน โดยทรงแนะนำและช่วยเหลือเขา แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในการแก้ปัญหา จึงเรียกว่ามี “ พระมหากรุณาธิคุณ ”

มุทิตาธรรม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยกย่องบุคคลทุกระดับ ไม่ทรงแสดงความไม่พอพระราชหฤทัยในบุคคลนั้นบุคคลนี้อย่างมนุษย์ทั่วไปแสดงออก ทรงยกย่องให้เกียรติพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุกระดับ ทรงยกย่องพระสงฆ์ พระราชทานสมณศักดิ์ เป็นต้น นั่นคือ พระองค์ทรงอนุโมทนาสาธุกับบุคคลทุกระดับที่มีความดี เป็นพระมุทิตาธรรมที่ควรแก่การสรรเสริญยิ่งนัก

อุเบกขาธรรม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงวางพระราชหฤทัยได้อย่างสนิท ไม่มีพระอาการว่าจะเอนเอียงไปในคณะนั้น หมู่นั้น หรือทรงลงอาญาใครอย่างนั้นอย่างนี้ ทรงวางพระราชหฤทัยเป็นกลาง วางเฉยอย่างสนิทใจ ไม่ทรงยกย่องคนนั้นมากคนนี้น้อย ซึ่งหมายความว่าพระองค์ทรงอุเบกขาธรรมไว้อย่างหนักแน่น อนึ่ง เรื่อง พรหมวิหารธรรม นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยกคุณธรรมข้อนี้ ขึ้นพระราชทานเป็นพระบรมราโชวาทแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่เนืองๆ อาทิ พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาแก่นิสิตนักศึกษาวิทยาลัยการศึกษา ณ วิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก เมื่อ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2515 ตอนหนึ่งความว่า