4. พระจริยวัตรตามแนวพุทธธรรม (เอกกษัตริย์อัจฉริยะ, 2539 : 429-433)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากทรงปฏิบัติพระองค์มั่นคงอยู่ในทศพิธราชธรรม จักรวรรดิธรรมและราชสังคหวัตถุธรรมอย่างงดงามสมบูรณ์ยิ่งแล้ว ยังทรงดำรงพระองค์อยู่ในพุทธธรรมประการอื่นๆ ควรที่ราษฎรจักยึดถือเป็นแบบอย่าง ดังจะได้ยกมาแสดงในบางประการต่อไปนี้

ทรงมีความกตัญญูกตเวทีเป็นเลิศ

หลักกตัญญูกตเวทิตาธรรมในพุทธศาสนา เป็นสิ่งที่สังคมไทยให้ความสำคัญเป็นอย่างสูง ถือเป็นเครื่องหมายคนดี สังคมไทยได้ถ่ายทอดคุณธรรมข้อนี้มาแต่โบราณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความกตัญญูกตเวทิตาธรรมที่มีต่อบุพการี คือ ผู้กระทำอุปการะก่อน ซึ่งมีอยู่ 4 ประการ คือ (1) บิดา มารดา ( 2) ครูอุปัชาฌย์อาจารย์ (3) พระราชามหากษัตริย์ (4) พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และผู้มีพระคุณทั้งหลาย เป็นบุคคลที่ผู้เป็นบุตรธิดา ศิษย์ ราษฎร พุทธศาสนิกชน และผู้ได้รับอุปการคุณทั้งหลายจะต้องแสดงความกตัญญูกตเวทีให้ได้ สังคมยกย่องผู้มีคุณธรรมข้อนี้ว่าเป็นคนดี เป็นบุคคลที่หาได้ยาก และเชื่อว่าผู้มีคุณธรรมข้อนี้จะเป็นผู้เจริญ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชจริยวัตรที่แสดงให้ประจักษ์แก่ชาวโลกแล้วว่า “ พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีความกตัญญูกตเวทีเป็นเลิศ ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชจริยวัตรที่ทรงแสดงต่อสมเด็จพระบรมราชชนนี ตลอดระยะเวลาที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงประชวรจนกระทั่งสวรรคตและพระราชทานเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติคุณธรรมเรื่องนี้อย่างงดงามสมบูรณ์ยิ่งนัก ซึ่ง พระธรรมดิลก ( จันทร์ กุสโล ) วัดป่าดาราภิรมย์ เชียงใหม่ ได้กล่าวถึงพระราชจริยวัตรในเรื่องนี้ไว้ว่า
“... พระองค์ทรงไว้ซึ่งความกตัญญูกตเวทิตาธรรมต่อสมเด็จย่าอย่างหาที่สุดมิได้ ตั้งแต่สมเด็จย่าทรงประชวร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงติดตามพระอาการด้วยความเคารพสม่ำเสมอ ในระหว่างที่สมเด็จย่าประชวร พระองค์ก็ทรงพระประชวรด้วย แต่ก็ทรงทนทุกข์เวทนาส่วนพระองค์แล้วเสด็จเยี่ยมสมเด็จย่าเป็นประจำ