1. ทศพิธราชธรรม

เป็นธรรมที่มีมาก่อนพุทธกาล อาจกล่าวได้ว่าเป็นปรัชญาการเมืองของโลกตะวันออก ที่วางกรอบปฏิบัติของผู้มีอำนาจปกครอง นักปราชญ์ทางพุทธศาสนาได้รับเข้าไว้เป็นธรรมในศาสนาของตน สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาเรื่องทศพิธราชธรรมในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 ความตอนหนึ่งมีว่า
“ พระมหากษัตริย์ไทย ต้องยึดถือหลักปฏิบัติ ที่เรียกว่า ทศพิธราชธรรม หรือธรรม 10 ประการของพระมหากษัตริย์ เป็นไปตามหลักพุทธศาสนา ดังคาถาบาลีว่า


ทานํ สีลํ ปริจฺจาคํ
อกฺโกธํ อวิหึสญฺจ
อิจฺเจเต กุสเล ธมฺเม
ตโต เต ชายเต ปีติ

อาชฺชวํ มทฺทวํ ต ปํ
ขนฺติญฺจ อวิโรธนํ
ฐิเต ปสฺสาหิ อตฺตนิ
โสมนสฺสญฺจนปฺปกํ


แปลความว่า ขอพระองค์ผู้เป็นบรมกษัตริย์ธิราช จงทรงพระปรีชาสามารถพิจารณาเห็นราชธรรมที่เป็นกุศลส่วนชอบ 10 ประการ ให้ดำรงในพระราชสันดานเป็นนิตย์ ดังนี้ ทานํ การให้ 1 สีลํ การตั้งสังวร รักษากาย วาจาให้สะอาด ปราศจากโทษ 1 บริจฺจาคํ การบริจาคสละ 1 อาชฺชวํ ความซื่อตรง 1 มทฺทวํ ความอ่อนโยน 1 ตปํ การขจัดความเกียจคร้านและความชั่ว 1 อกฺโกธํ การไม่โกรธ 1 อวิหึสญฺจ การไม่เบียดเบียนผู้อื่น ตลอดถึงสัตว์ให้ได้ทุกข์ยาก 1 ขนฺติญฺจ ความอดทนต่อสิ่งควรอดทน เป็นเบื้องหน้า 1 อวิโรธนํ การปฏิบัติไม่ให้ผิดจากการที่ถูกที่ตรงและดำรงอาการคงที่ ไม่ให้วิการด้วยอำนาจยินดียินร้าย 1 บรรจบเป็นกุศลส่วนชอบ 10 ประการ ลำดับนั้นพระปิติ และพระโสมนัสไม่น้อยจักเกิดมีแต่พระองค์ เพราะได้ทรงพิจารณาเห็นกุศลธรรมเหล่านี้มีในพระองค์เป็นนิตย์ ”

ต่อไปนี้จะได้ขออัญเชิญพระราชกรณียกิจ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มาประกอบคำอธิบายทศพิธราชธรรม 10 ข้อ ดังนี้