เรื่องที่ 9
ม.จ.ภีสเดช รัชนี ทรงเล่าเรื่องการใช้ภาษาพูดกับชาวเขา ดังนี้

“… ควรจะให้เหตุผลว่าทำไมเจ้าหน้าที่ผู้มีรับสั่งถึงจึงใช้คำง่ายๆ กับชาวเขา เมื่อเขาเริ่มบรรยายนั้น เขาว่า “ สุกรนั้นต้องได้รับประทานอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ”… ส่วนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นชะรอยจะทรงเกรงว่าชาวเขาจะนึกว่าสุกรนั้นไซร้คือหมาน้อยธรรมดา จึงรับสั่งกับแม้วซึ่งอ้าปากหวอว่า “ หมูน่ะ ต้องให้มันกินอิ่ม ” ทรงเป็นล่ามแปลไทยเป็นไทยอยู่สามสี่เที่ยว อาจารย์สังเวียนจึงบรรยายโดยใช้ถ้อยคำง่ายๆ เช่นจะว่าหมูท้องเสีย ก็จะใช้คำที่สามัญยิ่งกว่านั้นอีก ”…

ผู้เขียนได้กราบบังคมทูลว่า “ น่าจะเอาหมูตัวผู้เลือด 50% ไปพระราชทานชาวเขา เพื่อให้ได้เสียกับหมูที่ท้องลากดินทั้งที่ยังไม่ท้อง ” … “ ความคิดเรื่องหมูนี้ความจริงก็ดี แต่ก็ดีน้อยเกินไปจนไม่เอาไหน เพราะหมูเลือดฝรั่งถ้าไม่ขุนอาหารให้พอเพียง “ ต่อความต้องการของร่างกาย ” แล้วก็จะผอมโซเหมือนกัน และกลับซ้ำร้ายที่เมื่อขาดโปรตีน ก็จะช่วยตัวเองโดยไล่งับไก่เขากิน จนชาวเขากลัว นึกว่าเป็นหมูผี ”

เรื่องที่ 10 : ฎีกาแม้ว
ม.จ.ภีสเดช รัชนี ทรงเล่าเรื่องฎีกาแม้ว (2531 : 80) ไว้ดังนี้


ม.จ . ภีสเดช รัชนี
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินให้ชาวเขาเฝ้านั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับฎีกาเสมอ แต่ที่แปลกที่สุดเห็นจะเป็นฎีกาจากสาวแม้วชื่อ อีหั้ว (อีเข้าใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของชื่อ) เริ่มต้นอีหั้วบ่นกับสมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จฯ ทรงผ่านคดีไปสู่ศาลสูงสุด คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

อีหั้วมีลูกแล้วหนึ่งคน แต่สามีไปอยู่กับหญิงอื่น แล้วไม่ให้ข้าวคือไม่เลี้ยงดู นางอยากจะเลิกกับสามี “ เฮาจะได้ไปเอาผัวใหม่ ” แต่สามีไม่ยอมให้เลิก