ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นภาพริ้วกระบวนไหว้สาแม่ฟ้าหลวง บริเวณหน้าพระตำหนักดอยตุง และที่สันแผ่นหินทั้งสองด้านนั้น ด้านหนึ่งแกะสลักอักษรพระปรมาภิไธย ภปร และคำประพันธ์ร้อยกรองเกี่ยวกับแนวพระราชดำริในการจัดสร้างอุทยานฯ และอีกด้านหนึ่งแกะสลักอักษรพระนามาภิไธย สว และคำประพันธ์ร้อยกรองอาเศียรวาทเทิดพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ดังนี้

1. ด้านที่แกะสลักอักษรพระปรมาภิไธย ภปร

โปรดเกล้าฯ ให้อนุรักษ์เป็นหลักฐาน
และสร้างเป็นอุทยานโดยถวิล
เฉลิมพระเกียรติพระราชชนนีศรีนครินทร์
ปองประโยชน์ทั้งสิ้นแก่ปวงชน

และเพื่อผู้สนใจใคร่ศึกษา
พระราชประวัติบรรดาอนุสนธิ์
พระราชกิจสฤษฎิ์ไว้ในสากล
ดั่งรอยพระบาทยุคลอันฝากไว้

ขอให้อุทยานสถานนี้
อันใกล้ที่เคยประทับในสมัย
จงสำเร็จประโยชน์แท้แก่ชาวไทย
เฉลิมพระเกียรติคุณไปนิรันดร

คำจารึกประวัติความเป็นมา
นายชำนาญ แย้มผกา
ผู้อำนวยการ
กองงานในพระองค์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าโสมสวลี
พระวรราชาทินัดดามาตุ
ผู้ประพันธ์

2. ด้านที่แกะสลักอักษรพระนามาภิไธย สว

แม่ฟ้าหลวงดวงประทีปชาวป่าเขา
และเหล่าทวยหาญไทยในไพรเถื่อน
ไม่มีวันที่พระจะลืมเลือน
ผองเพื่อนผู้ทุกข์ยากลำบากลำบน

ทรงสละสิ่งสินยอมสิ้นสุข
เสด็จประเทาทุกข์ไทยไม่เบื่อบ่น
พระคุณเพียบแผ่นพื้นภูวดล
เหลือล้นถ้อยคำร่ำพรรณนา

บัดนี้โอ้อนิจจาแม่ฟ้าหลวง
เสด็จทิ้งลูกทั้งปวงไว้ใต้หล้า
แม้นชาติหน้ามีจริงดังวาจา
ขอเกิดใหม่ใต้บาทาแม่ฟ้าเทอญ

คำจารึกเทิดพระเกียรติ
สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
ท่านผู้หญิง
สมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา
ผู้ประพันธ์