รัฐบาลได้จัดงานเฉลิมฉลองเพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในมหามงคลวโรกาสนี้ และได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับ ชื่อของงานเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อการจัดงานและชื่อพระราชพิธีว่า การจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พระราชพิธีกาญจนาภิเษก

ภาคภาษาอังกฤษ ให้รวมเรียกชื่อเดียวกันว่า “ The Fiftieth Anniversary (Golden Jubilee) Celebrations of His Majesty's Accession to the Throne ”

ในการที่ทรงใช้ Golden Jubilee นี้ทรงรับพระราชนิยมตามพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงจัดงานครบ 25 ปี วันครองราชย์ เมื่อจุลศักราช 1255 (ตรงกับ พ.ศ.2436) โดยมีพระราชดำริว่า การที่พระเจ้าแผ่นดินชาวตะวันตก ฉลองการครองราชย์ครบ 25 ปี และ 50 ปี ที่เรียกว่า Silver Jubilee และ Golden Jubilee นั้น เป็นพิธีที่ดี เป็นการทำเพื่อความสิริมงคล สมควรรับหลักการมาประกอบกับพระราชพิธีไทยได้ นอกจากนี้ยังทรงแปลคำ Silver Jubilee อย่างไพเราะ พระราชพิธีรัชดาภิเษก รัชดา แปลว่า เงิน อภิเษก ตามศัพท์เดิมหมายถึง “ การรดน้ำ ” แต่ภายหลังนำมาใช้เปลี่ยนความหมายเป็น พระราชพิธีขึ้นครองราชสมบัติของพระเจ้าแผ่นดิน โดยที่การจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปีนี้เป็นครั้งแรก ยังไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของชาติไทย คณะกรรมการจึงดำริที่ให้นำแนวทางในการจัดงานพระราชพิธีรัชดาภิเษกเป็นแบบอย่าง โดยแบ่งงานเป็น 4 ส่วน คือ 1. งานพระราชพิธี 2. งานเฉลิมฉลองกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ 3. งานสร้างสิ่งอนุสรณ์ 4. งานสร้างถาวรวัตถุ

ระยะการจัดงาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชกระแสรับสั่ง ให้งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2538 อันเป็นวันขึ้นต้นปีที่ 50 ในรัชกาลปัจจุบัน ( ตามปฏิทินหลวง ) และจะให้สิ้นสุดในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2539 หรือให้เลยไปจนถึงสิ้นปี 2539 ก็ได้

พระราชพิธีกาญจนาภิเษก กำหนดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ 8-12 มิถุนายน พ.ศ.2539 หลังจากพิธีดังกล่าวได้มีพระราชพิธีอื่นที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธีโดยสังเขปคือ
วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2539 พระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอนันทมหิดลและพระราชกุศลทักษิณานุประทาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิฉัย