พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์อาคารสถาบันราชประ-ชาสมาสัยอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อ พ.ศ.2501 เสด็จฯ ไปทางเรือ เพราะไม่สามารถเสด็จฯ ทางรถยนต์พระที่นั่งได้ สมัยนั้นคนที่อำเภอพระประแดงรังเกียจไม่อยากให้คนโรคเรื้อนเดินผ่านที่ของตน แม้แต่วัดกลางสวนที่อยู่ติดกับสถานพยาบาลโรคเรื้อนพระประแดง แต่เมื่อได้ทราบข่าวว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯ มาทรงเปิดสถาบันราชประชาสมาสัยเมื่อ พ.ศ.2503 ทางวัดก็ได้จัดการทำถนนอัญเชิญเสด็จพระราชดำเนินทางรถยนต์พระที่นั่ง ทรงเปิดถนนเข้าสู่สถาบันราชประชาสมาสัย แพทย์ เจ้าหน้าที่สถานพยาบาล และคนไข้ก็ได้อาศัยพระบารมีให้ได้รับความสะดวกสบายตั้งแต่นั้นมา

เรื่องโรคเรื้อนเวลาเสด็จฯ ไป มีคนที่เห็นด้วยส่วนหนึ่ง ไม่เห็นด้วยส่วนหนึ่งเพราะกลัวว่าจะทรงไปติดเชื้อ จากพวกนั้น เพราะจากน้ำเหลือง เสมหะ การไอจามของพวกนี้อาจจะติดได้ แต่ทำไมพระเจ้าอยู่หัวยังเสด็จไป เพราะทรงเห็นว่าพวกที่เป็นโรคเรื้อนมีกรรมอยู่แล้ว ก็ทรงเยียวยาทางใจ พระราชทานกำลังใจให้เขาต่อสู้ ให้เขารักษา รัฐบาลก็จัดตั้งนิคมโรคเรื้อนขึ้น ส้มที่อร่อยมาจากนิคมโรคเรื้อนแพร่งขาหยั่ง จันทบุรี เป็นพวกคนไข้โรคเรื้อนที่หายแล้วไปทำ แต่ถ้าเราบอกว่าส้มนี้มาจากแพร่งขาหยั่ง คนก็ไม่ยอมรับประทาน เรารับประทานก็ไม่เป็นอะไร เวลานี้คนที่แพร่งขาหยั่งกลับร่ำรวย



สำหรับเด็กที่เป็นโรคเรื้อน สมัยนั้นเขาแยกลูกจากพ่อแม่ที่เป็นโรคเรื้อน ไปเลี้ยงที่สถานีอนามัยเด็กกลาง จังหวัดนนทบุรี พระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นห่วงอนาคตเด็กเหล่านี้ว่าจะไม่ได้รับการศึกษา จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงเรียนราชประชาสมาสัยขึ้น ที่อำเภอพระประแดง ที่เป็นโรงเรียนปัจจุบันนี้ ตอนนั้นต้องส่งหมอไปตรวจ และรับแต่เด็กที่เป็นลูกคนโรคเรื้อนที่ปราศจากเชื้อโดยเฉพาะ เพื่อลบปมด้อยว่าเขาเป็นลูกคนโรคเรื้อน คำว่าคนโรคเรื้อนสมัยนั้น น่ากลัว น่ารังเกียจ กว่าโรคเอดส์สมัยนี้ ตามสถิติของกระทรวงสาธารณสุข