ปรัชญาและหลักของนันทนาการคือ เพื่อสร้างภาวะสมดุลแห่งการดำเนินชีวิตระหว่างภารกิจการงาน กับยามว่างจากภารกิจ มนุษย์ย่อมมีภาระหน้าที่ต้องกระทำตามความจำเป็นในการดำรงชีวิต การละเลยหน้าที่จะกลายเป็นคนขี้เกียจและขาดคุณภาพแห่งชีวิต ภารกิจการงานอาจนำซึ่งความเคร่งเครียด วิตกกังวลอันเป็นสิ่งบั่นทอนจิตใจและร่างกาย สิ่งที่ตรงกันข้ามกับงานก็คือ การกระทำสิ่งที่ผ่อนคลาย หรือการพักผ่อน การกระทำกิจกรรมเพื่อลดหรือระบายความเคร่งเครียดนั้น ต้องอำนวยประโยชน์อย่างแท้จริง ที่จะทำให้ร่างกายสดชื่น อารมณ์แจ่มใสเบิกบาน เพลิดเพลินสนุกสนาน ร่าเริงมีชีวิตชีวา แต่ถ้าการกระทำกิจกรรมนั้นไม่เป็นประโยชน์ก็จะกลายเป็นดาบสองคม สร้างปัญหาให้แก่ตนเอง ครอบครัว และสังคมประเทศชาติได้ นันทนาการจึงเป็นพฤติกรรมของมนุษย์ที่แสดงออกมาด้วยกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ทั้งกว้างขวาง และลึกซึ้งในยามว่าง คุณค่าของนันทนาการก่อให้เกิดประโยชน์นานัปการทั้งต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม เป็นพลเมืองดีมีประสิทธิภาพต่อประเทศชาติ กิจกรรมนันทนาการอาจเป็นได้ทั้งด้านกีฬา ดนตรี ทำสวน เขียนหนังสือ วาดภาพระบายสี จักสาน ปั้นแต่ง ฯลฯ
จากหลักการทางนันทนาการดังกล่าว บุคคลสำคัญที่เป็นแบบอย่างที่ดีงาม ควรแก่การยกย่องเทิดทูน คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงมี พระราชดำรัสพระราชทานแก่ คณะกรรมการของสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ความว่า
... ดนตรีนี้เป็นศิลปะและนับว่าเป็นกิจกรรมที่กว้างขวางมาก ดนตรีนี้พาดพิงถึงชีวิตประชาชนทั่วไปอย่างกว้างขวาง ... การเล่นดนตรีและการฟังดนตรี ประชาชนก็ได้รับความบันเทิง และได้ผ่อนอารมณ์ให้มีจิตใจร่าเริง สามารถที่จะมีกำลังใจอย่างสูง ...
การพลศึกษา สุขศึกษา และนันทนาการ เป็นศาสตร์ที่ช่วยดูแล ป้องกัน เสริมสร้างรักษาและพัฒนาสุขภาพของมนุษย์โดยองค์รวม (Holistic) เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นจะได้อยู่อย่างเป็นสุข อยู่ดีกินดี (Well-being) ไปจนตลอดชีวิต การประพฤติปฏิบัติตนแต่ในสิ่งที่ดีงาม สมถะ ไม่ฟุ่มเฟือย อย่างรู้จักคำว่า พอ ทั้งพออยู่ พอกิน พอดี และพอเพียง ด้วยชีวิตที่เรียบง่ายและลงมือปฏิบัติอย่างผู้รู้จริง จึงเป็นพฤติกรรมที่สนองพระราชดำริโดยแท้ ซึ่งไม่เพียงพอแต่ก่อสุขให้เกิดแก่ตนเองเท่านั้น ยังส่งผลไปถึงสังคมและประเทศชาติอย่างยั่งยืน (Sustainable) อีกด้วย และยังเป็นสิ่งที่แสดงถึงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เพื่อเจริญรอยตามพระยุคลบาท พ่อของแผ่นดิน
|