การออกกำลังกายตามหลักการดังกล่าวนี้จะช่วยเสริมสร้าง รักษา และพัฒนาสมรรถภาพทางกาย อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของการมีสุขภาพดี

ดร.วินิจ วินิจฉัยภาค รองเลขาธิการสำนักพระราชวัง ฝ่ายที่ประทับเล่าว่า
“ ... เมื่อปี พ.ศ.2525 พระองค์ทรงพระประชวรไข้มีพระอาการแทรกซ้อนทางพระหทัย เมื่อพระอาการทุเลา ในช่วงเวลาพักฟื้นนั้น คณะกรรมการแพทย์ได้ถวายคำแนะนำเกี่ยวกับการออกกำลังพระวรกาย ด้วยการทรงพระดำเนินเร็วหรือวิ่ง ซึ่งมีประโยชน์โดยตรงกับการทำงานของพระหทัย พระองค์ได้ทรงปฏิบัติ สืบเนื่องอย่างสม่ำเสมอ คือการออกกำลังกายแบบอากาศนิยม หรือที่เรียกว่าแบบแอโรบิก (Aerobic Exercise)

คือการออกกำลังกล้ามเนื้อมัดใหญ่ๆ ของลำตัว แขน ขา ให้เคลื่อนไหวเป็นจังหวะต่อเนื่อง เพื่อให้มีการหดตัวและคลายตัวสลับกัน อันจะช่วยให้เพิ่มการสูบฉีดโลหิตมายังกล้ามเนื้อเหล่านี้ การที่กล้ามเนื้อต้องการออกซิเจนและระบายคาร์บอนไดออกไซด์ จะกระตุ้นหัวใจเต้นเร็วขึ้น ซึ่งสังเกตได้โดยการเพิ่มขึ้นของชีพจรเมื่อออกกำลังกาย
ในการออกกำลังกายเพื่อให้สุขภาพพลานามัยสมบูรณ์ จะต้องมีหลักสำคัญสามประการ คือ กระทำเป็นประจำทุกวัน ใช้กำลังพอประมาณ และในเวลาประมาณ 20-30 นาที ถ้าจะแปลงเป็นคำง่ายให้จำได้คือ FIT-F (Frequency = ความบ่อย) I (Intensity = การใช้พละกำลัง) และ T (Time = เวลาปฏิบัติ)

การออกกำลังกายแบบอากาศนิยมที่มีประโยชน์เท่ากับการบริหารหัวใจ จะต้องประกอบด้วย ระยะอุ่นเครื่อง (Warm Up) ระยะเร่ง (Workout หรือ E ndurance หรือ S timulus) และระยะชลอ (Cooldown)

สำหรับพระองค์จะทรงพระดำเนินเป็นระยะทางประมาณ 2,500 เมตร เวลาประมาณ 20 ถึง 22 นาทีเศษๆ หรือถ้าจะทรงจักรยานก็ประมาณ 12 – 14 กิโลเมตร ระยะเวลา 24 ถึง 25 นาทีเศษ โดยมีความเร็วสูงสุด 42 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในระยะเร่ง ตลอดระยะเวลาเจ็ดปีเศษของการติดตามการออกกำลังพระวรกาย จะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนแปลงของชีพจรและ ความดันโลหิตมีความสัมพันธ์กับปริมาณการออกกำลัง แต่ละครั้งเป็นแบบฉบับที่สามารถยึดถือเป็นตำรา... ” พระจริยวัตรตามคำบอกเล่าดังกล่าว ชี้ชัดว่าพระองค์ทรงออกกำลัง พระวรกายตามหลักการสากลได้อย่างถูกต้อง และได้ผลดี ที่ต่อมาภายหลังเราได้เห็นกันแล้วว่า พระองค์กลับมีพระพลานามัยแข็งแรงดั่งเดิม ในเวลาไม่นานนักหลังจากทรงพระประชวร นอกจากจะทรงสั่งสอนชี้แนะแล้ว ยังใช้พระองค์เองเป็นสื่อการสอนโดยตรง ด้วยการลงมือปฏิบัติให้เห็นจริงเห็นจังอีกด้วย