นอกจากนี้ยังมีโครงการอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมากที่มีการผนวกเรื่องสมุนไพรเข้าไว้ด้วยกันทั้งทางตรงและทางอ้อม

ในจำนวนโครงการพระราชดำริเกี่ยวกับสมุนไพรที่มีอยู่หลากหลายโครงการและมีวัตถุประสงค์ต่างๆ กันนั้น อาจจำแนกแนวทางของโครงการเหล่านั้นตามวัตถุประสงค์ได้เป็น 4 แนวทางใหญ่ๆ ได้แก่

1. เป็นการพัฒนาและอนุรักษ์พันธุ์ไม้ให้เหมาะสมต่อการปลูกในประเทศไทย โดยเฉพาะพันธุ์ไม้ ที่หายากและอาจสูญพันธุ์ได้หากไม่ได้รับการดูแลรักษา และทำนุบำรุงให้อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับพืชนั้น
2. เป็นการเพิ่มทางเลือกใหม่สำหรับส่งเสริมการประกอบอาชีพของประชาชน และเกษตรกรเพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้ดีขึ้นโดยอยู่บนรากฐานของการพึ่งพาตนเอง

สมุนไพรที่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาจนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ กาแฟ และบุก ส่วนสมุนไพรอื่นๆ ทั้งสมุนไพรไทยและต่างประเทศก็ได้รับการส่งเสริม เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการประกอบอาชีพ เช่น ทายม์ (Tyme, Thymus spp.) แทเรกอน (Tarragon, Artemisia dracunculus) พาร์สลีย์ (Parsley, Petroselinum spp.) อีหรุด (Rue, Ruta graveolens) และเอื้องหมายนา (Costus, Costus speciosus) เป็นต้น

กาแฟ เป็นพืชพื้นเมืองของเอธิโอเปียและอาฟริกา ต่อมานำไปปลูกในประเทศในเขตร้อน เช่น อินโดนีเซีย ศรีลังกา อเมริกากลางและใต้ โดยเฉพาะในบราซิล

กาแฟมีหลายพันธุ์ ได้แก่ Coffea arabica, C.loberica และ C. robusta เป็นต้น ต้นกาแฟจะให้ผลตั้งแต่อายุ 3 ปีถึง 30-50 ปี หรือมากกว่า โดยปริมาณผลที่ได้ขึ้นอยู่กับพันธุ์ อายุ สภาพดินฟ้าอากาศ และอื่นๆ องค์ประกอบในเมล็ดกาแฟที่สำคัญคือ Cafeine 0.3-3.5 % Chlogenic acid 3-10 % Theophylline และ Theobromine จำนวนเล็กน้อย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้มีการส่งเสริมให้ชาวเขาปลูกกาแฟด้วยการใช้พันธุ์ที่ดีและการจัดการที่ดี โดยกรมวิชาการเกษตรได้ศึกษาค้นคว้าหาพันธุ์กาแฟอาราบริก้าที่ทนทานต่อโรคราสนิม คือพันธุ์บัลติมอร์ ซึ่งต่อมาได้ขยายผลไปยังหน่วยงานและโครงการต่างๆ บนพื้นที่สูงภาคเหนือ