ในทางปฏิบัติ จุดเริ่มต้นของการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงคือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น เศรษฐกิจพอเพียงเป็นทั้งหลักและกระบวนการทางสังคม ตั้งแต่ขั้นฟื้นฟูและขยายเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน เป็นการพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตและบริโภคอย่างพออยู่พอกินขึ้นไปถึงขั้นแปรรูปอุตสาหกรรมครัวเรือน สร้างอาชีพและทักษะวิชาการที่หลากหลายเกิดตลาดซื้อขาย สะสมทุน ฯลฯ บนพื้นฐานเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชนนี้ เศรษฐกิจของชาติจะพัฒนาขึ้นมาอย่างมั่นคงทั้งในด้านกำลังทุนและตลาดภายในประเทศ รวมทั้งเทคโนโลยีซึ่งจะค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาจากฐานทรัพยากรและภูมิปัญญาที่มีอยู่ภายในชาติ และพร้อมที่จะพึงคัดสรรเรียนรู้จากโลกภายนอก

ดังนั้น พระราชดำริที่ทรงส่งเสริมเรื่องสมุนไพร ตั้งแต่การที่ให้เกษตรกรหันมาสนใจปลูก ก็จัดได้ว่าเป็นแนวทางการฟื้นฟูฐานะเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น ด้วยการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรรมที่ยั่งยืน นอกจากนี้ยังทรงโปรดให้นักวิชาการเข้ามาศึกษาค้นคว้าการใช้ประโยชน์สมุนไพรทางการแพทย์ โดยสามารถพัฒนาเพิ่มเติมหรือขยายผลจากภูมิปัญญาท้องถิ่นและภูมิปัญญาไทยที่ได้นำเอาสมุนไพร หลายชนิดมาใช้บำบัดรักษาโรคแต่โบราณกาล จนเกิดเป็นตำรายาไทยต่างๆ สมุนไพรใดใช้ได้ผลดี

จะได้พัฒนาและแปรรูป ตั้งแต่อุตสาหกรรมครัวเรือน จนขยายเป็นอุตสาหกรรมในระดับสูงขึ้น เกิดเป็นตลาดซื้อขาย มีการสะสมทุน ทำให้เกิดความมั่นคง และพัฒนาเศรษฐกิจของชาติต่อไป  สำหรับผู้ที่ปลูกในครัวเรือนเป็นงานอดิเรก สมุนไพรหลายชนิดอาจใช้ช่วยเหลือแก้ไขโรคเล็กๆน้อยๆ เฉพาะหน้า ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาไปโรงพยาบาล เมื่อเกิดความเจ็บป่วยเล็กน้อย ซึ่งอาจดูแลตัวเองได้ และยังลดการใช้ยาแผนปัจจุบันที่โดยปกติจะต้อง นำสั่งเข้ามาจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด

การพัฒนาไปสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่
หลักการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงใช้คือ “ การให้มีตัวอย่างของความสำเร็จ ” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเรื่องนั้นๆ สามารถทำให้สำเร็จได้ จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้ง “ ศูนย์การศึกษาพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ” ขึ้นในทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาทดลองวิจัย และแสวงหาความรู้เทคนิควิชาการสมัยใหม่ เมื่อได้ผลจากการศึกษาแล้ว จึงนำไปส่งเสริมและเผยแพร่ให้ได้ใช้โดยทั่วกัน