นอกจากนี้ยังทรงเห็นความสำคัญ ของการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตยา และเวชภัณฑ์ได้เองในประเทศ ตัวอย่างพระราชกรณียกิจได้แก่ ในปี พ.ศ.2496 ได้พระราชทานทรัพย์ ส่วนพระองค์แก่สภากาชาดไทยเพื่อสร้างอาคารศูนย์ผลิตวัคซีนบีซีจี ซึ่งก่อนหน้านั้นยังต้องสั่งจากต่างประเทศ กิจการผลิตวัคซีนนี้ได้เจริญก้าวหน้าจนส่งออกจำหน่าย ยังต่างประเทศได้ในเวลาต่อมา

ดังนั้นพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ คือ ทรงมุ่งหวังจะให้ประชาชนของพระองค์อยู่ดีมีสุข มีสุขภาพแข็งแรงทั้งกายและใจ ดังคำบรรยายที่ตัดตอนมาจากหนังสือในหลวงกับประชาชน : 45 ปี สถานีวิทยุ อ.ส.พระราชวังดุสิต ซึ่งคุณขวัญแก้ว วัชโรทัยได้บรรยาย (2542 : 859-862) ไว้ดังนี้



“… โรคโปลิโอ

ในปี พ.ศ.2495 เกิดโรคโปลิโอระบาด ภาษาไทยเรียกว่าไข้ไขสันหลังอักเสบ พอเป็นแล้ว จะมีอาการหายใจไม่ออก ต้องใช้ปอดเหล็กช่วย ต้องมาฟื้นฟูอวัยวะต่างๆ ต้องใช้เครื่องพยุงออกกำลังกล้ามเนื้อด้วยการว่ายน้ำและลงอ่างอาบน้ำอุ่น เพื่อใช้ความแรงของน้ำกระตุ้นกล้ามเนื้อให้แข็งแรงขึ้นด้วย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทาน สถานที่ฟื้นฟูบำบัดโรคโปลิโอ พระราชทานพระนามของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ว่า ตึกวชิราลงกรณ์ธาราบำบัด และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต เชิญชวนประชาชนโดยเสด็จพระราชกุศล หรือพูดง่ายๆ ว่า ทำบุญร่วมกับในหลวง ประชาชนก็หลั่งไหลนำเงินมาทูลเกล้าฯ ถวายมากมายเพื่อใช้ในการบำบัดรักษาจนโรคนั้นหายไป

โรคเรื้อน
เป็นโรคที่ระบาดในประเทศไทยตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ในปี พ.ศ.2498, พ.ศ.2499 และปี พ.ศ.2501 กระทรวงสาธารณสุขมีการรณรงค์ควบคุม และรักษาโรคเรื้อนให้สูญหายไปจากประเทศไทยให้ได้ โรคเรื้อนนี้บางท่านอาจจะไม่รู้จักเลย