“ สมุนไพรในเมืองไทยมีอย่างอุดมสมบูรณ์ ควรที่คนไทยจะได้ช่วยกันเสริมสร้างและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด ตัวอย่างเช่น ต้นระย่อม ซึ่งมีมากในเมืองไทย และเขาได้สกัดออกมาเป็นยาฉีดบ้าง รับประทานบ้าง แล้วก็ส่งมาจำหน่ายให้คนไทยซื้อราคาแพงๆ เราน่าจะหาทางทำขึ้นเองบ้างเพราะเรามีวัตถุดิบมาก ”

หมายเหตุ
: ต้นระย่อม (Rauvolfia serpentina (L.) Kurz)
คุณสมบัติ รากเป็นยาระงับประสาท ช่วยให้นอนหลับ แก้ไข้ ลดความดันโลหิต เนื่องจากทำให้กล้ามเนื้อหลอดเลือดคลายตัว โดยมีสารสำคัญคือ reserpine เป็นสารออกฤทธิ์ และสารนี้เป็นสารต้นแบบ ในการพัฒนา ยาลดความดันโลหิตสูงใหม่ๆ หลายชนิดในปัจจุบัน, (http://pharm.kku.ac.th/thaiv/depart/botany/unseen/, 4/05/2457)

การอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย
ประเทศไทยได้มีการนำสมุนไพรมาใช้ในการบำบัดรักษาความเจ็บป่วยมาแต่โบราณกาล ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้คนในสมัยก่อนสามารถดำรงอยู่ได้ แม้จะไม่มียาแผนปัจจุบันใช้เลยก็ตาม ความรู้ในการใช้สมุนไพรได้สั่งสมต่อเนื่องกันมาช้านานในลักษณะของภูมิปัญญาไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งมีความแตกต่างกันไปบ้างในแต่ละภูมิภาค จนกระทั่งมาถึงช่วงที่ประเทศไทยได้นำการแพทย์แบบตะวันตกเข้ามาใช้เมื่อประมาณร่วมร้อยปีมาแล้ว ภูมิปัญญาด้านสมุนไพรของไทยก็ได้ถูกละเลยและถูกกลืนโดยการแพทย์แบบตะวันตกหรือที่เรียกกันว่า การใช้ยาสมุนไพรเป็นเรื่องที่ไม่ทันสมัย ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่าทำให้ความรู้ในส่วนนี้หยุดการพัฒนาไปเป็นเวลานาน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงตระหนักในคุณค่าของภูมิปัญญาไทยในทุกๆ ด้านรวมทั้งศิลปะ วัฒนธรรม และงานฝีมือต่างๆ ซึ่งมีหน่วยงานศูนย์ศิลปาชีพของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถรองรับในการอนุรักษ์ เผยแพร่ และขยายผลจนทำให้ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ มีรายได้ดีและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น