จากแหล่งผลิตถึงผู้บริโภค ว่ามีเส้นทางเช่นไรและให้ดำเนินการเติมสารไอโอดีนถึงมือผู้บริโภค เพื่อจะได้เป็นการป้องกันการขาดสารดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม (เย็นศิระเพราะพระบริบาล, 2537 : 40)

2. พระราชกรณียกิจด้านสมุนไพร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่า ควรจะต้องให้ความสนใจในเรื่องของสมุนไพรไทย ซึ่งได้มีการใช้ประโยชน์มาเป็นเวลาช้านานสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษโบราณ ทรงเห็นว่าควรจะได้มีการส่งเสริมการใช้ และการพัฒนาสมุนไพร เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ให้มากยิ่งขึ้น และได้ทรงดำเนินการจนเห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ดังจะเห็นได้ว่ามีโครงการพระราชดำริ เกี่ยวกับการศึกษา พัฒนาและอนุรักษ์สมุนไพรเกิดขึ้นหลายโครงการ รวมทั้งโครงการที่เกี่ยวข้องโดยทางอ้อม อีกเป็นจำนวนมากด้วย
ตัวอย่างเช่น โครงการสวนป่าสมุนไพรของศูนย์การศึกษาพัฒนาเขาหินซ้อน ศูนย์การศึกษาพัฒนาห้วยทราย โครงการสวนแม่พันธุ์ต้นซิงโคนา โครงการภายใต้มูลนิธิโครงการหลวง และโครงการสวนพฤษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เป็นต้น ในจำนวนโครงการเหล่านี้ ส่วนที่นับได้ว่าได้ดำเนินการด้านสมุนไพรอย่างเห็นได้ชัดที่สุดได้แก่ โครงการศูนย์การศึกษาและพัฒนาเขาหินซ้อน ที่อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา

ศูนย์การศึกษาและพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ณ ที่แห่งนี้ ในปี พ.ศ.2523 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พื้นที่ 15 ไร่ จัดสร้างสวนป่าสมุนไพรขึ้น เพื่อรวบรวมและปลูกพืชสมุนไพรชนิดต่างๆ ไว้ศึกษาวิจัยทางวิชาการเผยแพร่การใช้ประโยชน์และเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้แก่นักเรียน นักศึกษาและประชาชนที่สนใจ พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังศูนย์ศึกษาฯ ทรงปลูกต้นมหาโพธิ์ ณ สวนป่าสมุนไพรนี้ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2523 จึงอาจกล่าวได้ว่า สวนป่าสมุนไพรแห่งนี้ได้ถือกำเนิดมาจากพระราชดำริของพระองค์โดยแท้ ความชัดเจนนี้ปรากฏอยู่ในข้อความบนศิลาจารึก ณ สวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อน ดังนี้