3.2.2 พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา หรือพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล หมายถึง พระราชพิธีอันเป็นมงคลแห่งความซื่อสัตย์ที่ใช้น้ำเป็นเครื่องกำหนด เรียกอย่างย่อว่า พระราชพิธีถือน้ำ เป็นการดื่มน้ำที่แทงด้วยพระแสงราชศัสตรา สาบานตนเพื่อแสดงความซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และเพื่อความเจริญก้าวหน้าของตนเอง


หากตั้งอยู่ในความสัตย์นั้น นับเป็นพระราชพิธีใหญ่สำคัญสำหรับแผ่นดินสืบมาแต่โบราณ ที่ไทยรับอิทธิพลมาจากอินเดีย มีการประกอบพระราชพิธีนี้มาตั้งแต่สมัยอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 พระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ประกอบพระราชพิธีที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ ต่อมาย้ายไปประกอบพระราชพิธีที่วิหารพระมงคลบพิตร

ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ร่วมเสวยน้ำพระพิพัฒน์สัตยาด้วย หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย ในปีพ.ศ.2475 ก็ไม่มีการจัดพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาอีก จนกระทั่ง พ.ศ.2512 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดชมหาราช

การพระราชพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี และพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ นี้ กำหนดเป็น 2 วัน วันแรกเป็นการเสกน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยใช้น้ำฝนต้มบรรจุขันพระสาคร (ขันเงินถมตะทองใหญ่) พระสงฆ์ 9 รูป เจริญพระพุทธมนต์ ทวาทศปริตร (สวดมนต์สิบสองตำนาน) พระครูพราหมณ์อ่านฉันท์สดุดีพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร วันที่ 2 เป็นการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ณ ท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งจักรี มหาปราสาทและการถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม