3.1 พระราชลัญจกร
พระราชลัญจกร มี 3 องค์คือ พระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน พระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ 9 และพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ประจำรัชกาล

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รักษาโบราณราชประเพณีในการสร้าง พระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน พระราชลัญจกรประจำพระองค์ และพระครุฑพ่าห์ประจำรัชกาลขึ้น ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีในการจารึกพระราชลัญจกรหรือที่เรียกว่า “รุกตรา” ขึ้นตามโบราณขัตติยราชประเพณี ระหว่างวันที่ 20-21 เมษายน พ.ศ.2493 ก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-5 พฤษภาคม พ.ศ.2493


ในการจารึกพระสุพรรณบัฏพระบรมนามาภิไธย ดวงพระบรมราชสมภพ และพระราชลัญจกรประจำแผ่นดินนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร (ขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระวรวงศ์เธอพระองศ์เจ้าธานีนิวัต) เสด็จไปทรงเป็นประธานในพระราชพิธีฯ โดยพระราชพิธีในวันแรกเริ่มด้วยพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และวันที่สองเป็นพระราชพิธีจารึกพระสุพรรณบัฏพระนามาภิไธย และพระราชลัญจกรประจำแผ่นดินได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร เป็นศิลปินผู้จารึกพระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน

3.1.1 พระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน ที่โปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีจารึกตราขึ้น ในปีพ.ศ.2493 คือพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างรูปขึ้นและในสมัยต่อๆ มาใช้เป็นพระราชลัญจกรประจำแผ่นดินอย่างถาวรทุกรัชกาล โดยเปลี่ยนแต่พระปรมาภิไธยที่ขอบรอบลัญจกรให้เป็นตามรัชกาล ซึ่งเริ่มในขึ้นตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นมา