เริ่มมีการแปลพระไตรปิฎกบางส่วนจากภาษาบาลีเป็นภาษาไทย ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี และมีการแปลต่อเนื่องกันมาในสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ แต่ยังไม่ครบถ้วนทุกฉบับของพระไตรปิฎก จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงอุปถัมภ์ให้คณะสงฆ์ไทยปรับปรุงพระไตรปิฎกฉบับหลวง 80 เล่ม ที่พิมพ์เมื่องานฉลอง 25 ศตวรรษ (พ.ศ.2500) เป็น 45 เล่ม เท่าจำนวนพระชนม์ของพระพุทธเจ้า และพิมพ์ออกเผยแผ่
ได้มีการสังคายนาพระธรรมวินัย ตรวจชำระพระไตรปิฎกขึ้นในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษาครบ 5 รอบ ในปี พ.ศ.2530 นับว่ารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันเป็นระยะกาลที่พระไตรปิฎกที่เรียกว่า อรรถกถา (คำอธิบาย) ทั้งภาษาบาลีและภาษาไทย ได้จัดพิมพ์ขึ้นโดยสมบูรณ์ ในปี พ.ศ.2535 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ (สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่มที่ 16. 2534:27)
4.2 พระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์
ในปี พ.ศ.2531 มหาวิทยาลัยมหิดลได้นำข้อความในพระไตรปิฎก ภาษาบาลีและอักษรไทยเข้าบันทึกในจานแม่เหล็ก (Hard Disk) เพื่อนำเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ โครงการนี้ได้รับพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้ผู้ที่ต้องการศึกษาพระไตรปิฎกสามารถเรียกข้อความที่ต้องการในพระไตรปิฎกมาปรากฏ ในจอภาพและพิมพ์ข้อความนั้นๆ ออกมาเป็นเอกสารให้ได้ศึกษาค้นคว้าได้ภายในเวลาไม่กี่วินาทีที่ต้องการ ซึ่งงานนี้สำเร็จก่อนวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม พ.ศ.2534 นับเป็นพระราชกรณียกิจในการที่ทรงส่งเสริมทำนุบำรุงพุทธศาสนาอย่างสำคัญยิ่ง และเป็นความสำเร็จผลอันยิ่งใหญ่เป็นครั้งแรกในโลก นับเป็นเกียรติประวัติอย่างสูงสุดของประเทศไทยที่ได้รับยกย่องให้เป็นศูนย์กลางแห่งพระพุทธศาสนา โดยองค์การพุทธทั่วโลกได้ลงมติให้ประเทศไทยเป็นที่ตั้งถาวรแห่งสำนักงานใหญ่ องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (The Word Fellowship of Buddhists) ตลอดไป
นอกจากการให้การอุปถัมภ์เกี่ยวกับการชำระพระไตรปิฎกแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงอุปถัมภ์การศึกษาค้นคว้าเผยแผ่ธรรมะ ในลักษณะอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ทรงสนับสนุน มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ ในการศึกษาค้นคว้าปริวรรตหนังสือธรรมะต่างๆ ออกเผยแผ่ เป็นต้น
|