สิ่งแรกของประเทศไทยในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พ.ศ.2385
ตั้งธรรมยุติกนิกาย
ทรงสั่งสอนพระธรรมวินัยและพระไตรปิฎก ตามที่ทรงสอบสวนว่าถูกต้อง เมื่อมีผู้เลื่อมใสรับประพฤติปฏิบัติตามธรรมวินัยที่ทรงสั่งสอนเป็นจำนวนมาก ทั้งพระภิกษุสงฆ์และฆราวาส พระองค์จึงทรงตั้งนิกายใหม่ขึ้นในคณะสงฆ์โดยเรียกว่า “คณะธรรมยุติกา” ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของพระพุทธศาสนาอีกคณะหนึ่งในประเทศไทยนับแต่นั้นมา

พ.ศ.2394
พระราชพิธีวันมาฆบูชา
ทรงมีพระราชดำริว่า วันมาฆบูชาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา จึงโปรดเกล้าฯให้มีขึ้นในวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นครั้งแรก และถือเป็นกำหนดวันในทางราชการตลอดไป

พ.ศ. 2395
พระราชพิธีฉัตรมงคล
ทรงโปรดเกล้าฯให้ประกอบพระราชพิธีสมโภชพระมหาเศวตฉัตร เพื่อเป็นสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติและบ้านเมือง พิธีนับว่าเป็นครั้งแรกที่มีขึ้นในรัชสมัยนี้ และถือเป็นประเพณีต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนี้

เริ่มกระดาษกรอบคำไว้ทุกข์
สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระบรมราชเทวีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสิ้นพระชนม์ พระองค์จึงทรงพระอักษรเป็นภาษาอังกฤษลงในกระดาษมีขอบดำ ทรงแสดงถึงความเศร้าสลดพระราชหฤทัยและทรงเรียบเรียงประวัติของสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระบรมราชเทวีโดยสังเขปไว้ที่ท้ายกระดาษขอบสีดำ นับว่าทรงริเริ่มกระดาษกรอบคำไว้ทุกข์ และนิยมถือตามพระราชธรรมเนียมนั้นสืบมา

พระราชพิธีถวายผ้าจำนำพรรษา
ทรงพระราชปรารภถึงพระอัฐิแห่งพระบรมวงศานุวงศ์ เพื่อที่จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวาย จึงโปรดเกล้าฯให้บอกบุญเรี่ยไร พร้อมผ้าขาวและเครื่องไทยทานทั้งปวง มามอบถวาย เมื่อทอดผ้าตามอัฐิพระบรมวงศานุวงศ์เสร็จแล้ว พระภิกษุสงฆ์ชักผ้าบังสุกุลแล้วถวายอนุโมทนา ต่อจากนั้นมาพุทธศาสนิกชนจึงนิยมถวายผ้าจำนำพรรษาในเขตจีวรกาล คือตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จนถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 สืบต่อกันมา

พ.ศ.2396
เงินกระดาษที่มีเครื่องหมายดุนนูนสำหรับคนตาบอด

ผลิตเงินกระดาษที่เรียกว่าหมาย มี 3 ชนิด เงินกระดาษประทับตราประจำแผ่นดินและตราประจำรัชกาล สำหรับหมายมูลค่าต่ำจะมีดุนนูนจำนวนเท่ากับมูลค่าของหมาย ประทับไว้ที่ของของหมายแต่ละฉบับ เพื่อให้คนตาบอดคลำดู จะได้ทราบ

พ.ศ.2398
ใช้ “สยาม” เป็นชื่อประเทศ

ทรงพระราชดำริเห็นว่าการใช้คำแทนชื่อประเทศว่า “กรุงศรีอยุธยา” เป็นนามราชธานีเก่า มิได้ตรงกับนามของประเทศในเวลานี้ จึงเห็นควรใช้นามของประเทศว่า “ประเทศสยาม” ตามที่ต่างประเทศเรียกกัน จึงโปรดเกล้าฯให้ประกาศใช้คำว่า “สยาม” เป็นนามทางราชการ

จัดตั้งกองทหารประจำพระองค์
โปรดเกล้าฯให้จัดตั้งกองทหารรักษาพระองค์ปืนปลายหอกข้าหลวงเดิม กองทหารหน้า กองทหารปืนใหญ่และกองทหารล้อมพระราชวัง

เลิกทรงพระภูษาแดง
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเสวยราชย์แล้ว มิได้ทรงภูษาแดงจีนอันเป็นพระภูษาทรงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเคยถือเป็นประเพณีมาแต่ก่อน พระองค์จะทรงพระภูษาต่างๆ เช่น พระภูษาปูมเขมร พระภูษาม่วง หรือพระภูษาลาย

พ.ศ.2399
ฉายพระรูป พระบรมสาทิสลักษณ์

โปรดเกล้าฯ ให้ส่งพระบรมสาทิสลักษณ์ฉายคู่กับสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ไปให้ประธานาธิบดี แฟลงคลิน เพียร์ซ แห่งสหรัฐอเมริกา เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของประเทศไทยที่ยอมให้ฉายพระรูปพระบรมสาทิสลักษณ์

พ.ศ.2400
ส่งคณะราชฑูตไทยไปอังกฤษ

โปรดเกล้าฯให้พระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) เป็นราชฑูต จมื่นสรรเพชภักดีเป็นอุปฑูต จมื่นมณเฑียรพิทักษ์เป็นตรีทูต หม่อมราโชทัยเป็นล่ามไปเจริญพระราชไมตรียังประเทศอังกฤษ เพื่อถวายราชสาสน์และเครื่องบรรณาการแด่สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย นับเป็นครั้งแรกที่ราชฑูตไทยไปทวีปยุโรปในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ออกหนังสือราชกิจจานุเบกษา
โปรดเกล้าฯ ให้ออกหนังสือราชกิจจานุเบกษา ซึ่งที่ออกในครั้งนั้นโดยมากเป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีประกาศข่าวต่างๆ ของราชการ นับว่าเป็นหนังสือพิมพ์ราชการที่มีคุณค่าและได้มีการผลิตออกมาจนถึงปัจจุบันนี้

กำเนิดเครื่องราชอิสริยาภรณ์รุ่นแรกของไทย
โปรดเกล้าฯให้มีการสร้างเครื่องหมายแสดงพระเกียรติยศประดับที่ฉลองพระองค์ตามแบบพระมหากษัตริย์ของชาวยุโรป โดยใช้รูปแบบของสิ่งที่เป็นมงคลดั้งเดิมของไทย เช่น พลอย 9 ชนิด หรือนพรัตน์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ขึ้น 6 อย่างคือ ดาราไอราพต ดารานพรัตน ดาราช้างเผือกสำหรับพระราชทานคนไทย ดาราช้างเผือกสำหรับพระราชทานชาวต่างประเทศ ดาราพระมหามงกุฎ(ฝ่ายใน) ดาราตราตำแหน่ง

บัญญัติศัพท์ว่า “ดารา”
เครื่องหมายแทนพระองค์พระมหากษัตริย์ ภาษาสากลเรียกว่า Star พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบัญญัติศัพท์ว่า “ดารา” เรียกแทนนามเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และยังคงใช้คำนี้ในการเรียกดารา ส่วนประกอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับชั้นที่ 2 ขึ้นไป จนถึงชั้นสายสะพายมาจนถึงปัจจุบันนี้

พ.ศ.2401
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

โปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และประกาศให้ถือเป็นประเพณีนิยมตลอดไปทุกปี

พ.ศ.2403
ทำเหรียญเงินออกใช้

ทรงโปรดเกล้าฯให้ทำเงินเหรียญบาท เงินสลึงและเงินเฟื้องใช้แทนเงินพดด้วง และปี 2404 โปรดเกล้าฯให้ทำเหรียญทองแดง ซีก เสี้ยว ใช้แทนเบี้ยหอย

พ.ศ.2404
พิธีกงเต๊ก

พิธีกงเต๊กเป็นพิธีทางฝ่ายสงฆ์อนัมนิกายของลัทธิมหายาน ซึ่งมีพระจีนและพระญวนเป็นผู้ประกอบพิธีอุทิศกัลปนาผลแก่ผู้ที่ได้ล่วงลับไปแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพิจารณาเห็นว่ามีประโยชน์ จึงโปรดเกล้าฯให้ประกอบพิธีกงเต๊กขึ้นในพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลถวายสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ เป็นครั้งแรก ต่อจากนั้นมาก็มีพระศพเจ้านายอื่นๆ นิยมทำตามกัน

พ.ศ.2406
เริ่มประเพณีแต่งดำไว้ทุกข์

โปรดเกล้าฯให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทนุ่งผ้าดำเป็นการไว้ทุกข์ ภายหลังมีผู้เห็นชอบจึงได้ทำตามแบบอย่าง จนถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบมา

พ.ศ.2407
พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครั้งแรก

ทรงมีหมายประกาศให้ตกแต่งประดับประดาธงทิวตามประทีปโคมไฟในเคหสถาน บ้านเรือน บริเวณพระบรมมหาราชวัง ตลอดจนกระทรวง กรม อันเป็นที่ทำการของรัฐ พร้อมกับจัดมหรสพสมโภชตลอด 3 วัน เนื่องจากพระองค์ทรงพระราชปรารภที่จะบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นการฉลองในวาระดิถีคล้ายวันพระราชสมภพ ซึ่งทางพุทธศาสนานิยมว่าเป็นลาภอันเประเสริฐสำหรับผู้ที่มีอายุครบรอบปี จึงถือพระราชพิธีนี้เป็นพระราชประเพณีต่อมา

พ.ศ.2409
สร้างกระโจมไฟครั้งแรก

ทรงโปรดเกล้าฯให้พระยาเทพอรชุน จัดการสร้างกระโจมไฟที่สันดอนสำหรับเป็นเครื่องหมายให้ความสะดวกแก่เรือพาณิชย์ นับเป็นครั้งแรกที่สร้างกระโจมไฟในรัชกาลที่4

ธรรมเนียมจับมืออย่างชาติตะวันตกครั้งแรก
ทรงเริ่มใช้ธรรมเนียมฝรั่งโดยพระราชทานพระหัตถ์ให้แก่ข้าทูลละอองธุลีพระบาท จับมือสั่นเป็นครั้งแรก และครั้งนั้นได้พระราชทานพระหัตถ์ให้เจ้ากาวิโลรสเจ้าประเทศราชแห่งพระนครเชียงใหม่จับเป็นคนแรก จึงถือเป็นขนบธรรมเนียมจับมือสั่นสืบเนื่องใช้มาจนทุกวันนี้

การปั้นรูปภาพราชานุสรณ์แบบเหมือนจริงครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์
ทรงโปรดเกล้าฯ ให้หลวงเทพรจนา (พลับ) ทดลองปั้นเลียนแบบพระองค์จริงถวาย ถือได้ว่าเป็นการปั้นพระบรมรูปพระมหากษัตริย์ไทยที่ยังทรงดำรงพระชนม์อยู่เป็นครั้งแรกในวงการประติมากรรมไทย โดยสร้างขึ้นตามคตินิยมตะวันตก

เริ่มแรกของการวางสายการสื่อสารกับต่างประเทศ
ได้ทรงอนุญาตให้เจ้าหน้าที่อังกฤษ สร้างสายโทรเลขจากประเทศพม่าผ่านประเทศไทยลงไปยังประเทศสิงคโปร์ มีความยาว 950 ไมล์