ภาคผนวก (3)
ข้อเท็จจริง : นานาทัศนะเกี่ยวกับ ANNA AND THE KING OF SIAM

แหม่มแอนนา หรือนางแอนนา เลียวโนเวนส์ ครูสอนหนังสือภาษาอังกฤษที่เคยเข้ามาสอนหนังสือ พระโอรสและพระธิดาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และนำเรื่องราวในราชสำนักและบุคคลที่เกี่ยวข้องไปแต่งเป็นหนังสือ 2 เล่มคือ

1. The English Governess at the Siamese court พิมพ์ใน พ.ศ. 2413
2. The Romance of the Harem พิมพ์ใน พ.ศ. 2415

ในปี พ.ศ. 2483 นางมาร์กาเรต แลนดอน ได้นำเนื้อหาของหนังสือสองเล่มไปรวมกันเขียนใหม่ ในชื่อเรื่อง ANNA AND THE KING OF SIAM เขียนเล่าถึงชีวประวัติของแหม่มแอนนา เลียวโนเวนส์ที่เดินทางมาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในราชสำนักสยามและนำเรื่องเจ้าจอมทับทิมมาผสมเขียนเป็นนิยาย แต่ด้วยเหตุที่นำเอาเรื่องของพระเจ้ากรุงสยามและแหม่ม
แอนนา ที่เป็นบุคคลในเหตุการณ์ ทำให้ความเชื่อว่านิยายนี้เป็นเรื่องจริงที่แหม่มแอนนาประสบจริงในราชสำนักสยาม และนางแลนดอนไม่เคยได้เห็นราชสำนักสยามเลย ดังนั้นราชสำนักสยามในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงถูกมองไปในด้านลบ และมีข้อมูลผิดพลาด บวกกับความไม่เข้าใจขนบธรรมเนียมประเพณีไทยของชาวต่างชาติ เรื่องนี้แต่งเติมเสียจนผิดพลาดไปจากข้อเท็จจริง จากสายตาและความคิดเห็นของชาวต่างชาติที่ไม่เข้าใจ เมื่อเห็นหรืออ่านหนังสือเล่มนี้จึงเชื่อว่าถูกต้องไปเสียหมด รวมทั้งการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ถึง 2 ครั้ง
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ประทานข้อคิดเห็นในเรื่องที่แหม่มแอนนาเขียน ความว่า

“... แหม่มแอนนา อาจมีความจำเป็นต้องหาเงินมาเลี้ยงลูก จึงปรุงแต่งเรื่องราวขึ้นให้มีรสชาติพอที่จะขายสำนักพิมพ์ได้ ตอนที่นางสอนหนังสืออยู่ในราชสำนักก็มิได้มีอิทธิพลมากมายขนาดที่พระเจ้าอยู่หัวจะต้องไปใส่พระทัยรับฟัง เป็นได้ว่า สิ่งที่นางเขียนออกมาก็คือเรื่องที่ต้องการถวายความเห็นเป็นการย้อนหลัง เพราะจริงๆ แล้วไม่เคยมีโอกาสได้พูดเลย”

ในการแปลหนังสือ ANNA AND THE KING OF SIAM อ.สนิทวงศ์ ผู้แปลได้เขียนว่า

“... มีอะไรหลายๆ อย่างที่ มาร์กาเรต แลนดอน เขียนคาดเคลื่อนจากความเป็นจริง อาทิเช่น ขนบธรรมเนียมบางอย่างของชาวไทย พระลักษณะนิสัยและพระราชจริยาวัตรของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจนการใช้ทาสในสมัยนั้น... หนังสือเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มาร์กาเรต แลนดอน เขียนขึ้นเพื่อให้เราอ่านเล่นสนุกๆ มีเรื่องอ้างอิงประวัติศาสตร์ของประเทศไทยสมัยโบราณและเรื่องที่เป็นจริงบ้าง เรื่องที่แต่งขึ้นเองตามความคิดเห็นของหล่อน”

ครูอบ ไชยวสุ ผู้แปลได้ให้ข้อคิดเห็นไว้ว่า

“... เป็นเรื่องบรรยายถึงเหตุการณ์ตามทัศนะ ตามความรู้เห็นของแหม่มแอนนา เลียวโนเวนส์ ด้วยสำนวนของแหม่มเอง ซึ่งคงจะมีความคลาดเคลื่อนได้มากๆ ทั้งข้อเท็จจริงและนามผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ ซึ่งเห็นด้วยสายตาของชาวต่างประเทศที่เข้ามาอยู่ในประเทศสยามในเวลาอันน้อย ทั้งได้เพิ่มเติมตกแต่งขึ้นให้เป็นเรื่องราวสนุกสนานไม่จืดชืดอีกด้วย จึงจะถือเอาเป็นหลักฐานประกอบการค้นคว้าอ้างอิงย่อมไม่ได้ หรือได้ก็ไม่มาก จะยอมให้เป็นได้อย่างดีก็เพียงนวนิยาย ซึ่งมีฉาก มีลักษณะบุคคล มีพฤติการณ์ ในสมัยที่ล่วงมาแล้ว 100 กว่าปีของเมืองไทยเท่านั้น”

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้เขียนเรื่อง สี่แผ่นดิน ได้แสดงความเห็นในเรื่องนี้ไว้ว่า

“ หนังสือฝรั่งที่แหม่มเลียวโนเวนส์เขียนไว้เมื่อ 80 ปีมาแล้ว หนังสือเรื่องนั้น เป็นเรื่องที่แหม่มแกยกเมฆขึ้นเป็นอันมาก บรรจุข้อความและเรื่องราวต่างๆ ที่แหม่มในสมัยพระนางวิกตอเรียจะพึงยกเมฆได้ เพื่อให้หนังสือนั้นขายได้สตางค์
ถ้าจะหาความจริงจากหนังสือเล่มนี้แล้วก็มีน้อยเต็มที เพราะแหม่มเลียวโนเวนส์แต่งขึ้นเป็นเรื่องครึ่งจริงครึ่งนวนิยาย เป็นต้นว่า พระนางสุนาถวิสมิตรา นั้นก็ไม่มีตัวจริงในประวัติศาสตร์ เจ้าจอมทับทิมและพระปลัดที่ถูกเผาทั้งเป็นนั้นก็ไม่มีอีก แม้แต่พระเจดีย์ที่อ้างว่าสร้างเป็นอนุสรณ์ของคนทั้งสองนั้นก็ไม่เคยมี แต่คนจริงๆ ก็ปรากฏอยู่ในหนังสือนี้ไม่น้อย เป็นต้นว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและคุณจอมมารดาเที่ยง คุณจอมมารดากลิ่น เมื่อหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือครึ่งจริงครึ่งหลอก หรือเป็นนวนิยายที่แต่งขึ้นโดยใช้ชื่อคนจริงๆ อย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว จึงยากที่จะแยกออกได้ว่า ตรงไหนจริงตรงไหนหลอก ถ้าจะอ่านก็ต้องถือว่าจริงทั้งเรื่องหรือหลอกทั้งเรื่อง สุดแล้วแต่ใจ
อย่างไรก็ตาม หนังสือนี้ต้องถือว่าแสดงความจริงเป็นหลักฐานอยู่อย่างหนึ่ง ความจริงนั้นก็คือลักษณะอาการของคนไทยที่ฝรั่งนึกว่าเราเป็นหรือควรจะเป็น ถ้าแหม่มเลียวโนเวนส์จดจำเอาคนไทยจริงๆ ไปเขียนฝรั่งที่อ่านอาจหมดความสนใจก็ได้ เพราะคนไทยจริงๆ นั้นคงไม่ผิดจากฝรั่งในขณะนั้นเท่าใดนัก แต่คนไทยของแหม่มเลียวโนเวนส์เป็นคนไทยชนิดพิสดารมีความเป็นอยู่ยอกย้อนผิดมนุษย์ธรรมดาสามัญ หนังสือของแหม่มเลียวโนเวนส์จึงได้รับความสนใจ มีผู้อ่านบ้าง”
สรุปแล้วเรื่อง ANNA AND THE KING OF SIAM ผิดข้อเท็จจริงและไม่เหมาะสม