หมายเหตุ : เมืองนครศรีธรรมราช
ในสมัยกรุงธนบุรี พระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) เป็นผู้ครองนครฯ ซึ่งเมื่อก่อนกรุงศรีอยุธยาจะเสียแก่พม่า เมืองนครศรีธรรมราชเป็นประเทศราช จึงมีตำแหน่งขุนนางต่างๆ อย่างประเทศราช มีทั้งอุปราช พระยาจักรี ขุนนางทำนองจตุสดมภ์ ฯลฯ ส่วนวงศาคณาญาติก็แต่งตั้งขึ้นเป็นเจ้าพระยาจักรีเป็นต้น พระเจ้านครฯ (หนู) มีธิดา 3 องค์ คือ

องค์ใหญ่ ชื่อ ชุ่ม บางทีเรียกนวล เรียกกันในสมัยนั้นว่า “ ทูลกระหม่อมหญิงใหญ่ ” เป็นชายาของเจ้าอุปราช เมืองนคร (พัฒน์) (เสทื้อน ศุภโสภณ, 2527 : 101 ; สังข์ พัฒโนทัย , ม.ป.ป. : 260)

องค์กลาง ชื่อ ฉิม ถวายเป็นพระสนมในสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เป็นที่โปรดปรานมาก ทรงยกย่องเป็นมเหสีฝ่ายซ้าย สถาปนาเป็น กรมหลวงบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ ชาวนครฯ เรียกเจ้าหญิงฉิมนี้ว่า “ทูลกระหม่อมหญิงกลาง” ท่านมีพระโอรสเป็นเจ้าฟ้าชาย 3 องค์ และเจ้าฟ้าหญิง 1 องค์

องค์สุดท้าย ชื่อ ปราง (หรือหนูเล็ก) เป็นพระสนมในสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ชาวนครฯ เรียกท่านว่า “ทูลกระหม่อมหญิงเล็ก” องค์นี้ต่อมาเมื่อทูลกระหม่อมหญิงใหญ่ ‘ ชุ่ม ' สิ้นชีพแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ทรงยกพระราชทานเจ้าอุปราช (พัฒน์) ทั้งๆ ที่ เจ้าจอมมารดาปราง หรือทูลกระหม่อมหญิงเล็ก ทรงพระครรภ์อยู่ ซึ่งหากประสูติพระราชโอรสหรือพระราชธิดาก็จะเป็นบุตรเลี้ยงของเจ้าอุปราช (พัฒน์) และจะได้มีอำนาจวาสนาในเมืองนครฯ ซึ่งเป็นประเทศราชอยู่ทางภาคใต้ (จุลลดา ภักดีภูมินทร์. “พระองค์เสือ และพระองค์ช้าง,” สกุลไทย 48(2488) : 25 มิถุนายน 2545 : 27, 49)

5. เจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่
เจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นพระราชธิดาองค์ที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี สันนิษฐานว่าประสูติเมื่อ พ.ศ.2304 ด้วยเหตุที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกผู้บิดาเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ และทำความชอบมาก ดังนั้น คุณฉิมจึงได้รับการยกย่องขึ้นเป็นพระสนมเอก (พระราชชายา) หรือที่เรียกกันว่า เจ้าจอมฉิมใหญ่

เจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ.2322 (ในสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี) พระชนมายุ 18 พรรษา หลังจากการประสูติพระราชโอรส เจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ ได้เพียง 12 วัน ครั้นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกลับจากราชสงคราม จึงได้จัดงานศพอย่างสมเกียรติยศทุกประการ ภายหลังเมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกปราบดาภิเษกเถลิงถวัลยราชสมบัติ จึงได้โปรดฯ สถาปนาเจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่ในฐานะพระราชธิดาเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฉิมใหญ่ ส่วนเจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์โปรดฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต