เสื้อเสนากุฎ เป็นเสื้อเครื่องแบบทหารทั้งบกและเรือ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา เป็นผ้าฝ้ายลายอย่างที่ผลิตจากอินเดีย ตัดเย็บตามแบบจีนคือติดกระดุมป้ายมาที่สีข้างขวาตลอด
ด้านหน้า ด้านหลัง และที่ต้นแขนทั้งสองข้างเป็นลายสิงห์คาบเกราะ
ส่วนปัจจุบันเหลือเพียง 2 ตัวเท่านั้นในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

ส่วนภาพนี้อยู่ในพิพิธภัณฑ์ Royal Ontario Museum เมือง Toronto ประเทศแคนาดา (ภาพจากหนังสือ การแต่งกายไทย : วิวัฒนาการจากอดีตสู่ปัจจุบัน เล่ม 1)
เสื้อนอก ตัดเย็บด้วยผ้าแพรจากประเทศจีน หรือผ้าจากยุโรป ปักดิ้นทองเป็นลวดลายงดงาม ผ่าหน้า ติดกระดุมที่ถักด้วยเส้นเงินหรือทองแล่งเป็นระยะห่างๆ ปลายแขนเสื้อกว้าง ผ้าที่ตัดเย็บสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นผ้ายกทองจากอินเดียหรือเปอร์เซีย เช่น ผ้าเข้มขาบ ผ้าอัตลัด หรือผ้าเยียรบับ

ผ้าคล้องคอ ตัดเย็บด้วยแพรจีน ปักด้วยดิ้นเงินหรือทอง หรือใช้ผ้าที่มีความงดงามที่สุดที่หาได้ อาจเป็นผ้ายกทองจากอินเดียหรือเปอร์เซีย เช่น ผ้าเข้มขาบ ผ้าอัตลัด หรือผ้าเยียรบับ ซึ่งเป็นผ้าชั้นสูง มีค่าและราคาแพง

สนับเพลา ตัดเย็บด้วยผ้าเนื้อดี ปักดิ้นทองคำและดิ้นเงินเป็นลวดลายบริเวณปลายขา มีความยาวต่ำลงมากว่าหัวเข่า

ผ้านุ่งโจงกระเบน สันนิษฐานจากบันทึกว่า ผ้านุ่งที่ใช้นุ่งทับสนับเพลานั้นใช้วิธีการแบบนุ่งโจงกระเบน

รองเท้า ใช้รองเท้าหนีบแบบรองเท้าของพวกแขกมัวร์ลักษณะคล้ายรองเท้าแตะ

ลอมพอก เป็นหมวกสำหรับขุนนาง เรียกว่า พอกหรือเกี้ยว เป็นเครื่องแต่งกายชนิดหนึ่งที่ช่วยกำหนดลำดับชั้นยศของขุนนาง เป็นหมวกมียอดคล้ายชฎา ขอบหมวกมีสมรดสีเหลืองหรือดิ้นทองคาดเพื่อความสวยงาม เหนือสมรดขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งมีเกี้ยวเป็นรูปวงกลม ประดับด้วยดอกไม้ไหวทองคำ มีปลายแหลม แชร์แวส์ได้กล่าวถึงการจำแนกชั้นยศของขุนนาง จากหีบหมากและลอมพอกไว้อย่างน่าสนใจดังนี้