ในการเขียน " สมุดภาพไตรภูมิ " ครั้งนั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้โปรดให้ดำเนินการจัดทำกันอย่างประณีตพิถีพิถันกวดขันกันเป็นพิเศษ รวมความว่า พระราชประสงค์ในการจัดทำสมุดภาพไตรภูมิบุราณฉบับนี้ ก็เพื่อให้มหาชนทั้งหลายได้มีความเข้าใจในเรื่องนรกสวรรค์ได้ถูกต้องตรงตามพระบาลี แล้วจะได้พากันตั้งหน้าประกอบแต่กรรมดีละเว้นกรรมชั่ว ต้องด้วยคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาสืบไป

แสดงเปรต 2 จำพวก
1.บาปเพราะกล่าววาจาประมาทพระกัสสะปะ
2. บาปเพราะหวงน้ำบริโภคแก่มนุษย์และสัตว์
(ภาพจากหนังสือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และบทบาทชาวจีนในสยาม)

สมุดภาพไตรภูมิบุราณ ฉบับกรุงธนบุรีเล่มนี้ นับได้ว่าเป็นสมุดภาพไตรภูมิขนาดใหญ่เล่มหนึ่งของเมืองไทย ด้วยหากคลี่ออกไป ก็จะมีความยาวถึง 34.72 เมตร เขียนภาพสีอย่างวิจิตรบรรจงลงในหน้ากระดาษสมุดทั้งสองด้าน

หลายสิบภาพที่ปรากฏอยู่ในสมุดภาพไตรภูมิฉบับนี้ มีความงดงามน่าชมเป็นอย่างยิ่ง ยากที่จะหาสมุดภาพไตรภูมิฉบับอื่นใด ให้ยอดเยี่ยมยิ่งไปกว่านี้ได้

สมุดภาพไตรภูมิทำนองเดียวกันนี้ ที่ได้โปรดให้สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระองค์นั้นมีอยู่ถึง 2 ฉบับด้วยกัน อีกฉบับหนึ่งขณะนี้เก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมันตะวันตก ซึ่งได้ซื้อไปจากเมืองไทย ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2436

สมุดภาพไตรภูมิทั้งสองฉบับนี้ เป็นเครื่องชี้ให้เห็นได้อย่างเด่นชัด ว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น นอกจากจะทรงเป็นพระผู้กู้ชาติกู้เอกราชให้แก่บ้านเมืองเราแล้ว ยังทรงเป็นผู้กอบกู้การช่างศิลปกรรม กู้พระศาสนาและจริยธรรมของชนในชาติอีกด้วย (เสทื้อน ศุภโสภณ , 2527 : 6-7, 93-94)

นอกจาก " สมุดภาพไตรภูมิ " แล้ว ยังมี ภาพเขียนที่ฝาผนัง ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ด้วย