กรุงศรีอยุธเยศแพ้                ไพรี
มากบ่มีสามคี                        คิดสู้
เพียงห้าแต่หากมี                   ใจร่วม หาญแฮ
อาจชนะแก้กู้                        ก่อตั้งกรุงธน
ทรงพระราชอุทิศให้               แก่เจ้าตากผู้ได้
กลับตั้งกรุงธน                       แลนา

พระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์

อนุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มหาราช ตั้งอยู่ที่กลางวงเวียนใหญ่ จังหวัดธนบุรี ลักษณะอนุสาวรีย์ที่จะกล่าวนี้ เป็นพระบรมรูปทรงม้าพระที่นั่งออกศึก สร้างด้วยทองสัมฤทธิ์ ทรงเครื่องกษัตริย์นักรบ สวมพระมาลาเบี่ยง พระหัตถ์ขวาทรงเงื้อพระแสงดาบนำพลเข้ารุกไล่ข้าศึก พระหัตถ์ซ้ายทรงบังเหียน หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้สู่เมืองจันทบุรี

องค์อนุสาวรีย์พระบรมรูป ประดิษฐานบนแท่นเสาใหญ่ ซึ่งหล่อด้วยคอนกรีตอย่างสวยงาม และทั้ง 2 ด้านของแท่นเสาคอนกรีตนั้น จารึกเป็นรูปนูน มีความหมายถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ชาติไทยเราด้านละ 2 รูป โดยมีความหมายดังนี้ คือ


ภาพที่ 1 แสดงถึงภาพประชาชนซึ่งหมดหวัง เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึก

ภาพที่ 2 แสดงให้เห็นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงเกลี้ยกล่อมประชาชนให้รวมกันกู้อิสรภาพ

ภาพที่ 3 แสดงให้เห็นพระองค์ทรงออกรบ
และมีชัยชนะทุกครั้ง


ภาพที่ 4 แสดงให้เห็นความผาสุกของประชาชน เมื่อพระองค์ทรงกอบกู้อิสรภาพได้แล้ว


อนุสาวรีย์แห่งนี้ คณะกรรมการได้ประชุมปรึกษากันหลายครั้งหลายหน โดยไม่ตกลงกันได้ว่า จะสร้างเป็นรูปลักษณะใดดี จนกระทั่งถึง พ.ศ.2480 คณะกรรมการในเรื่องนี้จะได้มอบให้กรมศิลปากรพิมพ์ใบปลิวแจ้งความเพื่อขอมติมหาชน เป็นผู้ตัดสินเลือกแบบอนุสาวรีย์ที่จะสร้าง ดังมีข้อความดังต่อไปนี้ คือ

ขอมติมหาชนในเรื่อง แบบอนุสาวรีย์
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มหาราช

โดยได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มหาราช และโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรี กรมศิลปากรดำเนินการขอมติมหาชน ในเรื่องแบบอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มหาราช ที่กำลังคิดสร้างโดยวิธีการดังต่อไปนี้

1. ร่างแบบอนุสาวรีย์ โดยแนวคิดต่างๆ กันไว้ 7 แบบ ติดไว้ที่กองศิลปากรในพระราชอุทยานสราญรมย์ ตลอดเวลาที่มีงานฉลองรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มหาชนพิจารณาและออกคะแนนเสียงแสดงความปรารถนาว่าจะให้สร้างในทำนองใด

2. ลักษณะของแบบที่สร้างไว้ได้ใช้แนวความคิด 2 ประการของคณะกรรมการ คือ

  • อนุสาวรีย์จะต้องเป็นของสูงใหญ่ งามสง่ากระทบตาคน กระเทือนใจให้ผู้ดูรู้สึก ความสูงใหญ่มั่นคง ซึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช ได้ทรงทำไว้ให้แก่ประเทศชาติไทย และ
  • รูปอนุสาวรีย์ควรเป็นหลัก 6 หลัก หรือถ้าเป็นหลักเดียวก็ควรให้เป็น 6 เหลี่ยม 6 ซีกรัดรึงตรึงกันเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งแสดงความหมายในทางประวัติศาสตร์ว่า เมื่อเสียกรุงแก่พม่าใน พ.ศ. 2310 นั้น ประเทศไทยได้แตกแยกออกเป็น 6 ส่วน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช ได้ทรงรวบรวมประเทศไทยที่แตกแยก ให้กลับเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน งานที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มหาราช ทรงทำไว้แก่ชาติของเรานั้น ก่อให้เกิดลัทธิว่า ไทยต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จะแบ่งแยกมิได้ ลัทธิอันนี้ได้กลายเป็นบทรัฐธรรมนูญมาตราต้นๆ

3. ภาพต่างๆ ที่แสดงไว้นี้ ไม่ใช่แบบที่จะก่อสร้างจริงๆ เป็นแต่เพียงแนวคิดเท่านั้น เมื่อเสร็จงานฉลองรัฐธรรมนูญแล้ว ปรากฏว่าแนวคิดในภาพใดได้รับมติมหาชนมากที่สุด กรมศิลปากรจะได้พิมพ์ภาพนั้นประกาศเชื้อเชิญ ช่างทั่วราชอาณาจักรให้ออกแบบก่อสร้าง โดยดำเนินตามแนวคิดที่ได้คะแนนมติมากที่สุดนั้นมาประกวดใหม่อีกครั้งหนึ่ง

4. ท่านผู้ใดชอบแนวคิดในแบบใด ขอให้บริจาคทรัพย์เป็นคะแนนเสียงใส่ลงในตู้ตรงหน้าภาพนั้น

5. การนับคะแนนเสียง จะนับชิ้นหนึ่งเป็นเสียงหนึ่ง โดยไม่คำนึงค่าของเงิน ท่านใส่สตางค์ 1 อัน ก็จะนับเป็น 1 เสียง หรือท่านใส่ธนบัตร 1 แผ่น ก็จะนับเป็น 1 เสียง เหมือนกัน

6. เมื่อเจ้าหน้าที่เห็นสมควรจะเอาทรัพย์ออกเก็บเสียบ้าง ก็จะได้มีกรรมการตรวจนับ และเขียนบอกไว้ว่าภาพใดได้คะแนนเท่าใด

7. ทรัพย์ที่มหาชนบริจาคในการลงคะแนนเสียงนั้น จะส่งเข้าสมทบทุนสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราชทั้งหมด

ลักษณะรูปอนุสาวรีย์ทั้ง 7 แบบ ที่มติมหาชนมีความคิดเห็นและตัดสินเลือกได้ คือ

ที่ 1 ได้แก่ แบบที่ 1 ได้คะแนน 3,932 คะแนน มีรูปร่างลักษณะ คือ
(1) เสาสี่เหลี่ยมรี

  • โคนมีกระดานหนีบข้างละ 3 แผ่น
  • ปลายตั้งรูปพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงม้า
  • สองข้างกระดานหนีบตั้งรูปทหาร
  • มีฐาน 2 ชั้น
  • ชั้นบนไม่มีพนัก
  • ชั้นล่างมีพนัก 1 ด้าน ด้านหน้าเป็นบันได

ที่ 2 ได้แก่ แบบที่ 3 ได้คะแนน 2,473 คะแนน มีรูปร่างลักษณะ คือ

  • เสาสี่เหลี่ยมปลายจักรเป็นคฤหัจตุรมุข
  • ยอดเป็นฉัตร
  • ฐานทำเป็นกระดาน 6 แผ่น ซ้อนกัน
  • ตั้งรูปทหารหน้าฐาน

ที่ 3 ได้แก่ แบบที่ 5 ได้คะแนน 96 คะแนน มีรูปร่างลักษณะ คือ

  • เสา 6 เหลี่ยม
  • ปลายเป็นคฤหัจตุรมุขยอดฉัตร
  • ตั้งพระรูปทรงม้าหน้าเสา

ที่ 4 ได้แก่ แบบที่ 6 ได้คะแนน 749 คะแนน มีรูปร่างลักษณะ คือ

  • เสา 6 กลีบ
  • ปลายเสาตั้งพระรูปยืน
  • โคนเสามีอะไรรองลักษณะดุจกะบะเครื่องบูชากลม
  • ตั้งรูปนางในเชิญเครื่องล้อมรอบปากกะบะ
  • ลายกะบะสลักดุนเป็นรูปชนช้าง
  • มีตอหม้อค้ำกะบะ 6 ตัว
  • มีฐานรอง
  • มีบันไดลงข้างหน้า

ที่ 5 ได้แก่ แบบที่ 2 ได้คะแนน 206 คะแนน มีรูปร่างลักษณะ คือ

  • ลับแล
  • มีกระดานหนีบข้างละ 3 แผ่น สูงพ้นขึ้นไปดุจเสาคู่
  • หน้าลับแลตั้งเป็นพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช
  • มีฐานเป็นบันไดเกย
  • หน้าเกยมีหม้อบูชาใบหนึ่ง

 

ที่ 6 ได้แก่แบบที่ 7 ได้คะแนน 196 คะแนน มีรูปร่างลักษณะ คือ

  • เสาสี่เหลี่ยม
  • ตอนปลายสลักลายดุนเป็นหม้อไฟ
  • ตอนใต้ลงมาสลักลายดุนเป็นเครื่องไม้
  • ตั้งพระรูปทรงช้างพระคชาธารที่หน้าเสา
  • ตั้งถาดลูกไม้ 2 ข้าง

 

ที่ 7 ได้แก่ แบบที่ 4 ได้คะแนน 151 คะแนน มีรูปลักษณะ คือ

  • เสาสี่เหลี่ยม
  • โคนมีกระดาน 6 แผ่น หนีบ 2 ข้าง
  • ปลายมีหม้อไฟ
  • ตั้งพระรูปยืนหน้าเสา
  • ตั้งรูปทหารหมู่ 2 ข้างกระดานหนีบ
  • มีฐานรองรับ

หลังจากเมื่อเสร็จงานฉลองรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2480 แล้ว คณะกรรมการได้ตรวจนับคะแนนเสียงของมหาชน และร่วมกันเปิดหีบเงินที่บริจาคเป็นคะแนน ได้ธนบัตร 1 บาท, เหรียญ 1 สลึง, สตางค์สิบ, สตางค์ห้า, สตางค์แดง, ครึ่งสตางค์ (ณัฎฐ์พร บุนนาค, 2545 : 147) รวมคะแนนได้สูงสุดคือ 3,932 คะแนน จึงตกลงใช้ “ แบบที่ 1” เป็นภาพหลักในการออกแบบสร้างอนุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช ต่อไป

แต่เนื่องจากสถานการณ์ของบ้านเมืองได้ตกอยู่ในภาวะคับขัน เนื่องมาจากกรณีพิพาทกับอินโดจีนฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ.2484 และมาเกิดมหาสงครามโลกครั้งที่ 2 คณะรัฐบาลก็ได้เปลี่ยนแปลงไปหลายครั้ง ทำให้คณะกรรมการต้องพ้นและหมดไปตามสภาพการดำเนินงาน สร้างอนุสาวรีย์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงหยุดชงักไปด้วย

ครั้นต่อมาเมื่อ พ.ศ.2492 นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ และนายเพทาย โชตินุชิต (ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดธนบุรีสมัยนั้น) จึงได้นำเรื่องนี้เสนอต่อคณะรัฐบาลในสมัย ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นหัวหน้าคณะ และคณะรัฐบาลก็ได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2493 ประกอบด้วยพระยารามราชภักดี ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานกรรมการ โดยอนุโลมตามมติคณะกรรมการชุดเดิม และจัดสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นที่กลางบริเวณ วงเวียนใหญ่ ธนบุรี เพราะได้พิจารณาแล้วว่ามีความเหมาะสมหลายประการ เช่น มีบริเวณกว้างขวาง การคมนาคมผ่านหลายสาย และเมื่อข้ามสะพานพระพุทธยอดฟ้า มาฝั่งธนบุรีแล้วจะแลเห็นอนุสาวรีย์เด่นและสง่า ทั้งรัฐบาลก็มีโครงการขยายถนนเพชรเกษมให้กว้างขวางย่อมจะช่วยให้เกิดความสวยงาม ของบริเวณวงเวียนใหญ่นั้นด้วยการก่อสร้างอนุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณไว้เป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท และพร้อมกับเปิดการเรี่ยไรจากประชาชนสมทบอีกเรื่อยๆ มา ส่วนการจัดสร้างอนุสาวรีย์คณะกรรมการได้มอบให้กรมศิลปากรเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายพระบรมรูป ทางกรมศิลปากรจึงได้มอบให้ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี คณบดีคณะจิตรกรรมและปฎิมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดทำโดยเริ่มปั้นขนาดสูงราวครึ่งเมตร เมื่อกลางปี พ.ศ.2439 และแบบที่ 2 ขนาดราว 2 เมตร โดยมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย ครั้นแล้วจึงปั้นแบบที่ 3 เป็นขนาดใหญ่ และหล่อด้วยโลหะทองแดง ส่วนสูงจากแท่นที่ม้ายืนถึงพระหัตถ์ที่ชูพระแสงดาบ 4 เมตร 20 เซ็นต์ ลำตัวม้ายาว 4 เมตร เฉพาะอนุสาวรีย์นี้สูง 8.95 เมตร กว้าง 1.80 เมตร ยาว 3.50 เมตร ประดิษฐานบนแท่นคอนกรีตเสริมเหล็ก และมีลานคอนกรีตที่ฐานแท่นสูงจากระดับดิน 1.70 เมตร โดยรอบ รวมส่วนสูงทั้งหมด 14 เมตร 10 เซ็นต์ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ได้ปั้นเสร็จเรียบร้อยเมื่อเดือน สิงหาคม พ.ศ.2494

คณะกรรมการจึงได้กำหนดวางศิลาฤกษ์ และเททองพระเศียร เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2494 เริ่มดำเนินการสร้างแท่นฐาน สร้างถนนและวงเวียนใหญ่ ตกแต่งบริเวณสถานที่ให้แลดูสวยงาม กลางคืนก็ใช้ไฟฟ้าสปอร์ทไลท์หลายดวงจากเสาไฟฟ้าริมรอบวงเวียนใหญ่ไปต้องพระบรมรูป และจากฐานก็มีดวงไฟฟ้าเช่นเดียวกัน ส่องแสงไปตัดกันทำให้อนุสาวรีย์แห่งนี้สวยสง่างามตามาก

เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว คณะกรรมการจึงได้กำหนดกระทำรัฐพิธีขึ้น โดยเปิดพระราชอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มหาราชนี้ เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2497 และได้อัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินมาทรงกระทำรัฐพิธีเปิดพระบรมรูปอนุสาวรีย์แห่งนี้ พร้อมทั้งจัดให้มีงานมหรสพฉลองสมโภชเป็นเวลา 2 วัน 2 คืน ประชาชนต่างก็พากันไปถวายบังคมพระบรมรูปนี้อย่างคับคั่งทีเดียว

อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช สิ้นค่าใช้จ่ายก่อสร้างเฉพาะพระบรมรูปเป็นเงิน 427,325 บาท 69 สตางค์ ส่วนแท่นฐานนั้น บริษัทสหการก่อสร้างเป็นผู้สร้างสิ้นเงิน 123,900 บาท รวมเงินที่ใช้จ่ายทั้งสิ้น 5,197,882.45 บาท และทางราชการได้ถือเอาวันที่ 28 ธันวาคม ของทุกๆ ปี เป็นวันถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช เหตุที่ถือเอาวันนี้เป็นวันถวายบังคมพระบรมรูปประจำปี ก็เพราะวันนี้เป็นวันที่พระองค์ทรงทำพิธีปราดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติแห่งกรุงธนบุรี (พ.ศ.2310 – 2325) เป็นเวลา 15 ปี

ในปัจจุบันนี้ ทุกๆ วันจะมีราษฎรชาวไทยและชาวจีน ต่างก็พากันหาดอกไม้ธูปเทียน และพวงมลัยไปสักการะกราบไหว้องค์พระอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราชนี้มากเป็นประจำวันทีเดียว เพราะราษฎรไทยจีนเลื่อมใสน้ำพระทัยของพระองค์ท่านมากกว่าสมเป็น “ มหาวีรกษัตริย์ ” ของชาติไทยที่เกรียงไกรจริงๆ

คำกราบบังคมทูล ของ

ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี

เนื่องในการเปิดพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

วันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2497

ขอเดชะ ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสกราบบังคมทูลรายงานการก่อสร้างพระบรมรูป สมเด็จพระเจ้าตากสิน กรุงธนบุรี ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท

อันความดำริที่จัดสร้างพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรีขึ้นนี้ เนื่องด้วยทางสภาผู้แทนราษฎรสมัยหนึ่งและคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่า สมเด็จพระเจ้าตากสิน กรุงธนบุรีเป็นพระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งพระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ ด้วยพระองค์สามารถกอบกู้เอกราชของชาติไทย อันได้สูญเสียไปแก่ข้าศึกในสมัยหนึ่ง ให้กลับคืนสู่อิสรภาพ ดำรงความเป็นเอกราชสืบมาจนถึงปัจจุบันนี้ นอกจากนั้น ยังได้ทรงดำเนินพระบรมราโชบายรวมพระราชอาณาเขตไทยให้เป็นปึกแผ่น และแผ่ไพศาลออกไปอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ก็ด้วยอาศัยเหตุที่พระองค์ทรงเป็นวีรบุรุษแกล้วกล้าสามารถและมีพระปรีชาฉลาดล้ำเลิศ การกอบกู้เอกราชและการรวมพระราชอาณาเขตจึงสัมฤทธิผลได้โดยสมบูรณ์อย่างน่าอัศจรรย์ ยังผลคือความเป็นปึกแผ่นมั่นคงให้แก่ประเทศชาติไทย และเป็นมรดกตกทอดแก่ประชาชนชาวไทยตลอดมาจนถึงกาลปัจจุบันนี้

ทางสภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นเป็นการสมควรโดยแท้ ที่จะเทอดทูนพระเกียรติคุณของสมเด็จพระเจ้าตากสิน กรุงธนบุรี ไว้ให้ปรากฏ โดยสร้างพระบรมรูปของพระองค์ประดิษฐานไว้เป็นอนุสาวรีย์ สำหรับเป็นที่อนุสรณ์สืบไปตลอดกาลนาน เพราะฉะนั้น ทางสภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐมนตรีจึงได้อนุมัติงบประมาณเป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท สำหรับเป็นทุนดำเนินการในขั้นแรก และตั้งคณะกรรมการอำนวยการขึ้นคณะหนึ่ง มีพระยารามราชภักดี ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานกรรมการ ประกอบด้วยอธิบดีกรมโยธาเทศบาล อธิบดีกรมมหาดไทย อธิบดีกรมตำรวจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดธนบุรี นายกเทศมนตรีนครธนบุรี นายเพทาย โชตินุชิต นายไถง สุวรรณทัต พระยามไหสวรรย์ หลวงวิจิตรวาทการ นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ นายจุลินทร์ ล่ำซำ นายตันซิวติ่ง และนายสหัส มหาคุณ เป็นกรรมการ หัวหน้ากองคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นกรรมการและเลขานุการ เพื่อพิจารณา ดำเนินการจัดสร้างพระบรมรูป และขวนขวายหาเงินสมทบทุนให้เพียงพอที่จะใช้จ่ายในการนี้ต่อไป

คณะกรรมการได้ประชุมปรึกษาหารือ และดำเนินการเรื่องนี้มาโดยลำดับ ในที่สุดลงมติว่า ลักษณะพระบรมรูปที่จะสร้างนั้น ให้สร้างเป็นพระบรมรูปทรงเครื่องขัตติยาภรณ์ประทับเหนืออัศวราชพาหนะ พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงดาบ ส่วนสูงวัดจากเท้าม้าทรงขึ้นไปจนสุดยอดพระมาลา รวม 6 เมตร ส่วนยาวตลอดลำตัวม้าทรง 4 เมตร ประดิษฐานบนแท่นคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งมีส่วนสูง 8.95 เมตร กว้าง 1.80 เมตร ยาว 3.90 เมตร ประกอบด้วยลานชาลาคอนกรีต สูงจากระดับพื้นดินโดยรอบ 1.70 เมตร งานที่ทำนั้น องค์พระบรมรูปและม้าทรงได้มอบให้นายศิลป์ พีระศรี นายช่างปฏิมากรแห่งกรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบและอำนวยการปั้นหล่อ ส่วนแท่นฐานพระบรมรูปมอบให้พันเอก หลวงบุรกรรมโกวิท อธิบดีกรมโยธาเทศบาลเป็นผู้ออกแบบ และคณะกรรมการได้เรียกประกวดราคารับเหมา ผลการเรียกประกวดราคา ปรากฏว่าบริษัทสหการก่อสร้าง จำกัด เสนอราคาค่าจ้างเหมาเป็นเงิน 123,900 บาท ซึ่งต่ำกว่ารายอื่น คณะกรรมการจึงตกลงให้บริษัทนี้เป็นผู้ทำการก่อสร้างในความควบคุมของกรมโยธาเทศบาล

การปั้นหล่อพระบรมรูปและการก่อสร้างฐานลานพระบรมรูป ได้สำเร็จเรียบร้อยบริบูรณ์แล้ว สิ้นค่าใช้จ่ายในการนี้เป็นจำนวนเงิน 5,197,882.45 บาท ...ฯลฯ

บัดนี้ องค์พระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้าตากสิน กรุงธนบุรี ได้ประดิษฐานไว้เป็นอันดีแล้ว และขณะนี้ก็เป็นมหามงคลอุดมฤกษ์ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงขอพระราชทานอัญเชิญเสด็จใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงชักผ้าคลุมพระบรมรูปให้เปิดออก เพื่อพระบรมรูปนี้จักได้สถิตสถาพรเป็นเครื่องเตือนใจประชานิกร ให้รำลึกถึงพระเกียรติคุณของสมเด็จพระเจ้าตากสิน กรุงธนบุรี บังเกิดศรีสวัสดิมงคลสืบไปเป็นนิรันดร

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ

(สมพงษ์ เกรียงไกรเพชร, 2518 : 389-403 และกิตติ ศิริรัตนไชยยงค์, 2514 : 3-56)


ภาพปั้นพระเศียรของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
โดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
(ภาพจากหนังสือชีวิตและงานของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี)

รายละเอียดเกร็ดความเป็นมาในของการปั้นอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินของศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ตามที่กรมศิลปากรได้มอบหมายให้ดำเนินการในปี พ.ศ.2493 ดังที่วณิช จรุงกิจอนันต์ (2545 : 102-104) กล่าวไว้ในเรื่อง “เอารูปหน้า “ ครูวี ” : ปั้นอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินที่วงเวียนใหญ่” ดังนี้


ทวี นันทขว้าง
(ภาพจากวารสารศิลปวัฒนธรรม)

“ ... เมื่อทางราชการให้ท่าน (อาจารย์ศิลป์) ปั้นอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินที่วงเวียนใหญ่นั้น ไม่มีความคิดเห็นว่าหน้าตาของสมเด็จพระเจ้าตากสินเป็นอย่างไร “ครูวี” ของพวกผม หรืออาจารย์ทวี นันทขว้าง ท่านเล่าว่าอย่างนี้ “ ตอนนั้นผมสอนอยู่โรงเรียนเพาะช่าง มีคนเขามาบอกผมว่าอาจารย์ศิลป์อยากให้ไปเป็นแบบปั้น พอไปหา ท่านก็พูดว่า “ฉันจะปั้นพระเจ้าตากสิน”

คือที่ประชุมกรรมการเขาถกเถียงกัน พยายามค้นคว้าหาหน้าตาพระเจ้าตากสินมาให้อาจารย์ปั้น แต่ก็หาไม่ได้ มีแต่รูปที่สเก๊ตซ์ๆ บอกว่ามีลักษณะเป็นจีนๆ เท่านั้น ตกลงก็เอาแน่ไม่ได้ว่าหน้าตาท่านเป็นอย่างไร ก็ให้อาจารย์ศิลป์อิมเมยีน ( imagine ) เอง อาจารย์ศิลป์ก็อิมเมยีนว่าพระเจ้าตากสินหน้าตาควรจะมีลักษณะคนไทยผสมจีน

“ ฉันนึกดูแล้วว่าหน้าตาพระเจ้าตากสินจะต้องเหมือนนายกับนายจำรัสบวกกัน ฉันว่าอย่างนั้น นายต้องมาเป็นแบบให้ฉัน” ผมก็เลยต้องไปเป็นแบบให้อาจารย์ท่าน ไปยืนทำท่าเบ่งยืดอกเป็นพระเจ้าตากอยู่ 3-4 วันให้อาจารย์ท่านปั้นพร้อมๆ กับอาจารย์จำรัส เกียรติก้อง”

ผมรู้ตำนานเรื่องนี้ตอนเข้าไปเรียนที่คณะจิตรกรรมฯ สมัยนั้นโรงหล่อของกรมศิลปากรยังรกเรื้อไปด้วยรูปหล่อโบร่ำโบราณอยู่ มีเศียรพระเจ้าตากตั้งอยู่ด้วย... ”

“ ...ส่วนม้าที่ท่าน (อาจารย์ศิลป์) ต้องการมาเป็นแบบ ทางราชการเขาให้ท่านไปดูม้า ซึ่งเป็นม้าอาหรับสมัยนั้นราคาหนึ่งแสนบาท ท่านว่าไม่มีราคาสำหรับเรา คือท่านกับลูกศิษย์เลย เพราะเราต้องการดูม้าไทย หรือม้าพื้นเมือง ซึ่งในที่สุดท่านก็ได้ม้าไทยหรือม้าพื้นเมืองมาเป็นแบบ... ” และ “ ...การที่อาจารย์ศิลป์ พีระศรีต้องหาคน หรือม้ามาเป็นแบบ มิใช่ต้องการปั้นคนหรือม้าตัวนั้น แต่ต้องการตรวจสอบรูปปั้น ( structure) การเชื่อมต่อของหน้า-ลำคอ และลำตัว ..”

สนั่น ศิลากรณ์ (2529 : 36-37) กล่าวถึงการสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชว่า “ผมจำได้ว่าในงานรัฐธรรมนูญสมัยนั้น มีการออกแบบรูป อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน ที่วงเวียนใหญ่และจะนำแบบออกแสดงที่ร้านของกรมศิลปากรในงานนี้ด้วย เพื่อเรี่ยไรเงินสมทบทุนก่อสร้าง อาจารย์ออกแบบตัวรูปปั้นและฐานไม่น้อยกว่า 5 แบบ ในลักษณะต่างๆ กัน เพื่อให้ประชาชนเลือกโดยบริจาคเป็นเงินที่หน้าแผ่นในรูปนั้นๆ ในตู้บริจาค เป็นการให้คะแนนไปในตัว รูปเหล่านี้ลงสีสวบงามมีขนาดประมาณ .75 x .50 ซม .

อนุสาวรีย์สมเด็จพระจ้าตากสินมหาราชที่วงเวียนใหญ่ที่เห็นกันอยู่ขณะนี้นั้น เป็นแบบหนึ่งในจำนวนเหล่านั้น ขั้นตอนการทำงานของท่านคือ สเก็ตซ์รูปปั้นพระเจ้าตากทรงม้าด้วยขนาด 3 ใน 4 ของคนจริงและม้าจริงก่อน ปั้นให้มีทุกสิ่งทุกอย่าง เช่น ท่าทาง เครื่องทรง อารมณ์ และความหมายของเรื่อง งานในช่วงนี้ท่านต้องค้นตามประวัติศาสตร์ เป็นงานหนักทางสมองมาก เช่น ม้าทรงเป็นม้าพันธุ์ไทย ท่านต้องการให้กรมศิลปากรทำหนังสือถึงกรมสัตวแพทย์ทหารบก (ถ้าผมจำไม่ผิด) ตั้งอยู่ที่ข้างๆ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ผมจำสถานที่ได้ เพราะท่านเอาผมไปด้วยเพื่อแปลไทยเป็นไทยเวลาพูดกัน ท่านเดินสะดุดรากต้นก้ามปูล้มลงภายในบริเวณนั้น เพราะสายตาท่านสั้นและยังไม่ได้รับการผ่าตัดต้อ ผมรีบเข้าประคอง แต่ท่านปัดมือผมออกไป บอกว่า “ ไม่เป็นไรๆ” แล้วรีบลุกขึ้นยืนอย่างปกติ

ม้าที่ไปดูนั้น เป็นม้าพันธุ์อาหรับอย่างดี ที่ทางการสั่งเข้ามาเพื่อเป็นพ่อพันธุ์ เจ้าหน้าที่จูงออกมาที่ประตูคอกอย่างทะนุถนอม โผล่ให้เห็นแค่ช่วงคอเท่านั้น บอกว่าเพิ่งเข้ามาใหม่ๆ ยังตื่นที่อยู่ ราคาตัวนี้ 1 แสนบาท (ในเวลานั้น) ตอนขากลับท่านกระซิบกับผมว่า “ ราคาสูงสำหรับทำพันธุ์ สำหรับเราไม่มีราคาเลย เพราะเราต้องการม้าพันธุ์ไทยเป็นแบบ ในที่สุดขอดูม้าเป็นแบบปั้นได้ที่กรมทหารม้ารักษาพระองค์ บางซื่อ มีม้าไทยหลายตัวที่อาจารย์พอใจ ทางกรมทหารม้านี้ให้ยืมม้าพร้อมทั้งพลประจำมาอยู่ที่โรงหล่อของกรมหลายวัน เพื่อให้นำมาสเก็ตซ์ส่วนสัด และส่วนรายละเอียดของกระดูกกล้ามเนื้อ เสร็จแล้วจึงส่งคืน …”

รายละเอียดเกี่ยวกับม้าที่ใช้นำมาเป็นแบบ พลตรีพนัส เกตุมั่นกิจ นายทหารนอกราชการซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการปั้นพระบรมรูปของพระเจ้าตากสินมหาราชด้วยผู้หนึ่ง ได้เล่าว่า “....ท่านเคยสอนอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นทหารและเป็นแพทย์ฝ่ายตรวจสอบม้าที่ใช้สารยากระตุ้น ทั้งสนามราชตฤณมัยสมาคม และสนามโรแยล บางกอก สปอร์ตคลับ หรือสนามฝรั่งปทุมวัน ขณะนั้นพลตรีพนัส สังกัดอยู่กองพันทหารม้า บางกระบือ “ พ.ต.กฤษณ์ ปุณกัณต์ ” (ยศขณะนั้น) เป็นผู้บังคับกองพัน พลตรีพนัสท่านก็เป็นหมอม้า ตำแหน่ง ผบ.หมวดสัตวรักษ์

กองพันทหารม้าแห่งนี้มีหน้าที่แห่กองเกียรติยศในงานพระราชพิธีต่างๆ และครั้งนั้นก็เป็นผู้ที่จัดม้าไปให้ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ปั้น ... นายทหารยศนายสิบผู้หนึ่งเป็นผู้ที่นำม้าจากกองทัพจูงไปถึงกรมศิลปากร ไปพบอาจารย์ที่นั่น ม้าตัวนี้ชื่อ “มังกรไฟ” ซึ่งจะใช้เป็นหุ่นปั้นสำหรับม้าทรงของพระเจ้าตากสินมหาราช นายสิบผู้นี้จะจูงม้าจากบางกระบือไปกรมศิลป์ทุกวัน ไปเช้าเย็นกลับ แต่ละวันพลตรีพนัสก็จะสอบถามว่า อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ให้ทำอะไรมั่ง ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่า ไปถึงท่านก็ขอให้ขึ้นนั่งม้าให้ดู ทำอยู่เช่นนั้นตั้งหลายวัน แล้วก็จะให้เงินวันละ 20 บาท ซึ่งในสมัยนั้นถือว่าเป็นเบี้ยเลี้ยงที่สูงมาก

“มังกรไฟ” เป็นม้าจากคอกสโมสร ม.พัน 1 ร.อ. เป็นม้าจากประเทศออสเตรเลีย ดุร้ายมาก จึงได้ชื่อนี้ ทำให้อาจารย์ศิลป์ไม่ชอบใจ จึงให้หาม้าตัวใหม่เอาม้าไทยแท้ๆ ซึ่งตอนนั้นม้าเทศก็ยังไม่เข้ามาในเมืองไทยด้วย การหาม้าไทยแท้ๆ ตัวนี้กว่าจะได้นานเป็นเดือน แล้วก็ไปได้ของนายทหารยศพันโทผู้หนึ่ง เป็นม้าที่มีถิ่นกำเนิดจากจังหวัดราชบุรี เป็นม้าไทยแท้สีเขียวอ่อน (ภาษาม้า) แต่ความจริงคือ สีน้ำตาลแกมเทาคล้ายๆ สีของหนู... มองเป็นสีเทาตลอดทั้งตัว ...

หลังจากที่ปั้นเสร็จ ก็มีคนติว่า “ ทำไมม้าของนักรบ จึงไม่ยกขาหน้าในท่าเผ่นผยอง มันต้องทำให้ดูคึกคักและเข้มแข็งกว่านี้ ” หลายคนที่ติจึงขอให้อาจารย์ปั้นใหม่ หรือแก้ตัวม้าให้อยู่ในท่าเผ่นผยอง แต่อาจารย์สั่นหัว ร้องโนๆ บอกว่าแก้ไม่ได้แล้ว และไม่จำเป็นต้องแก้ ต้องเข้าใจว่าม้าศึกที่ยืนในท่าตรงอย่างเคร่งครัด แสดงว่าผู้ที่ขี่หลังกำลัง “สั่งการ” ลักษณะของม้าตัวนี้จึงถูกต้องแล้ว แสดงว่าในขณะนั้นพระเจ้าตากสินกำลังบัญชาการรบ

สำหรับม้าที่เผ่นผยอง ควรจะเป็นม้าของแม่ทัพนายกองหรือทหารเอกมากกว่า คนที่ติเมื่อได้รับฟังการชี้แจงที่มีเหตุผลเช่นนี้ก็ยอมจำนน เพราะมันเป็นเรื่องจริงที่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง แต่ก็ยังติซ้ำมาอีกว่า “ทำไมม้าศึกถึงตัวเล็กนักดูแล้วไม่เหมาะกับคนทรง ซึ่งเป็นถึงพระมหากษัตริย์เลย ”

อาจารย์ก็แย้งว่า ถ้าให้ปั้นม้าตัวใหญ่ๆ ก็ต้องเป็นม้าเทศ แต่ในสมัยนั้นพระเจ้าตากสินฯ จึงต้องทรงม้าไทยด้วย จะให้ปั้นม้าตัวใหญ่ๆ จึงเป็นไปไม่ได้และทำไม่ได้ (ม้าทรงสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช, 2547 : 33)

วนิช จรุงกิจอนันต์ (2545 : 142-144 ) ได้กล่าวถึง คำติเรื่องม้าที่อาจารย์ศิลป์ปั้นในเรื่อง “ม้าพระเจ้าตากหางชี้อยู่ที่วงเวียนใหญ่” ว่า


อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
(ภาพจากหนังสือชีวิตและงานของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี)

“ ...เรื่องม้าพระเจ้าตากที่ว่าม้าหางชี้ จะขี้ใช่ไหมนี้ แม้จะเกิดขึ้นนานแล้ว ก่อนที่ผมจะเข้ามาเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ แต่ผมก็ได้รู้เมื่อแรกเข้ามาเรียนที่โรงเรียนช่างศิลป์ มีอาจารย์ชื่ออาจารย์อำไพ สุวรรณอักษร ตอนนั้นท่านสอนประวัติศาสตร์ศิลป์ อาจารย์อำไพท่านเล่าให้ฟัง ท่านเล่าให้ฟังในระหว่างที่สอน และยังเล่าเรื่องอนุสาวรีย์อื่นๆ อีกหลายแห่ง ...

หางม้าของอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินนั้น อาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุข ท่านเขียนเล่าไว้ บอกว่าถ้าจำไม่ผิด อาจารย์สิทธิเดช แสงหิรัญ เป็นผู้ปั้น และหล่อมาติดภายหลัง ขนาดก็ไม่ใช่เล็กๆ อนุสาวรีย์ก็ติดตั้งเรียบร้อยแล้ว พระราชพิธิเปิดก็ผ่านไปแล้ว จะขึ้นไปตัดหางม้าแล้วนำไปเชื่อมติดใหม่เพื่อให้หางม้าลดลงก็ไม่ใช่เรื่อง ก็เป็นทุกข์กันไปทั่ว ทั้งอาจารย์ศิลป์และลูกศิษย์ เนื่องจากบันทึกจากราชการระดับสูงเห็นควรให้แก้ไข

อาจารย์สวัสดิ์เขียนเล่าไว้ในตอนนี้ว่า “ท่านอาจารย์ได้ทำบันทึกชี้แจงโดยนำเอาแบบอนุสาวรีย์ที่สำคัญที่มีในต่างประเทศหลายแห่ง มีหางม้าชี้สูงกว่าของเจ้าตากเสียอีก ก็ไม่เห็นมีใครว่า ทั้งได้จัดแบบอนุสาวรีย์ต่างๆ ไม่น้อยกว่า 5 แห่ง ถ่ายจากหนังสือประกอบชี้แจงไปด้วย โดยให้ความเห็นในด้านศิลปะไปว่า ความงามของอนุสาวรีย์อยู่ในลักษณะเส้นสำคัญของตัวม้า พระเจ้าตาก รวมทั้งหางม้าด้วย ซึ่งเป็นส่วนประกอบให้ความรู้สึกที่จะพุ่งไปข้างหน้า ในฐานะผู้นำนักรบ ”

แม้จะชี้แจงไปแล้ว เขาก็ยังยืนจะให้แก้ให้หางม้าต่ำลงมา อาจารย์สวัสดิ์เขียนเล่าต่อว่า “ ...ท่านอาจารย์ไปคิดดูอีกหลายวัน ในที่สุดก็เรียกลูกศิษย์หลายคน มีผมเป็นคนหนึ่งด้วย ช่วยร่างคำตอบเสนอไปอีกครั้ง สรุปว่าความเห็นของผู้เชี่ยวชาญสัตว์ที่แจ้งมานั้นถูกต้อง เข้าใจอิริยาบถของสัตว์อย่างดีที่สุด ม้าขี้จะต้องยกหางให้สูงขึ้นแน่นอนในยามปรกติ แต่ม้าพระเจ้าตากสินที่ท่านปั้นขยายขึ้นนี้ หาได้อยู่ในอิริยาบถตามปรกติไม่ ทั้งองค์พระเจ้าตากและม้าอยู่ในสภาวะที่จะออกศึก ไม่เป็นไปตามธรรมชาติปรกติ เพื่อให้เห็นความงามของพระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้โดยสมบูรณ์ว่าทรงเป็นนักรบที่กอบกู้อิสรภาพ และพร้อมแล้วจะเป็นผู้นำพระองค์แรกในการออกศึก ทั้งม้าของท่านก็พร้อมจะออกศึกด้วยอย่างเห็นได้ชัดจากอากัปกิริยา หู หางม้า จึงจำเป็นต้องอยู่ในลักษณะนั้น ”

การชี้แจงหนที่สองนี้ทางผู้เชี่ยวชาญสัตว์และราชการระดับสูงเข้าใจ ยอมรับ ก็เป็นอันว่าไม่ต้องตัดหางม้าเพื่อเชื่อมติดใหม่โดยหาวิธีทำให้ชี้ต่ำลง ...

ผมยังจำได้ว่าเมื่ออาจารย์อำไพ สุวรรณอักษร เล่าเรื่องนี้ให้พวกผมฟังสมัยเรียนช่างศิลป์หนึ่งนั้น นอกจากเรื่องที่ว่าม้าพระเจ้าตากนี้ไม่ใช่ม้าธรรมดาในเวลาปกติ เป็นม้าที่กำลังตื่นตัวเต็มที่เพื่อจะออกศึก อาจารย์อำไพท่านอธิบายอะไรอีกมากตอนนั้น ในส่วนหางม้าท่านบอกว่ามันชี้ออกไปอย่างนั้นเพื่อให้เกิดความสมดุลรับกับพระแสงดาบที่ชูขึ้น หรืออะไรทำนองนี้

ผมฟังแล้วไม่ได้เข้าใจอะไรในตอนนั้นหรอกครับ เข้ากรุงเทพฯ ใหม่ๆ ผมอยู่ฝั่งธนฯ ผ่านอนุสาวรีย์พระเจ้าตากบ่อยๆ ผมก็ไม่เห็นว่าหางม้าจะชี้ผิดปรกติอะไรยังไง ผมยังคิดว่าก็ลมมันอาจจะแรงจริงๆ นะครับ ผมว่าถ้าตอนนั้นลมกระโชกมาแรง หางม้าก็พลิ้วชี้ไปในลักษณะนั้นได้ ไม่แปลกอะไรเลย หางม้าที่ชี้นั้นเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าม้านั้นกำลังจะทะยานไปข้างหน้า เรื่องนี้ซับซ้อนในเรื่องเกี่ยวกับศาสตร์ทางศิลปะซึ่งน่าจะยากเกินกว่าที่ผู้เชี่ยวชาญสัตว์จะเข้าใจได้...

ม้าพระเจ้าตากนั้น ผมดูจากรูปใน “ศิลปวัฒนธรรม” เมื่อเล่มที่แล้ว ก็เห็นว่าไม่ใช่หน้าม้าตามที่เห็นปรกติ เป็นหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญสัตว์อาจจะทักด้วยก็ได้ ว่าทำไมม้าต้องอ้าปาก และตาม้าก็ถลึงโปนเชียว ดูไม่เป็นม้าจริงๆ

เกี่ยวกับเรื่องม้าพระเจ้าตากที่เป็นประเด็นถกเถียงอยู่พักหนึ่งนี้ คนที่สรุปได้ดีก็คืออาจารย์ศิลป์ ลูกศิษย์คนหนึ่งของท่านชื่อ สุกิจ ลายเดช เขียนเล่าไว้

“เมื่อเราอยู่ปีที่ 2 แล้วและเข้าใจภาษาของท่านได้พอสมควรทีเดียว ขณะนั้นอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินได้หล่อเสร็จแล้ว ติดตั้งเรียบร้อยแล้ว ท่านถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องม้ายืนเฉยๆ ทำไมหางถึงได้ชี้ ท่านกล่าวกับพวกเราว่า “พวกเขาไม่รู้จักเข้าใจปลากัด...ไม่รู้จักไก่ชนน่ะนาย ... ”