ระบบศาล ในสมัยกรุงธนบุรีคงเป็นเช่นเดียวกับในสมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะพระเจ้าตากสินมหาราช (พระเจ้ากรุงธนบุรี) ทรงครองราชย์ในระยะเวลาอันสั้น และเป็นช่วงสมัยทำศึกสงครามกับพม่าตลอดเวลา จึงมิได้ปรับปรุงด้านการศาล

ระบบศาลในสมัยอยุธยา

สังคมในสมัยกรุงศรีอยุธยามีสภาพซับซ้อนกว่าสมัยกรุงสุโขทัย จึงจำเป็นที่จะต้องมีระบบการศาลที่ละเอียดพิสดารมากขึ้น พระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) พระมหากษัตริย์พระองค์แรกของกรุงศรีอยุธยา จึงได้ให้พราหมณ์ปุโรหิตที่เชี่ยวชาญในการปกครองบ้านเมือง และวางแบบแผนพระราชประเพณีเป็นผู้ตราตัวบทกฎหมายต่างๆ เพื่อวางแนวทางในการอำนวยความยุติธรรมในสังคม พราหมณ์ปุโรหิต จึงได้นำพระธรรมศาสตร์มาเป็นต้นแบบในตัวบทกฎหมายที่ตราขึ้น กฎหมายเหล่านี้ยังมีปรากฏในกฎหมายตราสามดวง เช่น พระไอยการลักษณะพยาน พระไอยการลักษณะรับฟ้อง พระไอยการลักษณะพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิง พระไอยการลักษณะตระลาการ เป็นต้น

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวถึงการศาลสมัยกรุงศรีอยุธยาไว้ตอนหนึ่งว่า

“ วิธีการพิจารณาและพิพากษาคดีในประเทศสยามตามแบบครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ยังใช้ต่อมาในกรุงรัตนโกสินทร์ จนกระทั่งตั้งกระทรวงยุติธรรมในรัชกาลที่ 5 เป็นวิธีแปลกที่เอาแบบอินเดียมาประสมกับแบบไทย ด้วยความฉลาดอันพึงเห็นได้ในเรื่องนี้อีกอย่างหนึ่งจึงเป็นประเพณีที่ไม่มีเหมือนในประเทศอื่น คือใช้บุคคล 2 จำพวก เป็นพนักงานตุลาการ จำพวกหนึ่งเป็นพราหมณ์ชาวต่างประเทศ ซึ่งเชี่ยวชาญทางนิติศาสตร์ เรียกว่า ลูกขุน ณ ศาลหลวง มี 12 คน หัวหน้าเป็นพระมหาราชครูปุโรหิตคน 1 พระมหาราชครูมหิธรคน 1 ถือศักดินาเท่าเจ้าพระยา หน้าที่ของลูกขุน ณ ศาลหลวงสำหรับชี้บทกฎหมาย แต่จะบังคับบัญชาอย่างใดไม่ได้ อำนาจการบังคับบัญชาทุกอย่างอยู่กับเจ้าพนักงานที่เป็นไทย.... ”

การพิจารณาและพิพากษาคดีในสมัยกรุงศรีอยุธยา แบ่งเป็นหลายหน้าที่ให้หลายหน่วยงานทำงานร่วมกัน เริ่มจากกรมรับฟ้อง ลูกขุน ตระลาการ ผู้ปรับ กล่าวคือ กรมรับฟ้อง เป็นกรมต่างหาก มีหน้าที่รับฟ้องจากผู้เดือดร้อนทางอรรถคดี กรมรับฟ้องนำฟ้องเสนอลูกขุนที่เป็นกรมต่างหาก เมื่อลูกขุนตรวจฟ้องแล้ว กรมรับฟ้องก็จะส่งฟ้องไปยังศาลต่างๆ ที่แยกย้ายกันสังกัดกระทรวงกรมต่างๆ ศาลใดศาลหนึ่งแล้วแต่คดีความนั้นจะอยู่ในอำนาจศาลใด เช่น ศาลกรมวัง ศาลกรมนา เป็นต้น แต่ละศาลจะมีตระลาการที่จะพิจารณาไต่สวนอรรถคดีเป็นของตนเอง โดยมีลูกขุนและผู้ปรับซึ่งอยู่ในกรมอื่นต่างหาก ทำหน้าที่ชี้ขาดและปรับสินไหมพินัยร่วมกันอยู่

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงกล่าวถึงลูกขุนและผู้ปรับไว้ในหนังสือเรื่อง พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน มีใจความว่า

“กรมลูกขุนนั้นเป็นกรมใหญ่ ได้บังคับความทั้งแผ่นดิน แต่จะค้นหาข้อความเบื้องต้น ทีแรกตั้งขึ้นโดยประสงค์อย่างไรให้ชัดเจน ก็ไม่ได้ความชัด คำซึ่งเรียกว่าลูกขุน ณ ศาลหลวง ซึ่งปรากฏใช้อยู่ในบัดนี้ก็ไม่ใคร่จะได้พบเห็นในกฎหมายเก่าๆ ซึ่งร้อยกรองเป็นมาตราหมวดใหญ่ๆ มาปรากฏชื่อนี้ต่อในกฎหมายชั้นกลางๆ ลงมา แต่เมื่อพิเคราะห์ดูในเหตุการณ์ทั้งปวง ตั้งต้นแต่กฎหมายมนูสารสาตร ซึ่งเป็นต้นเค้าของกฎหมายที่ใช้อยู่ในกรุงสยามนี้ เป็นกฎหมายมาแต่เมืองอินเดีย เอามาใช้เป็นแม่ข้อที่พระเจ้าแผ่นดินจะได้ตั้งพระราชบัญญัติกฎหมายเปลี่ยนแปลงให้สมกับภูมิประเทศ บ้านเมือง เมื่อได้ความชัดว่ามนูสารสาตรนี้มาแต่ประเทศอินเดีย กับทั้งประเพณีอื่นๆ มีการบรมราชาภิเศกเป็นต้น ก็เป็นแบบอย่างข้างประเทศอินเดีย มีพระราชพิธีเนื่องด้วยพราหมณ์เจือปนไปทั้งสิ้น จึ่งเห็นได้ว่า เมื่อกฎหมายนี้ได้เข้ามาถึงกรุงสยาม คงจะมีพราหมณ์ผู้ที่ชำนาญในการที่จะปกครองบ้านเมือง และที่จะจัดการวางแบบแผนราชประเพณี ของพระเจ้าแผ่นดินคนหนึ่งหรือหลายคนได้เข้ามาเป็นผู้ช่วยจัดการวางแบบแผนทั้งปวงแต่เดิมมา ถ้าจะพูดอย่างเช่นพะม่าชักเชื้อแถวราชตระกูลให้ติดต่อกับองค์สักยราช ก็จะกล่าวได้ว่า คงจะมีพระเจ้าแผ่นดินในวงศ์สักยราชพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งต้องออกจากประเทศอินเดีย มาพร้อมด้วยปุโรหิตผู้ใหญ่แลขุนนางไพร่พลทั้งปวง แล้วมาตั้งอยู่ในประเทศสยาม พระเจ้าแผ่นดินจึ่งโปรดให้ปุโรหิตผู้นั้นจัดการวางแบบอย่างการที่จะปกครองรักษาพระนครใหม่ให้เรียบร้อย สมควรแก่ที่จะเป็นพระนครใหญ่สืบไป ปุโรหิตนั้นจึ่งได้ยกมนูสารสาตรนี้มาตั้งเป็นหลัก ที่จะได้บัญญัติพระราชกำหนดกฎหมายสืบไป แลจัดธรรมเนียมอื่นๆ ตามแบบอย่างพระนคร ข้างฝ่ายอินเดียแต่โบราณนั้นทั่วไปปุโรหิตผู้นั้น คงจะเป็นผู้ที่มีความรู้ชำนิชำนาญในมนูสารสาตรของเดิม แลพระราชกำหนดกฎหมายซึ่งได้บัญญัติขึ้นใหม่ เพราะเป็นผู้ต้นตำราแลเป็นผู้ได้เรียบเรียงตั้งแต่งขึ้น ทั้งที่เป็นพราหมณ์ประพฤติตั้งอยู่ในความสุจริต จึ่งเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระเจ้าแผ่นดิน และเป็นที่นับถือเชื่อฟังของข้าราชการและราษฎรทั้งปวง พระเจ้าแผ่นดินจึ่งมอบการที่บังคับบัญชาความสิทธิ์ขาดนี้ ให้แก่ปุโรหิตผู้นั้นเป็นผู้บังคับตัดสินถ้อยความทั้งปวงเด็ดขาดทั่วไปทั้งพระนคร และปุโรหิตเช่นนี้จะมีมาแต่ผู้เดียวหรือหลายคนก็ดี ก็คงจะต้องมีผู้ช่วยเป็นที่ปรึกษาหารือหลายคน จึ่งจะพอที่จะทำการในตำแหน่งของตัวตลอดไปได้ จึ่งได้มีตำแหน่งพระมหาราชครู พระราชครูแลปลัด แต่ถึงดั่งนั้นก็คงยังไม่พอจึ่งได้ต้องตั้งเพิ่มขึ้นอีกสำรับหนึ่ง เพราะฉะนั้นลูกขุนจึ่งได้เป็นสอง

สำรับอยู่จนบัดนี้ชื่อของลูกขุนปรากฏเป็นชื่อพราหม์อยู่โดยมาก และพราหมณ์ซึ่งยังมีตระกูลอยู่ในกรุงบัดนี้ก็ยังได้รับตำแหน่งในลูกขุน หรืออยู่ในตำแหน่งพราหมณ์แต่ไปเข้าที่ปรึกษาเป็นลูกขุนฯลฯ ตัวลูกขุนทั้งปวงเป็นแต่ผู้พิพากษาความชี้ผิดชี้ชอบอย่างเดียว หาได้เป็นผู้พิจารณาความอันใดไม่ ต้องมีตระลาการที่จะพิจารณาความนั้นตลอดแล้วไปขอคำตัดสินอีกชั้นหนึ่ง แต่ตระลาการทั้งปวงเหล่านั้นแต่เดิมจะอยู่ในบังคับลูกขุนทั้งสิ้นหรือจะจ่ายไปไว้ตามกรมต่างๆ ดั่งเช่นเป็นอยู่ในทุกวันนี้ก็ไม่มีอันใดจะยืนยันเป็นแน่ได้ ถ้าจะคิดประมาณดูว่า กรมแพ่งกลางกรมหนึ่ง แพ่งเกษมกรมหนึ่ง สองกรมนี้ยังคงอยู่ในกรมลูกขุน ถึงว่าในบัดนี้จะไม่ได้อยู่ในบังคับพระมหาราชครูผู้เป็นใหญ่ในกรมลูกขุนอย่างหนึ่งอย่างใด สังกัดหมายหมู่ตัวเลขอยู่ในกรมเหล่านั้น ก็ยังขึ้นอยู่ในกรมลูกขุนเจ้ากรมและขุนศาลตระลาการก็รับเบี้ยหวัดอยู่ในกรมลูกขุน หน้าที่ของแพ่งกลางและแพ่งเกษมทั้งสองกรมนี้ ก็มีศาลที่จะพิจารณาความเป็นกระทรวงอันหนึ่ง ซึ่งเป็นตำแหน่งเดิม แต่ไปมีการอีกแผนกหนึ่ง ซึ่งต้องเป็นผู้วางบทในคำลูกขุนปฤกษา หน้าที่ทั้ง 2 คือเป็นผู้พิจารณาความอย่างหนึ่ง เป็นผู้วางบทอย่างหนึ่งนี้ ถ้าคิดตามความเห็นในเชิงกฎหมายอย่างไทยแล้วก็เป็นหน้าที่อันไม่ควรจะร่วมกัน แต่การที่เจ้ากรมแพ่งกลางแพ่งเกษม 2 คนนี้ ไปมีหน้าที่วางบทลงโทษขึ้นด้วยนั้น ควรจะเห็นได้ว่าแต่เดิมมาลูกขุนคงจะปฤกษาชี้ขาดและวางบทลงโทษตลอดไปในชั้นเดียว แต่ล่วงมา จะเป็นด้วยผู้ซึ่งเป็นปุโรหิตใหญ่ ซึ่งมีความรู้และสติปัญญาความทรงจำมากนั้นล้มตายไป ผู้ซึ่งรับแทนที่ใหม่ไม่แคล่วคล่องในกฎหมายซึ่งตั้งขึ้นไว้ หรือไม่มีสติปัญญาสามารถพอที่จะทำการให้ตลอดไปได้แต่ในชั้นเดียวนั้นอย่างหนึ่ง และเพราะเหตุที่พระเจ้าแผ่นดินตั้งพระราชบัญญัติเพิ่มเติมขึ้นตามกาลสมัยมากขึ้นเหลือที่จะทรงจำไว้ได้ ลูกขุนซึ่งพิพากษานั้นวางโทษผิดๆ ถูกๆ หรือไม่ทันเวลา พระเจ้าแผ่นดินจึ่งได้โปรดให้เจ้ากรมแพ่งกลางแพ่งเกษม 2 คนนี้เป็นพนักงานที่จะพลิกกฎหมาย เพราะฉะนั้นลูกขุนจึ่งเป็นแต่ผู้พิพากษาชี้ผิดชี้ชอบ แต่การที่จะตัดสินโทษอย่างไรนั้น ตกเป็นเจ้าพนักงานของกรมศาลแพ่งทั้ง 2 จึ่งได้ปรากฏชื่อว่าเป็นผู้ปรับ เพราะเป็นผู้พลิกผู้เปิดสมุดกฎหมายดั่งนี้ ถ้าคิดจะเอาศาลแพ่งกลาง แพ่งเกษมทั้ง 2 ศาลนี้เป็นตัวอย่างว่า หรือแต่ในชั้นต้นแรกตั้งพระนครที่กล่าวมานั้น ตระลาการซึ่งมีอยู่ในศาลอื่นๆ ทุกวันนี้จะรวมอยู่ในลูกขุน กรมลูกขุนเป็นกรมยุติธรรมสำหรับพระนครก็ดูเหมือนจะพอว่าได้ แต่ภายหลังมา อำนาจลูกขุนไม่พอที่จะบังคับรักษาให้ศาลทั้งปวงอันอยู่ในใต้บังคับ พิจารณาความให้ตลอดทั่วถึงไปได้ ด้วยเหตุขัดข้องต่างๆ ครั้นเมื่อจัดการในตำแหน่งขุนนาง เอาฝ่ายพลเรือนเป็นสมุหนายก ฝ่ายทหารเป็นสมุพระกลาโหม และตั้งตำแหน่งจตุสดมภ์แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ จึ่งได้แยกศาลจากกรมลูกขุนออกไปแจกให้กรมต่างๆ คงไว้แต่ศาลแพ่งกลางแพ่งเกษมให้อยู่ในกรมลูกขุน 2 ศาล เพราะ 2 ศาลนี้ เป็นแต่ว่า ความแพ่งซึ่งเป็นความอ่อนๆ อันลูกขุนจะพอมีอำนาจบังคับบัญชาตลอดได้ ความอื่นๆ ที่เป็นความสำคัญแข็งแรง และเป็นความที่ประสงค์จะอุดหนุนราษฎรให้ความแล้วโดยเร็วขึ้นกว่าความสามัญ จึ่งได้ยกไปแจกไว้ในกรมต่างๆ

เพื่อจะให้เสนาบดีและอธิบดีกระทรวงนั้นๆ ช่วยบังคับบัญชาว่ากล่าวเร่งรัดโดยอำนาจไม่ให้มีที่ติดขัดข้อง และไม่ให้ขุนศาลตระลาการทอดทิ้งความไว้ให้เนิ่นช้า แต่ความทั้งปวงนั้นตั้งต้นแต่ฟ้องไปก็ยังคงให้ลูกขุนเป็นผู้สั่งฟ้อง ถ้าขัดข้องด้วยคู่ความจะมีถ้อยคำประการใด ก็ยังต้องมาหารือลูกขุน ที่สุดจนถึงพิพากษาชี้ขาดก็ยังต้องให้ลูกขุนเป็นผู้พิพากษาชี้ขาด ท่านเสนาบดีและอธิบดีที่ได้เป็นเจ้าของศาลนั้นๆ ไม่มีอำนาจที่จะตัดสินความในศาลใต้บังคับของตัวเด็ดขาดอันใดได้ เป็นแต่ผู้ที่จะช่วยให้ความนั้นได้ว่ากล่าวแก่กัน อย่าให้มีที่ขัดข้องที่จะเกิดขึ้นด้วยคู่ความและตระลาการจะไม่ทำการให้เดินไปเสมอๆ นั้นอย่างเดียว ก็ถ้าหากว่าความคิดที่คิดเห็นว่าศาลทั้งปวงแต่เดิม จะรวมอยู่ในกรมลูกขุนนั้นจะเป็นการผิดไป ก็แต่เพียงได้แจกศาลต่างๆ ไว้ในกรมทั้งปวงเหมือนเช่นว่าในชั้นหลังนี้แต่เดิมมาเท่านั้น ตัวเสนาบดีและอธิบดีกับลูกขุนก็คงมีอำนาจเป็นคนละแผนกกันดั่งเช่นว่ามาแล้วนี้... ”

ในสมัยพระเจ้าทรงธรรมได้มีการตรากฎหมายวิธีสบัญญัติเกี่ยวกับพระธรรมนูญศาลยุติธรรมขึ้นเมื่อ พ.ศ.2165 ซึ่งในกฎหมายตราสามดวงเรียกกฎหมายดังกล่าวว่า “ พระธรรมนูญ ” จากกฎหมายฉบับนี้ทำให้ทราบได้ว่า สมัยกรุงศรีอยุธยาโดยเฉพาะอย่างยิ่งนับแต่สมัยพระเจ้าทรงธรรมเป็นต้นมา มีศาลที่พิจารณาอรรถคดีต่างๆ กัน 14 ประเภทดังนี้

  • ศาลความอุทรณ์ หรือศาลหลวง พิจารณาคดีเกี่ยวกับตระลาการ ผู้ถามความ ผู้ถือ สำนวน พยานที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำมิชอบในคดี เช่น ฟ้องว่าตระลาการเป็นใจกับคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทำชู้กับคู่ความ เจ้าหน้าที่ในศาลรับสินบนหรือฟ้องว่าพยานเบิกความเท็จ เป็นต้น ถ้าเป็นความอุทธรณ์ในหัวเมืองศาลหน้าโรงผู้รักษาเมืองเป็นผู้พิจารณา
  • ศาลอาชญาราษฎร์ หรือศาลราษฎร์ พิจารณาความอาชญาประเภทข่มเหงรังแกกัน เช่น เกาะกุมคุมขังบุคคลโดยมิชอบ บังคับเอาทรัพย์สินของผู้อื่นมาเป็นของตน เป็นต้น หากจำเลยเป็นราษฎรมิใช่ตระลาการ ขุนประชาเสพเป็นผู้พิจารณา แต่ถ้าจำเลยเป็นสมใน (หมายถึง ไพร่สมในและไพร่สมนอก) ขุนอินอาชญาเป็นผู้พิจารณา และถ้าเป็นความอาชญาในหัวเมือง ขุนปลัดหรือรองปลัดเป็นผู้พิจารณา
  • ศาลอาชญาจักร พิจารณาคดีว่าความแทนกัน เช่น อ้างว่าเป็นญาติพี่น้องแล้วว่าความ แทนกัน หรือแต่งสำนวนให้ผู้อื่นฟ้องร้อง เป็นต้น หรือพิจารณาคดียุยงให้เขาเป็นความกัน หากความอาชญาดังกล่าวเกิดในหัวเมือง ศาลอาชญาเป็นผู้พิจารณา
  • ศาลความนครบาล หรือกระทรวงนครบาล พิจารณาความนครบาล เช่น ปล้นฆ่า ยา แฝดยาเมาถึงตาย ทำแท้งถึงตายเป็นต้น ถ้าเป็นเรื่องไม่ถึงตายและจำเลยเป็นสมใน ให้ขุนพรหมสุภาเป็นผู้พิจารณา ถ้าความนครบาลเกิดในหัวเมือง ขุนแขวงเป็นผู้พิจารณา

5. ศาลแพ่งวัง พิจารณาคดีด่าสบประมาท แทะโลม ล้วง แย่งเมียและลูกสาวผู้อื่น ข่มขืนมิได้ถึงชำเรา ทุบถองตบตีด้วยไม้หรือมือไม่ถึงสาหัส กู้หนี้ยืมสิน ผัวเมียหย่ากัน ผัวเมียลักทรัพย์กัน พ่อแม่พี่น้องลูกหลานลักทรัพย์กัน บุกรุกที่ดินเรือกสวน รับสิ่งของฝากเช่า จำนำ ถ่มน้ำลายรดหัวผู้อื่น ทำชู้หรือข่มขืนกอดจูบเมียหรือลูกหลานผู้อื่นถึงชำเรา เป็นต้น ถ้าจำเลยเป็นสมใน ความแพ่งไม่ว่าสถานหนักหรือเบาต้องขึ้นศาลกรมวังเช่นเดียวกับความอาชญากรรมและความนครบาล หากเกิดในหัวเมือง และจำเลยเป็นสมใน ขุนสุพมาตราและรองสุพมาตราเป็นพิจารณา

6. ศาลแพ่งกลาง พิจารณาความแพ่งที่จำเลยเป็นสมนอกและเป็นคดีที่กล่าวหาในสถานเบา เช่น ด่าสบประมาท แทะโลม ข่มขืน มิได้ถึงชำเรา ทุบถองตบตีด้วยไม้หรือมือไม่ถึงสาหัส กู้หนี้ยืมสิน เป็นต้น ถ้าความแพ่งสถานเบาและจำเลยเป็นสมนอกเกิดในหัวเมือง รองแพ่งเป็นผู้พิจารณา

7. ศาลแพ่งเกษม พิจารณาความแพ่งที่จำเลยเป็นสมนอก และเป็นคดีที่กล่าวหาในสถานหนัก เช่น บุกรุกที่ดินเรือกสวน ทำชู้หรือข่มขืนกอดจูบเมียหรือลูกหลานผู้อื่นถึงชำเรา เป็นต้น ถ้าความแพ่งสถานหนักและจำเลยเป็นสมนอกเกิดในหัวเมือง ขุนแพ่งเป็นผู้พิจารณา

8. ศาลกรมมรฎก หรือกระทรวงมรฎก พิจารณาความมรดกของผู้มีบรรดาศักดิ์ ตั้งแต่ 400 ขึ้นไป ถ้าเป็นความมรดกของผู้มีบรรดาศักดิ์ต่ำกว่า 400 ลงมาถึง 10 ไร่ ขุนศรีราชบุตรเป็นผู้พิจารณา หากเป็นความมรดกในหัวเมือง กรมมรดกหัวเมืองเป็นผู้พิจารณา

9. ศาลความต่างประเทศ หรือกระทรวงกรมท่ากลาง พิจารณาความระหว่างชาวไทยกับ ชาวต่างประเทศหรือระหว่างชาวต่างประเทศด้วยกัน ขุนพินิจใจราชเป็นผู้พิจารณา ถ้าความต่างประเทศเกิดในหัวเมือง ยกกระบัตรเป็นผู้พิจารณา โดยพิจารณาว่ากล่าวตามราชประเพณีจารีตเมือง ยังไม่มีการให้สิทธิสภาพนอกอาญาเขตแก่ชาติใด

10. ศาลกรมนา หรือกระทรวงกรมนาพิจารณาความโภชากร คือ อรรถคดีเกี่ยวกับวัว ควาย บุกรุกที่นา วางเพลิงเผาต้นข้าว ขโมยข้าว เป็นต้น ถ้าความเกิดในหัวเมือง ขุนหมื่นกรมนาเป็นผู้พิจารณา

11. ศาลกรมพระคลัง หรือ ศาลคลังมหาสมบัติ พิจารณาความเกี่ยวกับพระราชทรัพย์ เช่น กู้หนี้ยืมทรัพย์สินในท้องพระคลังคดีเกี่ยวกับอากรขนอนตลาด

12. ศาลกระทรวงธรรมการ พิจารณาความพระภิกษุสามเณร เช่น ผิดศีลผิดวินัยร้ายแรง เช่น เสพเมถุนธรรม เป็นต้น ถ้าความเกิดในหัวเมือง ธรรมการหัวเมืองเป็นผู้พิจารณา

13. ศาลความสังกัด หรือศาลกระทรวงสัสดี พิจารณาความพิพาทเกี่ยวกับหมู่หมายของบ่าวไพร่ การปันหมู่ ถ้าความเกิดในหัวเมือง ขุนสัสดีและรองสัสดีเป็นผู้พิจารณา

14. ศาลความเวทมนต์ หรือศาลกระทรวงแพทยา พิจารณาความกล่าวหาว่าเป็นกระสือกระหัง ทำเวทมนต์อาคม ใส่ว่านยา ทำเสน่ห์ยาแฝดยาเมา รีดลูก โดยผู้เสียหายไม่ถึงตาย หรือคดีพราหมณ์โยคีเป็นโจทก์จำเลยหาความกัน เป็นต้น ถ้าความเกิดในหัวเมือง ขุนหมื่นกรมแพทยาหัวเมืองเป็นผู้พิจารณา ตามระบบการศาลสมัยกรุงศรีอยุธยา ถือว่าเมื่อมีคำพิพากษาของศาลแล้ว คดีเป็นอันเสร็จ เด็ดขาดเลย ไม่มีการฟ้องร้องระหว่างคู่ความเดิมในศาลชั้นสูงอีก ยกเว้นกรณีคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเห็นว่าตระลาการ ผู้ถามความผู้ถือสำนวน พยานซึ่งเกี่ยวข้องกับคดีของตน กระทำมิชอบหรือไม่ให้ความยุติธรรมแก่ตน ก็อาจฟ้องร้องกล่าวหาตระลาการ ผู้ถามความผู้ถือสำนวน พยานนั้นๆ ต่อศาลหลวง คดีในลักษณะเช่นนี้ในสมัยกรุงศรีอยุธยานับว่าเป็นความอุทธรณ์ และศาลหลวงก็คือศาลอุทธรณ์ในสมัยนั้น ส่วนศาลฎีกานั้นยังไม่มี แต่อาจมีราษฎรทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อพระมหากษัตริย์บ้าง

ต่อมาในสมัยพระเจ้าปราสาททองได้มีการตราพระไอยการลักษณะอุทธรณ์ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2176 เพื่อเป็นแนวทางการพิจารณาคดีในศาลความอุทธรณ์ที่คู่ความฟ้องร้องกล่าวหาตระลาการและเจ้าหน้าที่ฝ่ายยุติธรรม กล่าวคือ ถ้าตระลาการหรือเจ้าหน้าที่แพ้ความในชั้นอุทธรณ์ จะต้องถูกปรับไหมลงโทษและให้ออกค่าธรรมเนียมในการขึ้นศาลอุทธรณ์ แก่ผู้ฟ้องร้อง ส่วนคดีเดิมที่ตระลาการหรือเจ้าหน้าที่บกพร่อง ก็ให้ตระลาการและเจ้าหน้าที่คนใหม่ทำหน้าที่พิจารณาแทน แต่ถ้าตระลาการหรือเจ้าหน้าที่ เป็นฝ่ายชนะความ ก็ให้คู่ความที่ร้องเรียนออกค่าธรรมเนียมต่างๆ ให้ตระลาการหรือเจ้าหน้าที่ และอาจมีการปรับไหมตามกรณี ส่วนคดีเดิมก็ถือว่าผู้ฟ้องร้องอุทธรณ์นั้นแพ้ไป แล้วให้ตระลาการเก่าปรับไหมตามรูปความเดิม (คณะอนุกรรมการจัดทำหนังสือที่ระลึกเนื่องในโอกาสครบ 100 ปี กระทรวงยุติธรรม ฉบับภาษาไทย, 2535 : 3-9)