“.. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงให้รื้อกำแพงเมืองพระประแดงเดิมที่ราชบุรณะ ขึ้นไปสร้างกำแพงพระราชวังและอื่นๆ เนื่องด้วยเป็นการกะทันหันไม่ต้องเสียเวลาเผาอิฐ ประกอบทั้งเมืองนี้ก็ตั้งอยู่ในระยะอันสะดวกแก่การลำเลียงรื้อขนมาก เมืองพระประแดงเดิมเลยสิ้นซากตั้งแต่นั้น ...” ( สังข์ พัธโนทัย, 2501 : 15-16)

เมืองพระประแดงที่ถูกกล่าวถึง คือ เมืองพระประแดง “ นครเขื่อนขันธ์ ” หรือไม่ จากหนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดสมุทรปราการ (2542 : 23-29) และรวมเรื่องเมืองสมุทรปราการ (2519) ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

ประวัติศาสตร์ของเมืองสมุทรปราการนั้น มีความเกี่ยวข้องสลับซับซ้อนกับเมืองพระประแดง และเมืองนครเขื่อนขันธ์ เพราะเมืองสมุทรปราการ ได้ตั้งขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แต่เมืองพระประแดงเดิมนั้นขอมได้ตั้งขึ้นในสมัยขอมมีอำนาจครอบครองบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งสมัยนั้นทะเลยังลึกเข้ามามากจนจดเขตทางใต้ของกรุงเทพมหานคร ขอมเรียกว่า ปากน้ำพระประแดง เมื่อตั้งเมืองที่ปากน้ำก็เรียกว่า เมืองพระประแดง ( ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เชื่อว่าเมืองพระประแดง ที่ขอมตั้งนี้อยู่ที่บริเวณคลองเตย เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันเป็นที่ทำการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ) เพื่อความชัดเจนในเรื่อง พระประแดง ( เดิม ) ที่คลองเตย วิเคราะห์ได้ ดังนี้

ประการที่ 1 กวีเอกสุนทรภู่เขียนไว้ในนิราศเมืองแกลงว่า “ ถึงยามสองล่องลำนาวาเลื่อน ” ผ่านบางพึ่ง “ ถึงบางผึ้งผึ้งรังก็รังร้าง ” แล้วผ่านปากลัด “ ถึงปากลัดแลท่าชลาตื้ ” ถึงบางกระเจ้า “ มาพบบ้านบางกระเจ้ายิ่งเศร้าใจ ” พอเกือบสว่าง เขียนว่า “ จนจวบจวนแจ่มแจ้งปัจจุสมัย ศศิธรอ่อนอับพะยับไพร ถึงเชิงไทรศาลพระประแดงแรง ” และเมื่อสว่าง “ พอแจ่มแจ้งแสงเงินเงาระยับ ดาวดวงดับเด่นดวงพระสุริย์ไส ถึงปากช่องคลองสำโรงสำราญใจ พอน้ำไหลขึ้นเช้าก็เข้าคลอง ” วิเคราะห์ได้ว่าสุนทรภู่ออกจากกรุงเทพฯ โดยทางเรือเมื่อยามสองขณะน้ำลง ช่วยลดเวลาเดินทาง ผ่านบางพึ่ง ผ่านปากลัด ผ่านบางกระเจ้าโดยไม่เข้าคลองลัดหลวงซึ่งขุดเมื่อ พ.ศ.2363 คือไม่ผ่านนครเขื่อนขันธ์ ( พระประแดงปัจจุบัน ) ที่ตั้งอยู่บนคอคอดระหว่างคลองลัดโพธิ์กับคลองลัดหลวง ท่านล่องตามลำน้ำเจ้าพระยาจึงผ่าน ศาลพระประแดงที่คลองเตย แล้วเข้าคลองสำโรงเมื่อรุ่งเช้า ช่วงน้ำขึ้น

ประการที่ 2 ในหนังสือเรื่องภูมิศาสตร์สยามของกรมตำรา กระทรวงธรรมการ ( กระทรวงศึกษาธิการ ) กล่าวถึงประวัติของเมืองพระประแดงไว้ดังนี้ ) เมืองพระประแดงเดิม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำพระประแดงฝั่งซ้าย คือฝั่งตะวันออกแถวศาลพระประแดงทุกวันนี้ เมืองนี้เป็นเมืองปากน้ำตั้งแต่ครั้งขอมเป็นใหญ่ มีกำแพงเมืองเป็นหลักฐาน เพิ่งมารื้อเสียเมื่อแผ่นดินงอก ทำให้ทะเลห่างออกไปทุกที จึงตั้งเมืองสมุทรปราการเป็นเมืองปากน้ำที่ตำบลบางเจ้าพระยา เรียกว่า ปากน้ำบางเจ้าพระยา แต่เมืองพระประแดงก็คงเป็นเมืองอยู่ในระหว่างเมืองสมุทรปราการกับเมืองธนบุรี

ประการที่ 3 ในสาส์นสมเด็จ ภาค 5 ฉบับลงวันที่ 19 มีนาคม 2480 ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงมีไปถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายคำว่า “ กุมฤาแดงแต่นั้นมา ” ความตอนหนึ่งว่า “ ที่ใต้ปากคลองเตยลงไปหน่อยเดียวมีวัดหน้าพระธาตุ มีศาลเจ้าพระประแดง และเจ๊กทำไร่ที่หน้าบ้านขุดได้ทวนเล่มหนึ่ง เกล้ากระหม่อมได้ซื้อไว้ แปลกกว่าทวนสามัญที่เขาเซาะคมมีลักษณะดุจตีนกา ถ้าดูตัดขวางจะเป็นดังนี้ ...

ประโยชน์จะใช้ได้อย่างทวนสามัญ แต่จะเบากว่าเท่านั้น จะเป็นของใครครั้งไหนสุดคาด แต่เข้าใจว่าน่าจะได้เป็นสนามรบกันที่นั่น ทั้งสามสิ่งที่กราบทูลมาแล้วนี้ ทำให้คิดว่าเมืองพระประแดงเดิมอยู่ที่คลองเตยไม่ใช้ที่ปากลัด ที่วัดและศาลเกล้ากระหม่อมก็เคยไปเห็น ”

ประการที่ 4 ศาลเดิมเคยเป็นที่ประดิษฐานรูปเทพารักษ์ 2 องค์ ซึ่งขุดได้สมัยกรุงศรีอยุธยา ราว พ.ศ.2041 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยาให้ขุดลอกคลองที่ตื้นเขินหลายคลอง ในหนังสือพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 1 หน้า 13 กล่าวว่า เมื่อปีมะเมีย จุลศักราช 860 ( พ.ศ.2041) ขุดชำระคลองสำโรง ได้เทวรูปทองสัมฤทธิ์ 2 องค์ ตรงที่คลองสำโรงต่อกับคลองทับนาง เทวรูปนั้นมีอักษรจารึกชื่อว่า พญาแสนตา องค์หนึ่งและบาทสังขกรองค์หนึ่ง โปรดให้สร้างศาลประดิษฐานไว้ที่เมืองพระประแดง ต่อมา ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับเดียวกัน หน้า 100 ว่า เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชครองราชสมบัติ พระยาละแวกยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาในปีมะแม จุลศักราช 921 (..2102) ตีไม่ได้ดังปรารถนา เมื่อล่าทัพกลับไปให้เอาเทวรูป 2 องค์ ที่เมืองพระประแดงไปเมืองเขมรด้วย คนนับถือเทวรูปนั้นมากจึงพากันไปบวงสรวงที่ศาลเดิม ครั้นศาลเดิมหักพังก็สร้างขึ้นแทน จึงเปลี่ยนรูปมาต่างๆ แต่ยังประหลาดอยู่ที่มีคนยังนับถือเจ้าพ่อพระประแดงยิ่งกว่าผีตนอื่นมาจนทุกวันนี้

ประการที่ 5 สังข์ พัธโนทัย (2501 : 6-7) ได้สันนิษฐานเรื่องศาลเทพารักษ์ไว้ว่า “ ศาลเทพารักษ์ที่สร้างขึ้นไว้เทวรูปศักดิ์สิทธิ์ทั้งสององค์นั้น นักประวัติศาสตร์ลงความเห็นว่า คือที่ทุกวันนี้เรียกว่า ศาลเจ้าพ่อพระประแดงนั่นเอง ศาลนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฟากซ้ายมือในเขตอำเภอพระโขนง เวลานี้ทรุดโทรมเต็มที สังเกตุดูศิลปการก่อสร้างเป็นแบบจีนชัดๆ เข้าใจว่าจีนได้มาแก้ไขซ่อมแซมกันภายหลังเป็นแน่ เพราะศาลนี้ชาวจันนับถือกันหนักหนา ครั้นศาลทรุดโทรมหนักขึ้น พวกจันได้สร้างศาลขึ้นใหม่ที่ในคลองพระโขนงตอนปากคลอง ยังเห็นอยู่ในปัจจุบัน ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าพ่อพระประแดงเป็นที่เกรงขามกันทั่วๆ ไป กระทั่งมีปรากฎในหนังสือเก่าๆ หลายแห่ง เช่นตอนหนึ่งในหนังสือขุนช้างขุนแผนว่า

      “…… .                               ขุนช้างฉวยหมอนขึ้นออกยักษ์
โยกตัวโคลงหัวว่าผีเข้า             กูนี้เจ้าพระประแดงกำแพงหัก
เหลือกตายักคอหัวร่อคัก          มึงรู้จักกูหรือไม่ไอ้ขุนโรง ”

ประการที่ 6 ในโคลงนิราศพระยาตรัง ซึ่งแต่งเมื่อคราวไปทัพเมืองถลาง ซึ่งพม่ายกทัพมาตีเมืองชุมพร และเมืองถลางใน พ.ศ.2 352 กล่าวถึงชื่อศาลพระประแดงไว้ดังนี้

      พระแผดงเรืองฤทธิ์ให้          เทพา รักษ์นา
สิงสถิตย์ศาลสมญา                    ชื่อไว้
แม้จึ่งจักบูชา                             เชอญเทพย ท่านแฮ
ดาลเดือดทรวงไท้ให้                 เหือดร้อนแรงกระสันฯ

ประการที่ 7 ศาลเจ้าพระประแดง ยังปรากฏอยู่ในนิราศถลางของนายมี (หมื่นพรหมสมพัตสร) ว่า “ ถึงศาลเจ้าพระประแดงแสยงเกล้าฯ ” และในโคลงนิราศพระยาตรังก็กล่าวว่า

“ พระแผดงเรืองฤทธิไท้ เทพา รักษ์นาฯ

ประการที่ 8 ศาลเจ้าพ่อพระประแดง เดิมอยู่ที่ปากคลองบริเวณที่ทำการท่าเรือแห่งประเทศไทย ภายหลังย้ายเข้าไปในคลองพระโขนง ซึ่งสอดคล้องกับคำสัมภาษณ์นายบุญพิศ จารุจินดา อดีตพนักงานเครนไฟฟ้า ซึ่งทำงานที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ . ศ .2496 ได้ยืนยันว่าเมื่อเริ่มทำงานก็มีศาลเจ้าพ่อพระประแดงหลังเล็กๆ อยู่ที่คลังสินค้า 4 บริเวณชายน้ำเจ้าพระยา ศาลเดิมย้ายไปที่อื่น แต่ยังมีคนนับถือศาลเจ้าพ่อหลังเล็กๆ นี้อยู่ และบริเวณนี้เดิมเป็นที่ตั้งวัด 3 วัด

อนึ่ง ตรงพื้นที่ที่ทำพิธีพลีกรรมบวงสรวงเทวรูป ณ จุดที่ขุดพบนั้น ต่อมาได้ชื่อว่า บางพลี และศาลที่ประดิษฐานเทวรูปทั้งสององค์ประชาชนยังเรียกกันว่า ศาลเจ้าพ่อพระประแดง มาจนถึงทุกวันนี้

ครั้นนานมามีแผ่นดินงอกออกไป เมืองพระประแดงห่างจากปากน้ำเข้าทุกที จึงมีการโยกย้ายตั้งเมืองปากน้ำขึ้นใหม่เพื่อความเหมาะสม จึงมีทั้งเมืองสมุทรปราการ และเมืองพระประแดง ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ความจำเป็นทางการเมือง และความปลอดภัยของประเทศชาติมีมากขึ้น จึงได้ตั้งเมืองนครเขื่อนขันธ์ขึ้น (ปัจจุบันเป็นอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ) กล่าวได้ว่าจังหวัดสมุทรปราการ หรือเมืองปากน้ำในปัจจุบันนี้ มีประวัติและอาณาเขตของเมือง 3 เมืองรวมกัน คือ เมืองพระประแดง เมืองนครเขื่อนขันธ์ และเมืองสมุทรปราการ

ในสมัยขอมเรืองอำนาจ หลักฐานทางประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่าเมืองสมุทรปราการเคยเป็นเมืองหน้าด่านของขอม คือ ในราว พ.ศ.1400 ระยะนั้นขอมตั้งราชธานีอยุ่ที่ นครธม ได้ขยายอำนาจมาปกครองดินแดงแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาไว้ทั้งหมดได้ตั้งเมือง พระประแดง เป็นเมืองหน้าด่านทางทะเล ซึ่งในสมัยนั้น เรียกปากน้ำตอนนั้นว่า ปากน้ำพระประแดง

การที่ขอมขนานนามเมืองหน้าด่านว่า พระประแดง นั้นมีเหตุผลชัดเจนอยู่มาก เพราะคำว่า ประแดง หรือ บาแดง แปลว่า คนเดินหมาย คนนำข่าวสาร ซึ่งหมายถึงว่าเมืองพระประแดงเป็นเมืองหน้าด่าน มีหน้าที่ต้องแจ้งข่าวสารไปให้ราชธานีที่ขอมตั้งไว้ที่ลพบุรี (ละโว้) ทราบโดยเร็วเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น จึงทำให้เชื่อได้ว่าเมืองปากน้ำสมุทรปราการคงเป็นท้องที่ส่วนหนึ่งของเมืองพระประแดงด้วย

ต่อมาในต้น พ.ศ1893 พระเจ้าอู่ทองได้ทรงอพยพผู้คนจากสุพรรณบุรี มาสร้างพระนครขึ้นใหม่ที่ริมหนองโสนขนานนามว่า กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา และทรงทำการราชาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ประกาศเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อกรุงสุโขทัย ทั้งได้แสดงแสนยานุภาพไปตีเขมรได้นครธมอันเป็นนครหลวงของเขมร และดินแดนทางตะวันตกของเขมรทั้งหมด ส่วนหัวเมืองฝ่ายใต้อันเป็นอาณาเขตของกรุงสุโขทัยเดิมก็ได้ขึ้นมาอยู่กับกรุงศรีอยุธยาทั้งหมด ตั้งแต่เมืองราชบุรี เพชรบุรีลงไปตลอดแหลมมาละยู ( ประเทศมาเลเซียปัจจุบัน ) ส่วนทางทิศเหนือได้เมืองลพบุรี ซึ่งติดต่อกับอาณาเขตสุโขทัย พระเจ้าอู่ทองได้โปรดฯ ให้ตั้งเมืองหน้าด่านทั้ง 4 ทิศ คือ ทิศเหนือ เมืองลพบุรี ทิศตะวันออก เมืองนครนายก ทิศตะวันตก เมืองสุพรรณบุรี และทิศใต้ เมืองพระประแดง

เมืองหน้าด่านเหล่านี้ได้โปรดฯ ให้สร้างป้อมปราการที่มั่นคงแข็งแรงทุกเมือง แต่เมื่อถึงรัชสมัยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พ.ศ.2019 เกิดสงครามช้างเผือกระหว่างไทยกับพม่า พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ยกทัพใหญ่มาตีกรุงศรีอยุธยา ทางกรุงยกทัพไปตั้งรับทัพข้าศึกที่เมืองสุพรรณบุรีแต่ทานกำลังไม่อยู่ ทัพพม่าสามารถยกเข้ามาถึงชานพระนครได้ หลังจากพม่ายกทัพกลับไปแล้ว สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงเห็นว่า เมืองสุพรรณบุรีแม้จะมีค่ายคูประตูหอรบพร้อมก็ยังรับศึกใหญ่ไม่อยู่ มิหนำซ้ำยังเป็นที่สำหรับข้าศึกพักรวบรวมไพร่พลเสบียงอาหารได้อีก จึงโปรดฯ ให้รื้อป้อมค่ายและกำแพงลงเสีย พร้อมทั้งป้อมกำแพงที่เมืองลพบุรีและเมืองนครนายกด้วย ให้คงเหลือไว้แต่ที่เมืองพระประแดงสำหรับเป็นเมืองหน้าด่านทางทะเลเพียงแห่งเดียว

เมืองพระประแดงที่กล่าวมาแต่ต้นเป็นเมืองเก่านับพันๆ ปี ตามหลักฐานไม่ทราบแน่ชัดว่าเริ่มสร้างในสมัยกษัตริย์ขอมองค์ใด พอจะมีหลักฐานแน่ชัดก็ในสมัยกรุงศรีอยุธยาดังปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า เมื่อปีมะเมีย จุลศักราช 860 (..2041) ขุดชำระคลองสำโรง ได้เทวรูปทองสัมฤทธิ์ 2 องค์ ตรงที่คลองสำโรงต่อคลองทับนาง และเทวรูปนั้นมีอักขระจารึกชื่อว่า พระยาแสนตาองค์หนึ่ง และ บาทสังขกร อีกองค์หนึ่ง สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 โปรดฯ ให้สร้างศาลประดิษฐานไว้ที่เมืองพระประแดง (ยังเป็นเมืองอยู่ในสมัยนั้น) เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชครองราชสมบัติ พระยาละแวก เจ้าเมืองกัมพูชาได้ยกทัพเรือมาตีกรุงศรีอยุธยาในปีมะแม จุลศักราช 921 (พ.ศ.2102) แต่ตีไม่ได้ดังปรารถนา เมื่อล่าทัพกลับได้ให้เอาเทวรูป 2 องค์ ที่เมืองพระประแดงไปเมืองเขมรด้วย จึงเชื่อมั่นได้ว่าเมืองพระประแดงเป็นเมืองด่านทางทะเลมาทุกยุคทุกสมัย เพราะเป็นเมืองที่อยู่ปากน้ำ

จะเห็นได้ว่า เมืองปากน้ำ ซึ่งเรียกกันติดปากคนทั่วไปนั้น เดิมมิได้ตั้งอยู่ปากน้ำบางเจ้าพระยา หรือตำบลปากน้ำ ในปัจจุบัน ส่วนเมืองพระประแดงเดิมซึ่งเคยเป็นเมืองปากน้ำก็ห่างไกลจากเมืองปากน้ำไกลไปทุกที เพราะทะเลแปรสภาพแผ่นดินทับถมตื้นเขินงอกออกไป เมืองพระประแดงจึงถูกโยกย้ายเปลี่ยนตำแหน่งที่ตั้ง เพื่อความเหมาะสมกับฐานะเมืองหน้าด่านทะเล ตอนหลังปรากฏว่า เมืองพระประแดงมาตั้งอยู่ที่ตำบลราษฎร์บูรณะ (คนละที่กับเขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร) ตอนที่เคยเป็นสถานที่ตั้งสถานีบางนางเกรง สถานีรถไฟสายปากน้ำ (ทางรถไฟสายปากน้ำถูกรื้อเสีย ในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) คือบริเวณที่ตั้งโรงเรียนเกริกวิทยาลัย (ปัจจุบันโรงเรียนนี้ได้ย้ายไปอยู่ถนนสายบางนา – ตราดแล้ว) ดังในสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กล่าวไว้ว่า ต่อมาเมื่อ พ . .2163 จึงปรากฏว่า มีเมืองพระประแดงตั้งใหม่ ที่ตำบลราษฎร์บูรณะ อยู่ฝั่งตะวันออกของลำน้ำเจ้าพระยา (ราวสถานีบางนางเกรง รถรางสายปากน้ำ) ต่อมาเมืองพระประแดงน่าจะย้ายมาอยู่ฝั่งตะวันออกของลำน้ำเจ้าพระยาตามเดิม ครั้นถึงสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงให้รื้อกำแพงเมืองเก่า เพื่อเอาอิฐไปสร้างราชธานี (กำแพง พระราชวังและสิ่งอื่นๆ , รวมเรื่องเมืองสมุทรปราการ , 2519 : 8) ที่กรุงธนบุรี เมืองพระประแดงเดิมที่ราษฎร์บูรณะจึงหาซากไม่พบจนทุกวันนี้

ส่วนที่ตั้งอำเภอพระประแดงในปัจจุบันนี้นั้น มิใช่เมืองพระประแดงเดิม แต่เป็นเมืองที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เนื่องจาก “ สมัยที่ไทยกำลังฟื้นตัวใหม่ๆ ในต้นกรุงรัตนโกสินทร์ บ้านเมืองกำลังคับขันด้วยงานพระราชสงครามกับพม่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเห็นความจำเป็นที่จะต้องป้องกันปัจจามิตรอันจะล่วง ล้ำมาทางทะเลให้มั่นคงยิ่งขึ้น จึ่งรับสั่งให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทลงไปสำรวจพื้นที่ทางปากแม่น้ำเจ้าพระยา ในอันที่จะกะการสร้างเมืองขึ้นอีกเมืองหนึ่ง กรมพระราชวังบวรรับสนองรับสั่ง เสด็จมาถึงคุ้งตอนแถบลัดโพธิ์ ระหว่างกรุงเทพฯ กับสมุทรปราการ เห็นเป็นทำเลยุทธภูมิเหมาะแก่การที่จะสร้างเมืองไว้ป้องกันข้าศึกอย่างยิ่ง ก็นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ทรงเห็นสมควรด้วยกับพระดำริของกรมพระราชวังบวร จึ่งโปรดให้กรมพระราชวังบวรเป็นแม่กองลงไปสร้างเมืองขึ้นที่ปากลัด โดยกรมพระราชวังบวรสร้างป้อมที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำสำเร็จป้อมหนึ่ง เมื่อพ.ศ.2352 ให้ชื่อว่า ป้อมวิทยาคม ก็พอดีพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ สวรรคต การก่อสร้างเลยชะงักอยู่เพียงนั้น

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงพระกรุณาโปรดให้สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ เป็นแม่กองเสด็จลงไปดำเนินการก่อสร้างเมืองที่ค้างไว้แต่รัชกาลที่ 1 เมื่อต้นปี พ.ศ.2357 และแล้วเสร็จเมื่อปีพ.ศ.2358 ตั้งพิธีฝังอาถรรพณ์ปักหลักเมือง เมื่อวันศุกร์ เดือน 7 แรม 10 ค่ำ ในปีนั้น โปรดพระราชทานนามเมืองใหม่นี้ว่า เมืองนครเขื่อนขันธ์ แล้วโปรดให้ย้ายครัวมอญเมืองปทุมธานี พวกเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ซึ่งหนีภัยพม่าเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นจำนวนชายฉกรรจ์ 300 คนให้ไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ ณ เมืองนี้ ทรงตั้งให้สมิงทอมาบุตรเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) ซึ่งเป็นพระยาพระราม น้องเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรีย) เป็น “ พระยานครเขื่อนขันธ์รามัญราชชาติเสนาบดี ศรีสิทธิสงคราม ” ผู้รักษาเมืองกับตั้งกรมการพร้อมทุกตำแหน่ง

หมายเหตุ
“เจ่ง” คำนี้เรียกตามพงศาวดาร ซึ่งเลือนมาจากคำว่า “เจ์อญ” ในภาษามอญ “เจ์อญ” แปลว่า “ช้าง” นามสกุล “คชเสนี” ที่รัชกาลที่ 6 ประทาน ก็เนื่องมาจากเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) คนนี้
“ทอเรีย” คำนี้เรียกตามพงศาวดาร เลือนมาจากคำว่า “ทอแระ” ในภาษามอญ
ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมือง
“ชื่อเมืองนครเขื่อนขันธ์ ดำรงอยู่ได้ 100 ปีพอดี ครั้นมาในแผ่นดินพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำรินาม “พระประแดง” เป็นนามเมืองสำคัญแต่ครั้งโบราณกาลหาควรที่จะปล่อยให้สูญไปเสียด้วยกับเมืองเดิมไม่ เมืองนครเขื่อนขันธ์เป็นเมืองใหม่ก็จริง แต่เป็นเมืองที่อยู่ในเขตใกล้เคียงกับเมืองพระประแดงเดิม ทั้งมีความสำคัญทำนองเดียวกับเมืองเก่าด้วย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองนครเขื่อนขันธ์เป็น พระประแดง เมื่อ พ.ศ.2458 สืบมา” (สังข์ พัธโนทัย , 2501 : 1, 16-18, 35)

สำหรับเมืองสมุทรปราการที่มีขึ้นในภายหลังนั้น นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีสันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมแห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ.2136 – 2171) เพราะหลักฐานจากหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า ก็ออกชื่อเมืองสมุทรปราการในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมแล้ว สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมได้โปรดฯ ให้สร้างเมืองสมุทรปราการขึ้นที่บริเวณใต้คลองบางปลากด ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกหรือฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา (การเรียกฝั่งขวาหรือเรียกฝั่งซ้ายให้หันหน้าสู่ปากแม่น้ำ) เพราะสมัยนั้นแถบบริเวณคลองปลากดได้มีต่างชาติฮอลันดา ซึ่งเข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ และได้รับพระราชทานที่ดินหลายอย่าง ฮอลันดาใช้สถานที่นั้นตั้งคลังสินค้า เป็นสถานีการค้าที่มั่งคั่งใหญ่โต คือเป็นทั้งคลังสินค้า และที่อยู่ของเจ้าหน้าที่อย่างพร้อมเพรียง เป็นสถานที่งดงามบริบูรณ์ด้วยเครื่องใช้ประจำวันที่ทันสมัย จึงถูกยกย่องกันในหมู่ชาวฮอลันดาว่า นิวอัมสเตอร์ดัม นับตั้งแต่นั้นมา บริเวณบางปลากด ก็เจริญขึ้นตามลำดับ ประชาชนได้มาค้าขายติดต่อกับคลังสินค้าแห่งนี้มากขึ้น และตั้งบ้านเรือนร้านค้าขยายตัวออกไปทุกที ดังนั้นสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมจึงโปรดฯ ให้สร้างเมืองสมุทรปราการขึ้น ณ บริเวณดังกล่าวแล้ว ... และยังทรงเห็นความจำเป็นที่จะต้องสร้างเมืองหน้าด่านชายทะเลขึ้นใหม่ แทนเมืองพระประแดง ซึ่งนับวันจะห่างไกลเมืองปากน้ำเข้าทุกที เนื่องจากชายฝั่งงอกออกไปเรื่อยๆ เมืองสมุทรปราการที่สร้างใหม่นี้อยู่ในทำเลและชัยภูมิที่เหมาะสมกว่าเดิมและเจริญกว่า จึงเป็นธรรมดาที่เมืองพระประแดงจะลดความสำคัญและลดความเหมาะสมในการเป็นเมืองหน้าด่านต่อไป


แผนที่แสดงป้อมที่พระประแดง และสมุทรปราการ
(ภาพจากหนังสือวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดสมุทรปราการ)