ที่แสดงมานี้เป็นส่วนเสริมตบะธรรมในแง่วิริยะความเพียร ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวของเราทรงบำเพ็ญ และเนื่องจากความคาบเกี่ยวแห่งราชธรรมแต่ละข้อที่จะสงเคราะห์เข้ากับพระราชจรรยาวัตร พระราชกรณียกิจในลักษณะนี้จะปรากฏชัดเจนอีกครั้งหนึ่งในราชธรรมข้อว่า ขันติ ความอดทน ด้วยเป็นพระราชกรณียกิจที่ทรงตรากตรำ เฉพาะพระองค์ผู้มีขันติธรรมอย่างแรงกล้าเท่านั้น จึงจะทรงปฏิบัติโดยสม่ำเสมอได้


พระราชธรรม ข้อที่ 7 “ อกฺโกธํ ” กริยาที่ไม่แสดงความโกรธให้ปรากฏ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเปี่ยมไปด้วยพระราชธรรม อักโกธะข้อนี้เป็นอย่างยิ่ง แม้แต่ข้าราชบริพารในราชสำนัก ซึ่งรับราชการฉลองพระเดชพระคุณอย่างใกล้ชิดมานับสิบๆ ปี ก็ไม่เคยประสบพระราชอัธยาศัยทรงแสดงพระโทษะจริต เกรี้ยวกราดผู้หนึ่งผู้ใด

พระราชธรรมข้อนี้ได้ถูกทดลองเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปเยือนต่างประเทศเป็นทางราชการ เมื่อ พ.ศ.2505 เมื่อเสด็จไปในพิธีทูลเกล้าฯ ถวายปริญญานิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ณ มหาวิทยาลัยเมลเบอร์น ประเทศออสเตรเลีย ทรงถูกท้าทายจากนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่มีความคิดรุนแรง และไม่เข้าใจพระองค์และเมืองไทยเป็นอย่างดี บ้างก็ถือป้ายที่มีข้อความกล่าวร้ายต่อพระองค์ท่าน บ้างก็ส่งเสียงโห่ปนฮาลบหลู่พระเกียรติ และเกียรติภูมิของชาติไทยอย่างแรง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้ทรงบรรยายถึงเหตุการณ์ในวันนั้นได้เห็นภาพอย่างแจ่มชัด ในบทพระราชนิพนธ์ “ ความทรงจำในการตามเสด็จต่างประเทศทางราชการ ” ตอนหนึ่งของพระองค์ว่า