อย่างไรก็ดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงเล็งเห็นความสำคัญและทรงมีสายพระเนตรที่ยาวไกล ในเรื่องของการพัฒนาสมุนไพรเป็นอย่างยิ่ง ทรงส่งเสริมสนับสนุนให้หมู่คณะ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องพยายามพัฒนาการวิจัยสมุนไพรให้เจริญก้าวหน้า ดังจะเห็นได้จากพระราชดำรัสที่พระราชทาน แก่คณะผู้วิจัยขององค์การเภสัชกรรมที่เข้าเฝ้า ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ.2541 ที่ได้ทรงย้ำเน้นให้สนใจพัฒนาการวิจัยสมุนไพรให้มากๆ ดังได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น จึงจะเห็นได้ว่าได้ ทรงใช้พระราชวินิจฉัยที่เหมาะสมแก่กรณี โดยใช้หลักการเศรษฐกิจพอเพียงเป็นพื้นฐานแห่งการพัฒนา
แนวทางของโครงการพระราชดำริเกี่ยวกับสมุนไพร
โครงการพระราชดำริเกี่ยวกับการศึกษา พัฒนาและอนุรักษ์สมุนไพรที่ได้เกิดมากมายหลายโครงการนั้น อาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท
1. โครงการที่เกิดจากพระราชดำริโดยแท้จริง ได้แก่
โครงการสวนป่าสมุนไพรของศูนย์การศึกษาพัฒนาเขาหินซ้อน ซึ่งในปัจจุบันมีพันธุ์พืชในสวนป่า แห่งนี้มากมายถึง 731 ชนิด
โครงการพระราชดำริเพื่อการศึกษาวิจัยสมุนไพรที่ใช้กับโรคมะเร็ง โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งกับนายแพทย์นพรัตน์ บุญยเลิศว่า ฉันไม่สบายใจมากที่คนไทยของฉันเป็นมะเร็งตายกันมาก จากกระแสพระราชดำรัสดังกล่าวแสดงให้เห็น ถึงความห่วงใยในสุขภาพของประชาชน
เนื่องจากมีอัตราการตายด้วยโรคมะเร็งมากขึ้นเรื่อยๆ นายแพทย์นพรัตน์ จึงได้ทำการค้นคว้าทดลองและคิดค้นตำรับยาสมุนไพรเพื่อรักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ หลายตำรับและใช้รักษาผู้ป่วยอยู่จนถึงปัจจุบันสมุนไพรที่ใช้ในตำรับของนายแพทย์นพรัตน์ อาทิเช่นทองพันชั่ง (หญ้ามันไก่) Rhinacanthus nasutus Lour., ฟ้าทะลาย (ฟ้าทะลายโจร) Andrographis paniculata (Burm. F.) Nees, ผักบุ้ง (ผักทอดยอด) Ipomoea aquatica Forsk และหญ้าผมยุ่ง Xanthium strumarium Linn. เป็นต้น
|