1. การคำนวณหาตำแหน่งของดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ โดยใช้ทฤษฎีการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์ (Theory of Lunar Motion) ซึ่งในสมัยนั้นยังดำเนินการศึกษาวิจัยกันอยู่ในต่างประเทศ ในช่วงเวลานี้ สันนิษฐานว่าพระองค์ได้ทรงเริ่มทำการศึกษาวิจัยแล้ว กล่าวคือ พระองค์ได้ทรงเริ่มต้นศึกษา Lunar Theory ประมาณ ค.ศ. 1863 (พ.ศ.2406) ปรากฏว่า พระองค์ทรงสามารถคำนวณตำแหน่งเทหวัตถุหลักของการเกิดสุริยุปราคานี้ได้อย่างถูกต้อง
2. หลังจากทำการคำนวณตำแหน่งดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ได้แล้ว จะต้องทำการคำนวณเพื่อตรวจสอบว่า จะมีโอกาสเกิดอุปราคาได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็ผ่านไป ถ้าสามารถเกิดได้จึงจะคิดคำนวณขั้นต่อไป
3. คำนวณว่าการเกิดอุปราคาครั้งนั้น การเกิดจะมีลักษณะอย่างไร ชนิดมืดหมดดวงหรือชนิดวงแหวนหรือชนิดมืดบางส่วน จะเห็นได้ที่ไหน และเวลาเท่าไรถึงเท่าไรตามระบบเวลามาตรฐาน ซึ่งจะต้องนำมาใช้ในการคำนวณด้วยตลอดตั้งแต่ต้น
พระองค์ทรงคำนวณได้อย่างถูกต้อง ทั้งในลักษณะของการเกิด เวลาที่เกิด และตำบลที่จะสังเกต ซึ่งเมื่อได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบจากหลักฐานการคำนวณของหอดูดาวกรีนิชแล้ว ปรากฏว่าระบบคำนวณของพระองค์ถูกต้อง แต่ตัวเลขของพระองค์ไม่มีในระบบของกรีนิช แสดงว่าพระองค์ได้ทรงคำนวณขึ้นมาด้วยพระองค์เอง มิได้นำเอาผลการคำนวณของฝรั่งมาดัดแปลงประยุกต์สำหรับประเทศไทยแต่อย่างใด ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ว่า

1. พระองค์ทรงคำนวณด้วยวิธีทางดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์ชั้นสูง จะใช้การคำนวณด้วยวิธีของโหราศาสตร์มิได้
2. ต้องคำนวณด้วยพระองค์เองทั้งสามขั้นตอน
3. หลักฐานทางฝ่ายกรีนิชนั้นแสดงให้เห็นว่า ไม่เปิดโอกาสให้สามารถนำเอาตัวเลขในนั้นมาทำการคำนวณเพิ่มเติมต่อ เพื่อหาว่าการเกิดคราสครั้งนั้นจะเห็นในเมืองไทยในลักษณะใดเวลาเท่าใด
4. พระองค์ทรงคำนวณการเกิดสุริยุปราคาครั้งนั้นล่วงหน้าถึงสองปี ในสมัยนั้นเป็นไปไม่ได้ที่หลักฐานการคำนวณของกรีนิชจะทำสำเร็จ และส่งมาถึงพระองค์ก่อนเวลาได้นานถึงเพียงนั้น
5. การคำนวณของทางฝ่ายกรีนิชแสดงแต่เฉพาะแนวศูนย์กลาง ของการเดินทางของเงามืดผ่านบริเวณภาคใต้ของประเทศไทยเป็นเส้น Locus เพียง 1 เส้นเท่านั้น แต่ผลการคำนวณของพระองค์ท่าน ได้พยากรณ์ว่าการเกิดคราสครั้งนั้นจะเห็นมืดหมดทั้งดวง ตั้งแต่ชุมพรขึ้นมาถึงปราณบุรี แต่ที่กรุงเทพจะเห็นดวงอาทิตย์ถูกดวงจันทร์บังไม่หมดดวง โดยจะเห็นดวงอาทิตย์ขณะเกิดคราสเต็มที่ที่กรุงเทพ โผล่พ้นดวงจันทร์ออกมาทางด้านทิศเหนือประมาณหนึ่งในสิบส่วน พระองค์ทรงคำนวณได้อย่างถูกต้อง โดยมิได้ทรงอาศัยข้อมูลจากการคำนวณของฝ่ายต่างประเทศ แล้วยังทรงสามารถคำนวณได้โดยละเอียด (ขาว เหมือนวงศ์ 2541 : 161-164)

หน้า 4 จากทั้งหมด 12 หน้า
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12