การที่ประกาศพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใครก็มีละครผู้หญิงได้ การแสดงละครชายจริงหญิงแท้ เริ่มมีเป็นครั้งแรกในสมัยของพระองค์นี้เอง และเกิดการเปลี่ยนแปลงการเล่นละครซึ่งเดิมเป็นละครผู้ชาย กลายเป็นผู้หญิงเล่นแทบทั่วทั้งเมือง ผู้คนก็ชอบดูละครผู้หญิง ดังนั้นละครผู้หญิงจึงแพร่หลาย เจ้าของละครได้รับประโยชน์มากขึ้นจากการรับงานละครไว้มาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งภาษีโขน-ละคร เพื่อให้เจ้าของละครได้ช่วยเหลือแผ่นดินบ้าง เรียกว่าภาษีโรงละคร พิกัดที่เก็บภาษีละคร เก็บดังนี้คือ

ละครโรงใหญ่เล่นเรื่องละครใน

เล่นเรื่องรามเกียรติ์ เล่นวันกับคืน 1 หรือวัน 1 ภาษี 20 บาท
เล่นเรื่องอิเหนา เล่นวันกับคืน 1 หรือวัน 1 ภาษี 16 บาท
เล่นเรื่องอุณรุท เล่นวันกับคืน 1 หรือวัน 1 ภาษี 12 บาท

ละครเล่นเรื่องละครนอก

ละครกุมปนี คือเลือกคัดแต่ตัวดีเล่นประสมโรงกัน เล่นวัน 1 ภาษี 4 บาท
ละครสามัญ เล่นงานปลีก เล่นวันกับคืน 1 ภาษี 3 บาท
ละครสามัญ เล่นงานปลีก เล่นวัน 1 ภาษี 2 บาท
ละครสามัญ เล่นงานปลีก เล่นคืน 1 ภาษี 1 บาท
ละครเล่นงานเหมา เล่นวันกับคืน 1 ภาษี 1 บาท 50 สตางค์
ละครเล่นงานเหมา เล่นวัน 1 ภาษี 1 บาท
ละครเล่นงานเหมา เล่นคืน 1 ภาษี 50 สตางค์
ละครหลวง และละครที่เกณฑ์เล่นงานหลวง ยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี กับยังมีการเล่นอย่างอื่นรวมอยู่ในภาษีละครอีกหลายอย่าง จะกล่าวไว้ด้วยพอให้ทราบความเป็นมา คือ
โขน เล่นวัน 1 ภาษี 4 บาท
ละครหน้าจอหนัง เล่นเรื่องรามเกียรติ์ ตัวละครตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไป เล่นคืน 1 ภาษี 2 บาท 50 สตางค์
ละครชาตรีและละครแขก เล่นวัน 1 ภาษี 50 สตางค์
เพลง เล่นวัน 1 ภาษี 1 บาท

หน้า 3 จากทั้งหมด 8 หน้า
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8